นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าหนึ่งในสามของมนุษย์ไม่สามารถเห็นทางช้างเผือก ซึ่งรวมถึง 80% ของชาวอเมริกันและ 60% ของชาวยุโรป เพราะแสงไฟในเมืองกำลังสร้างหมอกของมลภาวะทางแสง
ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้สร้างแผนที่มลภาวะทางแสงทั่วทั้งโลก แผนที่ถูกสร้างด้วยความเพียรพยายามมานานกว่า 10 ปีโดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมและตรวจสอบภาคพื้นดินอีกกว่า 30,000 ครั้ง
แม้ว่าจะมีท้องฟ้าที่มืดมิดแบบดั้งเดิมยังหลงเหลือในโลกอยู่บ้าง แต่ประชากรทั้งโลกจำนวน 83% และชาวอเมริกันและชาวยุโรปมากกว่า 99% อาศัยอยู่ภายใต้ความสว่างเรืองรองของมลภาวะทางแสง
“นี่เป็นความสูญเสียทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ที่ไม่อาจคาดเดาผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต” Fabio Falchi หนึ่งในผู้ทำการศึกษาเรื่องนี้กล่าว “ท้องฟ้ายามค่ำแบบดั้งเดิมมีคุณค่ามากสำหรับเรา”
จากการศึกษาพบว่าประเทศแสงมีมลภาวะมากที่สุดในโลกคือสิงคโปร์ “ประชากรทั้งหมดอาศัยอยู่ภายใต้ท้องฟ้าที่สว่างมากจนดวงตาไม่สามารถปรับให้เข้ากับทัศนวิสัยตอนกลางคืนได้อย่างเต็มที่” ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่เคยมีโอกาสที่จะได้สัมผัสกับความมืดที่แท้จริง
และต่อไปนี้คือประเทศอื่นๆที่มีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งที่อาศัยอยู่ภายใต้ท้องฟ้าที่สว่างมากๆ (ตัวเลขในวงเล็บแสดงเปอร์เซ็นต์ประชากรที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะแสง)
คูเวต (98%)
กาตาร์ (97%)
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (93%)
ซาอุดีอาระเบีย (83%)
เกาหลีใต้ (66%)
อิสราเอล (61%)
อาร์เจนตินา (58%)
ลิเบีย (53%)
ตรินิแดดและโตเบโก (50%)
ด้านล่างเป็นแผนที่แสดงมลภาวะทางแสงในภูมิภาคต่างๆของโลก บริเวณสีแดงมีมลภาวะทางแสงมากที่สุด รองลงไปได้แก่สีเหลือง เขียว ฟ้า และน้ำเงิน ตามลำดับ
ประเทศที่มีประชากรที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางแสงน้อยมากได้แก่ สาธารณรัฐชาด แอฟริกากลาง และมาดากัสการ์ มากกว่าสามในสี่ของผู้คนในประเทศเหล่านี้อาศัยอยู่ภายใต้ท้องฟ้ายามค่ำคืนแบบดั้งเดิม
ภายในเวลาไม่ถึง 100 ปี แสงไฟที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาได้เปลี่ยนแปลงท้องฟ้า เด็กๆหลายล้านคนไม่เคยได้เห็นทางช้างเผือก “มลภาวะทางแสงทำให้เราพลาดโอกาสที่จะได้สัมผัสกับความมหัศจรรย์ของท้องฟ้ายามค่ำคืนตามธรรมชาติ”