ขนนกจากยุคไดโนเสาร์เคยถูกพบอยู่ในอำพัน และหลักฐานสำหรับไดโนเสาร์ที่มีขนแบบนกก็มีปรากฏอยู่ตามรอยในฟอสซิล แต่นี่เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุได้อย่างชัดแจ้งถึงความสัมพันธ์ของขนนกที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีกับไดโนเสาร์ และเข้าใจได้ดีขึ้นในเรื่องวิวัฒนาการและโครงสร้างแบบขนนกของไดโนเสาร์
การค้นพบอันน่าทึ่งนี้เกิดขึ้นในตลาดอำพันของพม่าโดย Lida Xing นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน อำพันชิ้นนี้มาจากเหมืองทางตอนเหนือของพม่า อำพันจากบริเวณนี้จะบรรจุด้วยสัตว์และพืชหลากหลายชนิดจากยุคครีเทเชียส และส่วนใหญ่จะถูกกำหนดให้เป็นเครื่องประดับ อำพันชิ้นนี้ก็ถูกตกแต่งรูปร่างไปแล้วก่อนที่นักวิจัยจะพบมัน
อำพันชิ้นนี้มาจากกลางยุคครีเทเชียส มีลักษณะกึ่งโปร่งแสง ขนาดและรูปร่างคล้ายกับลูกแอปริคอตแห้ง สิ่งที่ถูกกักขังอยู่ภายในเป็นส่วนหางยาว 1.4 นิ้วปกคลุมด้วยขนนกสีขาวและน้ำตาล นักวิจัยได้ใช้เครื่องซีทีสแกนและกล้องจุลทรรศน์ในการวิเคราะห์รายละเอียด
ท่อนหางชิ้นเล็กๆที่มีเนื้อเยื่อและขนปกคลุมอยู่ มีกระดูกของช่วงกลางและช่วงปลายอยู่ 8 ท่อน หางของมันอาจมีกระดูกได้ถึง 25 ท่อน กระดูกที่พบมีลักษณะไม่เหมือนกับกระดูกของนกในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์คิดว่ามันน่าจะเป็นของไดโนเสาร์ซีลูโรซอร์วัยละอ่อนซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อราว 99 ล้านปีก่อน และถ้ามีขนแบบนี้อยู่เต็มหางทั้งหมด เจ้าของหางก็ไม่น่าจะบินได้ ซึ่งบ่งชี้ว่าขนของมันถูกเตรียมไว้สำหรับการให้สัญญาณหรือควบคุมอุณหภูมิ
จากการวิเคราะห์ยังได้พบธาตุเหล็กอยู่ในอำพันด้วย ซึ่งน่าจะมาจากเม็ดเลือดที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในเนื้อเยื่อ
“การที่ยังมีธาตุเหล็กเหลืออยู่ทำให้เรามีหวังอย่างมากสำหรับการวิเคราะห์ในอนาคต ที่จะได้รับข้อมูลทางเคมีอื่นๆ เช่น เม็ดสีหรือส่วนของโปรตีนของขนนก” Ryan McKellar ภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑ์ Canada’s Royal Saskatchewan กล่าว “อาจจะไม่ใช่สำหรับชิ้นนี้ แต่สำหรับชิ้นอื่นๆในอนาคต”
Xing กำลังมองหาช่องทางที่จะเข้าถึงเหมืองอำพันเพื่อที่จะเพิ่มการค้นพบที่น่าตื่นเต้นให้มากยิ่งขึ้น
“ไม่แน่ เราอาจเจอไดโนเสาร์ทั้งตัวก็ได้” Xing กล่าว
ข้อมูลและภาพจาก treehugger, nationalgeographic