จูราสสิค พาร์ค? พบเห็บดูดเลือดไดโนเสาร์ถูกเก็บไว้ในอำพันอายุ 99 ล้านปี

นักวิทยาศาสตร์สงสัยมานานแล้วว่าพวกเห็บน่าจะกินเลือดของไดโนเสาร์ และตอนนี้พวกเขาได้ค้นพบหลักฐานโดยตรงเป็นครั้งแรกแล้ว ก้อนอำพันสภาพดีอายุ 99 ล้านปีมีเห็บแข็ง (hard tick) กำลังคว้าขนของไดโนเสาร์อยู่ แสดงให้เห็นว่าเจ้าแมลงปรสิตชอบดูดเลือดไดโนเสาร์จริงๆ

อำพันจากยุคครีเทเชียสกำลังพิสูจน์ถึงคุณค่าสำหรับนักบรรพชีวินวิทยาในการศึกษาชีวิตสัตว์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ปีที่แล้วมีการค้นพบหางไดโนเสาร์พร้อมขน กระดูก และเนื้อเยื่ออื่นสภาพสมบูรณ์ในอำพันจากพม่า และอำพันยังเก็บรักษาแมลงต่างๆไว้เป็นอย่างดีอีกด้วย

การค้นพบโดยทีมนักวิจัยนานาชาติในครั้งนี้ สิ่งที่ถูกเก็บรักษาไว้ในอำพันอายุ 99 ล้านปีเป็นเห็บพันธุ์ Cornupalpatum burmanicum ที่กำลังคว้าเกาะขนของไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เก่าแก่ที่สุดของสัตว์กินเลือดที่อยู่ร่วมกับโฮสต์ของมัน

“ฟอสซิลในอำพันบอกให้เรารู้ว่าขนสัตว์ชนิดนี้เป็นของไดโนเสาร์เทโรพอดซึ่งมีทั้งชนิดบินได้และบินไม่ได้” Ricardo Pérez-de la Fuente นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดกล่าว “ดังนั้นแม้ว่าเราจะยังไม่แน่ใจว่าเป็นไดโนเสาร์พันธุ์ใดที่เห็บกำลังดูดเลือดอยู่ แต่จากอายุของอำพันยืนยันได้ว่าไม่ใช่ขนของนกในสมัยปัจจุบันแน่ๆ เพราะจากหลักฐานฟอสซิลนกปัจจุบันปรากฏขึ้นภายหลังยุคของไดโนเสาร์เทโรพอดนานมาก”

แฟนคลับของภาพยนตร์เรื่องจูราสสิค พาร์คอาจจะคุ้นเคยกับการฟื้นคืนชีพของไดโนเสาร์โดยใช้ DNA ที่ได้จากเลือดของยุงที่กลายเป็นฟอสซิลอยู่ในอำพัน แต่น่าเสียดายที่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถชุบชีวิตเจ้าสัตว์โบราณได้จากสิ่งที่พวกเขาค้นพบล่าสุดนี้ เหตุผลก็คือในความเป็นจริงแล้วอำพันไม่สามารถรักษา DNA ที่มีอายุสั้นๆได้นั่นเอง

amber-tick-dinosaur-blood-2

ทีมวิจัยยังพบหลักฐานของเห็บดูดเลือดไดโนเสาร์ชิ้นอื่นอีกแม้จะไม่ใช่โดยตรงก็ตาม มีเห็บสายพันธุ์นี้ที่มักเรียกกันว่า “Dracula’s terrible tick” ถูกเก็บอยู่ในอำพันจากพม่าอีกชิ้นหนึ่งที่มีเลือดคั่งอยู่และพองใหญ่ขึ้นเป็น 8 เท่าของชิ้นอื่น

แม้ยังมีข้อสงสัยเพราะทีมงานไม่สามารถระบุชนิดของสัตว์ที่เป็นโฮสต์ได้ เนื่องจากเลือดในตัวเห็บไม่ได้ถูกผนึกไว้ทั้งหมดโดยอำพัน ดังนั้นส่วนประกอบของมันจึงถูกปรับเปลี่ยนไป แต่เมื่อรวมกับพวกที่คลอเคลียอยู่กับขนไดโนเสาร์แล้ว ก็น่าจะทำให้เจ้าเห็บแดรกคูลาพวกนี้เป็นสัตว์ดูดเลือดไดโนเสาร์ที่น่าสนใจที่สุด

 

ข้อมูลและภาพจาก newatlas, eurekalert.org

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *