โซลาร์เซลล์ทำงานในลักษณะที่คล้ายกับการสังเคราะห์แสงของพืช พลังงานแสงจะถูกดูดซับและแปลงให้เป็นพลังงานรูปแบบอื่น ในกระบวนการนี้สิ่งสำคัญคือความสามารถในการเก็บแสงอาทิตย์จากมุมตกกระทบที่แตกต่างหลากหลายที่เปลี่ยนไปตามการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ พืชจะมีความสามารถข้อนี้ด้วยผลของวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน
นักวิจัยเริ่มต้นการทำงานโดยตรวจสอบคุณสมบัติทางแสงของเซลล์ผิวชั้นนอกของพืชหลายชนิด พวกเขาให้ความสนใจเป็นพิเศษกับความสามารถการดูดซับแสงได้ดี แล้วก็พบว่ากลีบดอกกุหลาบมีคุณสมบัติที่ต้องการ
“จากการตรวจสอบโดยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนพบว่าผิวหนังชั้นนอกของกลีบดอกกุหลาบประกอบด้วยโครงสร้างระดับไมโครอย่างแน่นขนัดแต่จัดวางไม่เป็นระเบียบ และมีโครงสร้างระดับนาโนสอดแทรกอยู่ด้วย” นักวิจัยกล่าว ลักษณะดังกล่าวไม่เพียงแต่จะช่วยให้ดอกกุหลาบสามารถดูดซับแสงมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะสร้างสีให้เข้มขึ้นซึ่งมีส่วนช่วยในการผสมเกสรอีกด้วย
จากนั้นนักวิจัยจึงทำแม่พิมพ์จากผิวชั้นนอกสุดของกลีบดอกกุหลาบ แล้วใช้กาวยูวีเทลงในแม่พิมพ์ และบ่มภายใต้แสงยูวี
นั่นทำให้พวกเขาได้แผ่นฟิล์มใสที่จำลองโครงสร้างของผิวชั้นนอกสุดของกลีบดอกกุหลาบ จากนั้นจึงนำแผ่นฟิล์มไปวางบนโซลาร์เซลล์ ผลลัพธ์ที่ได้คือโซลาร์เซลล์มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 12 เปอร์เซ็นต์
ในเดือนพฤษภาคมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำสถิติใหม่ในเรื่องประสิทธิภาพในการแปลงแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานได้ที่อัตรา = 34.5 ซึ่งโครงสร้างของกลีบดอกกุหลาบก็มีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพด้วย
นักวิจัยกำลังทำงานเพื่อตรวจสอบบทบาทของพื้นผิวที่ไม่เป็นระเบียบแบบเดียวกับผิวชั้นนอกของกลีบดอกกุหลาบในพื้นผิวรับแสงแบบอื่นๆ และหวังว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ได้มากยิ่งขึ้น
ข้อมูลและภาพจาก eurekalert, gizmag