พบโมเลกุลสารอินทรีย์บนดวงจันทร์ของดาวเสาร์ที่อาจมาจากสิ่งมีชีวิตนอกโลก

‘เอนเซลาดัส’ ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์เป็นหนึ่งในสถานที่เป็นไปได้มากที่สุดในระบบสุริยะที่อาจพบสิ่งมีชีวิตนอกโลก ดวงจันทร์เอนเซลาดัสมีองค์ประกอบที่จำเป็นหลายอย่างต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต ล่าสุดนักวิจัยตรวจพบโมเลกุลสารอินทรีย์ที่ซับซ้อนปนอยู่ในละอองน้ำที่ถูกพ่นออกมาจากมหาสมุทรใต้พื้นผิวดาวผ่านทางรอยแตกของเปลือกที่เป็นน้ำแข็ง หรือจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ที่นั่นจริงๆ?

เรารู้เกี่ยวกับดวงจันทร์เอนเซลาดัสน้อยมากจนกระทั่งถึงปี 2005 ที่ยานแคสสินีได้บินเข้าใกล้มันเป็นครั้งแรก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความลับของมันก็ถูกเปิดเผยและสร้างความประหลาดใจให้กับพวกเราเรื่อยมา แม้ว่าภารกิจของยานแคสสินีได้สิ้นสุดไปแล้ว

นักวิทยาศาสตร์คิดว่าเอนเซลาดัสน่าจะมีมหาสมุทรเมื่อยานแคสสินีตรวจพบไอน้ำถูกพ่นออกมาจากใต้พื้นผิวของมัน ต่อมาจากการสังเกตความผันผวนของแรงโน้มถ่วงบ่งชี้ว่ามีมหาสมุทรขนาดเล็กที่ขั้วใต้ และจากการศึกษาในปี 2015 พบว่ามันมีการส่ายไปมาซึ่งชี้ว่ามีมหาสมุทรทั่วทั้งดาว

หลายปีที่ยานแคสสินีสำรวจดวงจันทร์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 500 กม.ดวงนี้ มันได้ดำดิ่งพุ่งผ่านไอน้ำที่ถูกพ่นขึ้นมาหลายครั้ง และเมื่อปีที่แล้วนาซาก็ได้ตรวจพบโมเลกุลไฮโดรเจนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิตปะปนอยู่ในไอน้ำ และในงานวิจัยล่าสุดก็ยิ่งเพิ่มน้ำหนักให้กับความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตที่ดวงจันทร์เอนเซลาดัส เพราะคราวนี้พวกเขาได้ตรวจพบโมเลกุลของสารอินทรีย์ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

organic-molecules-on-enceladus-2

เครื่องมือวิเคราะห์ฝุ่นของยานแคสสินีได้เก็บชิ้นส่วนโมเลกุลสารอินทรีย์ดังกล่าวนี้ได้จากไอน้ำที่ถูกพ่นขึ้นมาด้วยความเร็ว 30,000 กม./ชม. โดยปริมาณโมเลกุลสารอินทรีย์ที่ตรวจพบครั้งนี้มีราว 200 หน่วยมวลอะตอม แต่ทีมวิจัยเชื่อว่ามันมีอยู่จำนวนมากทีเดียวก่อนที่จะถูกยานแคสสินีพุ่งมาชน

“เราพบชิ้นส่วนโมเลกุลขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างแบบโมเลกุลของสารอินทรีย์ที่ซับซ้อนมากๆ” says Nozair Khawaja หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “โมเลกุลขนาดใหญ่พวกนี้มีเครือข่ายที่ซับซ้อนซึ่งสร้างจากอะตอมจำนวนมากของคาร์บอน, ไฮโดรเจน, ออกซิเจน และไนโตรเจน สร้างเป็นรูปวงแหวนและเชื่อมต่อกันแบบโครงสร้างพื้นฐาน”

นักวิจัยชี้ว่าโมเลกุลของสารอินทรีย์ที่ซับซ้อนเหล่านี้ถูกสร้างจากปฏิกิริยาไฮโดรเทอร์มอลเมื่อสสารจากแกนหินที่มีรูพรุนถูกปล่อยออกสู่มหาสมุทร จากตรงนั้นฟองก๊าซจะพาพวกมันขึ้นสู่พื้นผิวด้านบนที่ซึ่งมันจะสร้างเป็นฟิล์มสารอินทรีย์บางๆอยู่ใต้เปลือกดาวที่เป็นน้ำแข็ง ฟองก๊าซจะแตกออกในช่องรอยแตกและพ่นเอาไอน้ำ, น้ำแข็ง และโมเลกุลสารอินทรีย์ออกมา

organic-molecules-on-enceladus-3

“นี่เป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบสารอินทรีย์ที่ซับซ้อนซึ่งอยู่นอกโลก” Frank Postberg ทีมวิจัยอีกคนหนึ่งกล่าว “ในความเห็นของผมชิ้นส่วนที่เราพบเกิดจากปฏิกิริยาไฮโดรเทอร์มอลซึ่งเกิดภายในแกนของเอนเซลาดัสภายใต้แรงดันสูงและอุณหภูมิที่อบอุ่น มันเป็นไปได้ที่โมเลกุลของสารอินทรีย์ที่ซับซ้อนสามารถเกิดขึ้น”

 

ข้อมูลและภาพจาก   esa.int, newatlas

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *