การบินขึ้นจากรันเวย์วงกลมจะใช้ระยะวิ่งสั้นกว่าเพราะสามารถบินสวนลมได้เสมอ ขณะที่การลงจอดก็ไม่จำเป็นต้องบินวนเป็นวงกว้างเพื่อตั้งลำให้ตรงแนวรันเวย์ นอกจากนี้รันเวย์วงกลมยังช่วยลดระยะทางการแท็กซี่ทั้งตอนขึ้นบินและลงจอดได้อีกด้วย ทั้งหมดนี้จะช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ และนั่นหมายถึงการปล่อยมลพิษทางอากาศจะลดตามไปด้วย
รันเวย์วงกลมยังช่วยลดผลกระทบทางเสียงเนื่องจากการบินขึ้นและลงจอดจะกระจายในทิศต่างๆโดยรอบสนามบิน มลพิษทางเสียงจึงกระจายออกไปโดยรอบไม่อยู่ในแนวเดียวแบบเดิม จึงลดความรุนแรงลงได้อย่างมาก
รันเวย์วงกลมนอกจากจะใช้พื้นที่ในการสร้างสนามบินลดลงได้ถึงหนึ่งในสามแล้ว ยังเพิ่มความสามารถในการรองรับปริมาณการบินได้อีกเนื่องจากสามารถขึ้นบินและลงจอดพร้อมกันได้ถึง 3 ลำ
ในทศวรรษ 1960 สหรัฐอเมริกาได้ทดลองการลงจอดในรันเวย์วงกลมในช่วงเวลาสั้นๆแต่ไม่ได้ทำโครงการอย่างจริงจัง ซึ่ง Hesselink ได้อธิบายว่าในช่วงเวลานั้นเทคโนโลยียังก้าวหน้าไม่พอ การบินยังใช้สายตาและความรู้สึกของนักบินเป็นหลัก แต่ปัจจุบันนี้เรามีเครื่องมืออุปกรณ์มากมายทั้งบนตัวเครื่องและภาคสนามที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้
มีผู้คนจำนวนมากที่ยังไม่เชื่อว่าแนวคิดนี้จะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และตอนนี้ก็ยังไม่มีแผนการที่จะสร้างรันเวย์วงกลม Hesselink ตระหนักดีว่ายังต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการทดสอบกว่าที่รันเวย์วงกลมจะได้เริ่มสร้างจริง สนามบินเก่าก็ไม่เหมาะที่จะเปลี่ยนเป็นรันเวย์วงกลมเพราะจะมีค่าใช้จ่ายสูง เขาหวังว่าจะมีสนามบินแห่งใหม่ถูกสร้างขึ้นด้วยแนวคิดใหม่ที่เขาเรียกว่า the Endless Runway นี้ในอนาคต
ข้อมูลและภาพจาก designboom, nltimes, endlessrunway-project