ในการทดลองเบื้องต้นนักวิจัยพบว่าต้นถั่วมีรากงอกออกมากในกระถางที่มีการให้สารอาหารในปริมาณมาก การปรับตัวนี้คล้ายกับสัตว์ที่จะพยายามออกหาอาหารมากขึ้นในบริเวณที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ในการทดลองต่อมาพวกเขาแยกรากของต้นถั่วแต่ละต้นออกเป็นสองกระถาง โดยทั้งสองกระถางได้รับอาหารที่มีความเข้มข้นของสารอาหารเท่ากัน แต่กระถางหนึ่งได้รับในปริมาณคงที่และอีกกระถางหนึ่งได้รับในปริมาณที่แปรผันไม่แน่นอนมากบ้างน้อยบ้าง ถามว่าพืชจะ ‘ชอบ’ ที่จะงอกรากมากที่กระถางไหน
บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ทางทฤษฎีของการตัดสินใจของมนุษย์หรือสัตว์ในการตอบสนองต่อทางเลือกที่คล้ายกัน นักวิจัยคาดการณ์ว่าต้นถั่วอาจจะชอบกระถางแปรผันเมื่อปริมาณสารอาหารโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำ และจะชอบกระถางคงที่เมื่อปริมาณสารอาหารโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับสูง
ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่าเมื่อระดับของสารอาหารโดยเฉลี่ยต่ำกว่าปริมาณที่จำเป็นสำหรับพืชในการเจริญเติบโต การเลือกกระถางแปรผันอย่างน้อยก็มีโอกาสที่จะ ‘เสี่ยงดวง’ ที่อาจจะพบกับความโชคดี ในทางตรงกันข้ามเมื่อเงื่อนไขปริมาณสารอาหารโดยเฉลี่ยดีพอ มันจะดีกว่าถ้าใช้ทางเลือกที่ปลอดภัย
นักวิจัยพบว่าต้นถั่วมีการงอกรากตรงกับที่คาดการณ์ไว้ทุกอย่าง
Alex Kacelnik หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า นี่คือครั้งแรกที่มีการสาธิตให้เห็นการปรับตัวต่อความเสี่ยงของสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีระบบประสาท เราไม่สามารถสรุปได้ว่าพืชมีความฉลาดในวิเคราะห์แบบเดียวกับมนุษย์หรือสัตว์ แต่ว่าพฤติกรรมที่ซับซ้อนและน่าสนใจสามารถคาดการณ์โดยทางทฤษฎีในการปรับตัวทางชีวภาพ บนพื้นฐานของกระบวนการพัฒนาที่จะใช้ประโยชน์จากโอกาสทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
“เรายังไม่ทราบวิธีการที่พืชวิเคราะห์เงื่อนไขความแปรปรวน หรือแม้กระทั่งสรีระของพวกมันปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงได้อย่างไร แต่ผลการวิจัยทำให้เราเห็นว่าต้นถั่วมีกลยุทธ และกระบวนการตัดสินใจของพวกมันเป็นรูปแบบของสิ่งมีชีวิตที่ชาญฉลาด”
ข้อมูลและภาพจาก sciencemag, phys, marketbusinessnews