โลกอาจต้องสูญเสียทัชมาฮาลไปด้วยฝีมือการทำลายล้างของ “มลภาวะ”

มีคำกล่าวว่าทัชมาฮาลเป็นสีชมพูในยามเช้า เป็นสีขาวนวลในยามเย็น และเป็นสีทองยามต้องแสงจันทร์ ซึ่งครั้งหนึ่งมันก็เคยเป็นจริงตามคำกล่าว แต่บัดนี้ไม่ใช่อีกแล้ว อนุสาวรีย์หินอ่อนเก่าแก่นี้ได้เปลี่ยนเป็นสีเหลืองคล้ำออกน้ำตาลตลอด 24 ชั่วโมง อันเป็นผลจากมลภาวะหลายอย่างที่มันต้องเผชิญมาอย่างยาวนาน ศาลสูงของอินเดียตำหนิความเฉื่อยชาในการบูรณะโบราณสถานสำคัญของชาติและได้บอกรัฐบาลให้เร่งจัดการบูรณะหรือไม่ก็ทำลายมันทิ้งไป

ทัชมาฮาลตั้งอยู่ในสวนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ในเมืองอัครา (Agra) รัฐอุตตรประเทศ ทางภาคเหนือของประเทศอินเดีย เป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่สวยที่สุดในโลกที่พระจักรพรรดิชาห์ชะฮันได้สร้างขึ้นมาอย่างวิจิตรอลังการเพื่อใช้เป็นที่ฝังศพของพระมเหสีมุมตัซ มาฮาล และเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักของทั้งสองพระองค์

ทัชมาฮาลสร้างขึ้นด้วยหินอ่อนสีขาวที่นำมาจากรัฐราชสถานทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย หินอ่อนถูกประดับด้วยพลอยหลากหลายชนิดได้แก่ แจสเปอร์, หยก, เทอร์คอยซ์, ลาพิส ลาซูลี่, แซฟไฟร์ และคาร์เนเลียน งานก่อสร้างอาคารรวมทั้งสวนและกำแพงล้อมรอบเสร็จทั้งหมดในปี ค.ศ. 1653 ทัชมาฮาลถูกจัดเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่

tajmahal-is-wasting-away-2

พร้อมกับอายุที่เพิ่มมากขึ้นและเวลาที่ผันผ่านไปเกือบ 400 ปี ทัชมาฮาลมีสีหมองคล้ำขึ้นด้วยกระบวนการออกซิเดชั่นตามธรรมชาติ คล้ายกับหินอ่อนเป็นสนิมด้วยสภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตร มันเปียกโชกด้วยฝนกรด ถูกเคลือบด้วยเขม่าจากปล่องควันของโรงงานอุตสาหกรรม และถูกกัดกร่อนด้วยสภาพบรรยากาศที่เป็นพิษ

มลพิษทางอากาศในเมืองต่างๆของอินเดียมีความรุนแรงจนเป็นที่เล่าลือ เมืองอัคราก็ไม่มีข้อยกเว้น เป็นเช่นเดียวกับหลายเมืองในทวีปเอเชีย มีปริมาณรถยนต์และการจราจรเพิ่มขึ้นพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศ รวมทั้งอากาศสกปรกที่ถูกปล่อยออกมาจากปล่องควันของโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานอุตสาหกรรม

สารก่อมลพิษเหล่านี้ซึ่งได้แก่ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ และมลพิษอื่นๆที่มีอนุภาคคาร์บอนเป็นองค์ประกอบได้ทำลายและกัดกร่อนจนพื้นผิวสีขาวสดใสของทัชมาฮาลกลายเป็นสีเหลืองหมองคล้ำ แม้จะมีการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองขนาด 4,000 ตารางไมล์รอบทัชมาฮาลซึ่งมีการคุมเข้มเรื่องการปล่อยมลพิษแล้วก็ตาม ภาพถ่ายได้แสดงให้เห็นว่ามีการเสื่อมสภาพของทัชมาฮาลในช่วงไม่กี่ปีมานี้

กฎหมายควบคุมการปล่อยมลพิษถูกโต้แย้งจากกลุ่มนักพัฒนาและถูกเพิกเฉยอย่างมาก เตาไฟใช้ฟืนที่มีควันดำยังคงถูกใช้งานและกองขยะยังคงถูกเผาอยู่ใกล้ๆกับทัชมาฮาล มลพิษจากแม่น้ำยมุนาก็เป็นปัญหาที่หนักหน่วงอีกอย่างหนึ่ง ขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลที่ไม่ผ่านการบำบัดทำให้น้ำในแม่น้ำที่ไหลผ่านมาอุดมด้วยสารอาหาร สารอาหารเหล่านั้นถูกลมพัดไปตกที่ทัชมาฮาล ทำให้จุลินทรีย์สามารถเจริญเติบโตและทำให้พื้นผิวของทัชมาฮาลเป็นสีเขียว

ตั้งแต่ปี 1998 สถาบันวิจัยของอินเดียหลายแห่งได้สำรวจหาวิธีการฟื้นฟูและพยายามเปลี่ยนสีให้กลับคืนดังเดิมแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทัชมาฮาลจำเป็นจะต้องได้รับการดำเนินการฟื้นฟูอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด มิฉะนั้นแล้วมรดกโลกแห่งนี้อาจต้องสูญเสียความงามอันเป็นตำนานไปอย่างถาวรก็ได้

 

ข้อมูลและภาพจาก  theconversation, sciencealert

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *