ดูแอนิเมชั่นแสดงเส้นทางการเดินทางของยานจูโนที่ด้านล่าง
ภารกิจของยานจูโนคือการศึกษาโครงสร้าง บรรยากาศใต้ชั้นเมฆที่ปกคลุมโดยรอบดาว รวมทั้งสนามแม่เหล็กแม็กนีโตสเฟียร์ที่ครอบอยู่รอบดาวพฤหัสฯ ทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจการเกิดและวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ดวงนี้ ซึ่งนักดาราศาสตร์เชื่อว่ามีข้อมูลที่เชื่อมโยงถึงการเกิดระบบสุริยะได้ โดยยานจูโนจะโคจรรอบดาวพฤหัสทั้งหมด 37 รอบ ใช้เวลา 20 เดือน นับเป็นยานอวกาศลำที่สองที่ถูกส่งไปโคจรรอบดาวพฤหัสฯ ก่อนหน้านี้ยานกาลิเลโอได้โคจรรอบดาวพฤหัสฯอยู่นานถึง 8 ปี ตั้งแต่ปี 1995-2003 ส่วนยานลำอื่นๆเพียงแค่บินเฉียดเข้าใกล้แล้วผ่านเลยไป
วงโคจรของยานจูโนรอบดาวพฤหัสฯจะเป็นวงโคจรที่ผ่านขั้วเหนือขั้วใต้เป็นรูปวงรีที่สูงมาก (highly elliptical polar orbit) เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสนามแม่เหล็กอันเข้มข้นของดาวพฤหัสฯในบริเวณที่เรียกว่า radiation belts นานเกินไปจนทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆรวมทั้งโซลาร์เซลล์เกิดความเสียหาย และด้วยวงโคจรดังกล่าวจะส่งให้ยานจูโนเข้าไปใกล้กับดาวพฤหัสมาก ห่างจากชั้นเมฆบนสุดเพียง 4,667 กิโลเมตร
ยานจูโนใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์โดยมีโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่สามแผงซึ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยใช้ในยานสำรวจดาวเคราะห์ ยานจูโนมีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกับภารกิจอย่างครบครัน ที่จะใช้ศึกษาแก่นดาวเคราะห์ที่เป็นของแข็ง, ทำแผนที่สนามแม่เหล็กของดาวพฤหัสฯ, วัดองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศ รวมทั้งสังเกตแสงออโรราบนดาวเคราะห์ดวงนี้
ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีดวงจันทร์อย่างน้อย 67 ดวง มันเป็นวัตถุที่สว่างที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ในท้องฟ้า (รองจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวศุกร์ อย่างไรก็ตาม บางครั้งดาวอังคารก็ปรากฏสว่างกว่าดาวพฤหัสบดี) จึงเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ การค้นพบดาวบริวารขนาดใหญ่ 4 ดวง ได้แก่ ไอโอ, ยูโรปา, แกนีมีด และคัลลิสโต โดยกาลิเลโอ กาลิเลอี เมื่อ ค.ศ. 1610 เป็นการค้นพบวัตถุที่ไม่ได้โคจรรอบโลกเป็นครั้งแรก นับเป็นจุดที่สนับสนุนทฤษฎีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางที่เสนอโดยโคเปอร์นิคัส
ชื่อ “จูโน” ของยานลำนี้มาจากชื่อเทพเจ้าสตรีในตำนานกรีกโรมัน เมื่อเทพจูปิเตอร์ดึงผ้าคลุมซึ่งเป็นเมฆมาปกปิดบางสิ่ง แต่เทพจูโนผู้เป็นภรรยากระชากผ้านั้นออกและเปิดเผยความจริงของเทพจูปิเตอร์ได้ และ “จูโน” ก็กำลังจะเปิดเผยความจริงของจูปิเตอร์ (ดาวพฤหัสบดี) ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
ข้อมูลและภาพจาก gizmag, wikipedia, narit