ฟังไจ Aspergillus tubingensis ซึ่งถูกพบโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนจากกองขยะในปากีสถานเมื่อปี 2017 สามารถเติบโตบนผิวของพลาสติก เอนไซม์ชนิดพิเศษของมันสามารถทำลายพันธะเคมีระหว่างโมเลกุลของพลาสติก แล้วแยกโมเลกุลของพลาสติกออกจากกันโดยใช้เส้นใย (mycelium) ของมัน
ในรายงานบอกว่า “ความสามารถนี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นได้”
“นี่เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นอย่างเหลือเชื่อเพราะเป็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่ยิ่งใหญ่ ถ้ามันสามารถแก้ปัญหาได้จริงจะเป็นเรื่องที่ดีมาก” Ilia Leitch นักวิทยาศาสตร์อาวุโสที่ Kew Gardens กล่าว “เราอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการวิจัย แต่ฉันหวังจะได้เห็นการใช้ประโยชน์จากฟังไจที่สามารถกินพลาสติกได้ภายใน 5 ถึง 10 ปี”
เมื่อไม่นานมานี้มีรายงานว่าขยะจากอังกฤษซึ่งถูกส่งไปรีไซเคิลที่โปแลนด์จริงๆแล้วกำลังถูกเผาและพ่นอนุภาคมีพิษอันตรายขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ จึงหวังว่าฟังไจจะสามารถปฏิวัติกระบวนการรีไซเคิลและให้วิธีย่อยสลายพลาสติกที่ปลอดภัยและยั่งยืน
ในรายงานยังได้กล่าวถึงบทบาทและความสำคัญของฟังไจที่ถูกใช้ในเบียร์ (ยีสต์), ยาเพนิซิลลิน, ผงซักฟอก และชีส รวมทั้งฟังไจชนิดที่รู้จักกันมากที่สุดก็คือเห็ดซึ่งมีการบริโภคทั่วโลกมากถึงปีละ 42.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีฟังไจบางชนิดถูกนำไปใช้สำหรับงานก่อสร้างด้วย
อย่างไรก็ตามเชื่อกันว่ายังมีฟังไจอีก 93 เปอร์เซ็นต์ที่เรายังไม่รู้จักจากทั้งหมดที่คาดว่ามีราว 6 ล้านสายพันธุ์ ทุกๆปีจะมีการพบฟังไจสายพันธุ์ใหม่ราว 2,000 ชนิด ปี 2017 ที่ผ่านมามีการพบฟังไจสายพันธุ์ใหม่ในฝุ่น, ในภาพสีน้ำมัน และพบสายพันธุ์ใหม่ชนิดหนึ่งซ่อนอยู่ใต้เล็บมือคน
ข้อมูลและภาพจาก dezeen, telegraph.co.uk