“เราต้องการวิธีที่เชื่อถือได้ ทำได้ง่าย และไม่แพงในการตรวจสอบเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีความซับซ้อน” Orison Woolcott หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว “RFM เป็นวิธีวัดไขมันในร่างกายได้ดีกว่าวิธีอื่นทั้งหลายที่ใช้ในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน รวมทั้งวิธี BMI ด้วย”
การวัดด้วย BMI คุณจะต้องใช้ค่าน้ำหนักหน่วยเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง แล้วนำค่าที่ได้ไปเปรียบเทียบกับตาราง ค่า BMI ปกติอยู่ระหว่าง 18.5 – 25 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็ยอมรับว่ามันไม่สมบูรณ์แบบ เพราะมันไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างเพศ มันไม่ได้สะท้อนมวลกล้ามเนื้ออย่างถูกต้อง รวมทั้งผลที่ได้ก็อาจเบี่ยงเบนไปสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ
สำหรับการวัดโดยวิธี RFM ให้คุณนำค่าส่วนสูงและรอบเอวมาใส่ในสูตรคำนวณข้างล่างนี้
RFM = 64 – (20 x ส่วนสูง/รอบเอว) สำหรับผู้ชาย
RFM = 76 – (20 x ส่วนสูง/รอบเอว) สำหรับผู้หญิง
นักวิจัยได้ใช้ข้อมูลจากผู้ใหญ่กว่า 12,000 คนและตรวจสอบสูตรต่างๆที่อาจเป็นไปได้กว่า 300 สูตร และพบว่าสูตรคำนวณค่า RFM ตามข้างต้นให้ผลลัพธ์ดีที่สุด มีการตรวจสอบเปรียบเทียบค่า RFM กับการวัดค่าเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายโดยใช้เครื่อง DXA body scan จากข้อมูลของผู้ป่วย 3,456 คนพบว่ามีค่าใกล้เคียงกันมาก และดีกว่าวิธี BMI อย่างชัดเจน (ดูผลตามรูปด้านล่าง)
นำค่า RFM ของเราที่คำนวณได้จากสูตรไปเปรียบเทียบกับตารางเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายด้านล่างก็จะทราบทันทีว่าสถานะของเราเป็นอย่างไร อ้วนหรือผอมเกินไปหรือไม่
ดังนั้นทีมวิจัยจึงหวังว่า RFM จะถูกใช้สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนัก รวมถึงผู้ที่มีเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงในการติดตามระดับไขมันในร่างกายได้ดีกว่าเดิม แม้ว่าตอนนี้ยังคงต้องทำวิจัยเพิ่มเพื่อให้มั่นใจว่า RFM ให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องแม่นยำสำหรับผู้คนทุกกลุ่มทุกกรณี และหากมันได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงก็คงจะถึงเวลาบอกลา BMI เสียที
ข้อมูลและภาพจาก cedars-sinai.org, sciencealert