นักวิทยาศาสตร์กำลังจะสร้างมนุษย์ขึ้นมาเองในห้องทดลอง จริงหรือนี่?

ใครก็ตามที่คิดว่าการสร้างมนุษย์สายพันธุ์ใหม่เป็นเรื่องตลกเพ้อฝัน รวมทั้งคนที่สนใจในเรื่องนี้คงจะต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ที่อาจจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอนาคตอันใกล้

เมื่อเดือนที่แล้ว ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในบอสตัน นักวิทยาศาสตร์ 130 คน ทนายความและนักลงทุนได้เข้าร่วมประชุมลับด้วยกัน เพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการสร้างจีโนมของมนุษย์ขึ้นมาเองในห้องแล็บ

แม้ว่าการเขียนพิมพ์เขียวโครงสร้างทางเคมีของมนุษย์ยังห่างไกลจากความเป็นไปได้ (จีโนมของมนุษย์แต่ละคนจะมีการเรียงลำดับของคู่ทางเคมีถึงสามพันล้านคู่) แต่ความลึกลับของการประชุม (ไม่มีการทวิต ไม่แจ้งสื่อ และเฉพาะผู้ได้รับเชิญเท่านั้น) ได้ส่งสัญญาณแจ้งเตือนต่อคนที่มีความกังวลใจเกี่ยวกับจริยธรรมของพันธุวิศวกรรมในลักษณะนี้

หลังจากถูกวิจารณ์อย่างหนักในความพยายามที่จะปกปิดเรื่องนี้เป็นความลับ นักวิทยาศาสตร์ได้ประกาศว่าพวกเขากำลังจะเปิดตัวโครงการที่จะลดค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาลในการสังเคราะห์จีโนม ซึ่งจะมีศักยภาพในการปฏิวัติพัฒนาการในด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่จะทำให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถสร้างอวัยวะมนุษย์สำหรับการปลูกถ่ายได้

การประกาศครั้งนี้เป็นสัญญาณล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีชีวภาพกำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางปัญหาทางจริยธรรม นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างเสริมเทคนิคสำหรับการจัดการกับโมเลกุลที่ซับซ้อนที่ทำหน้าที่เป็นรหัสสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

ผู้ริเริ่มโครงการสังเคราะห์จีโนมคาดว่าในที่สุดโครงการจะมีขนาดเดียวกับโครงการจีโนมมนุษย์ (Human Genome Project) เมื่อปี 1990 ซึ่งนำไปสู่​​การจัดลำดับของจีโนมมนุษย์เป็นครั้งแรก ความแตกต่างในครั้งนี้คือแทนที่จะเป็นการ “อ่าน” รหัสพันธุกรรมซึ่งทำให้รู้ว่ามันเรียงลำดับกันอย่างไร นักวิทยาศาสตร์จะ “เขียน” รหัสพันธุกรรมขึ้นมา พวกเขาตั้งชื่อโครงการนี้ว่า “Human Genome Project – write”

เป้าหมายของ HGP-write คือการลดค่าใช้จ่ายของการตัดต่อพันธุกรรมและการทดสอบจีโนมจำนวนมาก รวมทั้งจีโนมมนุษย์ ให้ได้มากกว่า 1,000 เท่าภายในสิบปี ขณะเดียวกันจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ภายใต้กรอบของจริยธรรมสำหรับจีโนม รวมถึงการใช้งานทางการแพทย์ โครงการนี้จะดำเนินการโดยองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ชื่อ Center of Excellence for Engineering Biology

ไม่มีใครพูดถึงการสร้างมนุษย์ขึ้นมาเองในห้องแล็บ หนึ่งในการประยุกต์ใช้จีโนมสังเคราะห์ที่มีราคาถูก คือการสร้างเซลล์ที่สามารถต่อต้านไวรัส ซึ่งจะไม่ใช่เซลล์ที่ใช้ในการรักษามนุษย์โดยตรง แต่เป็นเซลล์เพาะเลี้ยงโดยเภสัชอุตสาหกรรมสำหรับการพัฒนายาชนิดใหม่

 

ข้อมูลและภาพจาก  washingtonpost, technocracy, livescience

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *