คำ Supermoon ถูกนำมาใช้เรียกปรากฏการณ์นี้เป็นครั้งแรกโดยนักโหราศาสตร์ ริชาร์ด นอลล์ ในปี 1979 แต่ไม่ค่อยได้รับการยอมรับในวงการดาราศาสตร์ เพิ่งจะมานิยมใช้อย่างกว้างขวางเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง
เมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน ถ้าโลกอยู่ตรงกลางก็จะเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวง (Full Moon) ถ้าดวงจันทร์อยู่ตรงกลางก็จะเป็นคืนเดือนดับ (New Moon) เพราะดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี ระยะห่างระหว่างดวงจันทร์กับโลกจึงเปลี่ยนแปลงตลอดวงโคจร จุดที่โคจรมาอยู่ใกล้โลกมากที่สุดเรียกว่า perigee จุดที่อยู่ห่างโลกมากที่สุดเรียกว่า apogee ถ้าพระจันทร์เต็มดวงขณะที่โคจรอยู่ที่จุด perigee จะเรียกว่า Supermoon และถ้าพระจันทร์เต็มดวงขณะที่โคจรอยู่ที่จุด apogee ก็จะเรียกว่า Micromoon
เนื่องจากดวงจันทร์โคจรมาอยู่ใกล้โลกมาก จึงทำให้เราเห็น Supermoon มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ด้วยระยะทางจากดวงจันทร์ถึงโลกที่จุด perigee ที่ต่างกับที่จุด apogee ราว 43,000 กม. ทำให้ Supermoon มีขนาดใหญ่กว่า Micromoon ราว 14% และสว่างกว่าราว 30%
อีกอย่างหนึ่งดวงจันทร์โคจรมาใกล้โลกมากที่สุดในแต่ละครั้ง จะมีระยะห่างจากโลกไม่เท่ากัน (ตอนโคจรไกลโลกมากที่สุดก็ด้วย) ดังนั้น Supermoon แต่ละครั้งก็จะมีขนาดไม่เท่ากันด้วย Supermoon อาจจะเกิดขึ้นได้ปีละหลายครั้ง แต่ครั้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดครั้งล่าสุดเกิดเมื่อปี 1948 หรือ 68 ปีมาแล้ว
นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้เห็นมันอีกครั้งหนึ่งในช่วงชีวิตของเรา ถ้าพลาดครั้งนี้จะต้องรออีกนานมาก เพราะครั้งต่อไปมันจะเกิดขึ้นในปี 2034
เตรียมตัว เตรียมกล้อง เตรียมคนรู้ใจไว้ให้พร้อม 14 พฤศจิกายนนี้ ไปลอยกระทงภายใต้แสงจันทร์ของ Supermoon ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 กัน
https://youtu.be/Ls4e6HS1Lek
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, natureworldnews