ทีมวิจัยทำการวิเคราะห์แหล่งพลังงานหมุนเวียนที่แต่ละประเทศสามารถนำมาใช้ได้ และสำรวจความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดจากทั้งภาคการขนส่ง การทำความร้อน การทำความเย็น อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ป่าไม้และการประมง นักวิจัยประเมินว่าทั้ง 139 ประเทศสามารถใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 80% ภายในปี 2030 และครบทั้ง 100% ภายในปี 2050
สัดส่วนของแหล่งพลังงานหมุนเวียนสำหรับเป้าหมายในปี 2050 ที่ทีมวิจัยคาดการณ์ไว้จะประกอบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบต่างๆและพลังงานลมทั้งบนบกและในทะเลเป็นหลัก ตามมาด้วยพลังงานน้ำและพลังงานหมุนเวียนอื่นอีกบางส่วน
“สิ่งที่ที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดในผลการวิจัยนี้คือทุกประเทศที่เราตรวจสอบมีแหล่งพลังงานเพียงพอสำหรับใช้ในประเทศ แม้ว่ามีสองประเทศเล็กๆที่มีประชากรหนาแน่นซึ่งอาจต้องนำเข้าพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านหรือใช้พลังงานจากนอกชายฝั่งมากเป็นพิเศษ” Jacobson กล่าว
นักวิจัยพบว่าประเทศที่มีที่ดินต่อประชากรสูงอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา จีน และบางประเทศในยุโรป สามารถปรับมาใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนทั้ง 100% ได้ง่ายกว่าเพราะสามารถหาพื้นที่สำหรับฟาร์มโซลาร์และฟาร์มกังหันลมได้ง่ายกว่านั่นเอง
ทีมวิจัยพบว่าการเปลี่ยนมาใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนทั้ง 100% นี้จะส่งผลให้ความจำเป็นในการใช้พลังงานของทั้งโลกลดลง 42.5% อันเนื่องมาจากประสิทธิภาพของแหล่งพลังงานหมุนเวียน และยังนำไปสู่ตำแหน่งงานประจำที่เพิ่มมากขึ้น 52 ล้านตำแหน่ง ขณะที่ตำแหน่งงานที่ต้องสูญเสียไปจากการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมี 27.7 ล้านตำแหน่ง นั่นหมายถึงจะมีตำแหน่งงานถาวรเพิ่มขึ้นสุทธิ 24.3 ล้านคน
นอกจากนี้การลดการปล่อยมลพิษและก๊าชเรือนกระจกสู่บรรยากาศจะทำให้อัตราการเสียชีวิตก่อนกำหนดจากปัญหามลพิษทางอากาศลดลงราว 4.6 ล้านคนต่อปี และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและสภาพอากาศลงได้กว่า 50 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี การเปลี่ยนแปลงนี้ยังช่วยรักษาระดับราคาพลังงานให้คงที่เนื่องจากไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง และช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ตามเป้าหมายอีกด้วย
“งานวิจัยของเราชี้ว่ามีประโยชน์อย่างมหาศาลที่เราจะเร่งการเปลี่ยนมาใช้พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” Mark Delucchi หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ กล่าว “โดยการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้เร็วที่สุดเท่าที่เราสามารถทำได้”
ข้อมูลและภาพจาก stanford.edu, ieee.org