ปลาสิงโตจอมตะกละบุกถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้ว

นักวิทยาศาสตร์กำลังให้ความสนใจต่อเจ้าปลาที่สวยสง่างามนี้อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ ไม่ใช่เรื่องความสวยงามของมัน แต่เป็นความสามารถในการคุกคามระบบนิเวศน์ในที่ที่มันไม่ได้เป็นสัตว์ท้องถิ่น มันมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งจะทำให้ความสมดุลของความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตประจำถิ่นถูกทำลายไป

จากการศึกษาใหม่พบว่าปลาสิงโตได้รุกรานเข้ามาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นบริเวณที่มันไม่เคยอาศัยอยู่มาก่อน ทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์จากประเทศไซปรัสและอังกฤษได้นำเสนอแผนที่การกระจายการตั้งถิ่นฐานของปลาสิงโตทั่วแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของไซปรัสภายในปีเดียว

ก่อนหน้านี้มีการพบปลาสิงโตในน่านน้ำทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาบ้างแต่น้อยมาก มีบันทึกการพบปลาชนิดนี้เพียงตัวเดียวเมื่อปี 1991 ต่อมามีการจับได้สองตัวที่นอกชายฝั่งของเลบานอนในปี 2012 หลังจากนั้นก็มีการพบอีกในน่านน้ำนอกประเทศไซปรัส ตุรกีและกรีซ

lionfish-2

ปลาสิงโตเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการังหรือกองหินใต้น้ำ ในเขตมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดีย มีต่อมพิษที่ก้านครีบแข็งทุกก้าน รวมถึงมีถุงพิษเล็กๆอยู่รอบตัว ผู้ที่โดนต่อมพิษของปลาสิงโตแทงจะมีหลายอาการ ทั้งอัมพาต อัมพาตชั่วคราว หรือแผลพุพอง ถ้าพวกมันโตเต็มที่จะมีขนาดยาวเกือบครึ่งเมตร

ปลาสิงโตกินกุ้งหรือปลาขนาดเล็กชนิดอื่นเป็นอาหาร ด้วยการกางครีบไล่ต้อนให้จนมุม แล้วใช้ปากฮุบกินไปทั้งตัว ขากรรไกรขยายออกถึงร้อยละ 40 นอกจากนี้แล้วครีบต่างๆนั้นยังใช้สำหรับกางเพื่อขู่ศัตรูได้ด้วย ปลาสิงโตหนึ่งตัวสามารถกินลูกปลาหรือปลาขนาดเล็กได้ถึง 20 ตัวภายในเวลาไม่ถึง 30 นาที กระเพาะอาหารของปลาสิงโตสามารถขยายออกได้ถึง 30 เท่าของขนาดปกติ

นอกจากนี้ปลาสิงโตยังเป็นปลาที่มีความสามารถในการสืบพันธุ์สูง ปลาตัวผู้จะเป็นฝ่ายเกี้ยวพาดึงดูดปลาตัวเมีย เมื่อตัวเมียตอบรับจะว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำ ปล่อยไข่ซึ่งเกาะตัวรวมเป็นเหมือนก้อนวุ้นออกมา ตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าไปผสมพันธุ์และปฏิสนธิ ก้อนวุ้นนี้จะลอยน้ำชั่วระยะ ก่อนจะค่อยๆแตกตัวสลายไปเป็นไข่และฟักออกเป็นลูกปลา ปลาสิงโตสามารถวางไข่ได้ทุกๆ 3-4 วัน โดยปริมาณไข่ในแต่ละครั้งมีจำนวนหลายหมื่นฟอง ปลาสิงโตตัวเมียสามารถวางไข่ได้ถึงปีละ 2 ล้านฟอง

จากการที่ปลาสิงโตเป็นนักล่าที่เก่งกาจและกินจุ รวมกับความสามารถในการขยายพันธ์ุได้อย่างรวดเร็ว ทำให้พวกมันสามารถลดจำนวนของประชากรของปลาชนิดอื่นหรือพวกกุ้งลงได้จำนวนมาก อาจจะมากถึง 90%

lionfish-3

ยังดีว่าการบุกรุกเข้ามาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในขณะนี้ยังไม่มากเกินไป รายงานชิ้นนี้จะช่วยให้นักนิเวศวิทยาทางทะเลทำหน้าที่ก่อนที่ประชากรของปลาสิงโตจะมีมากจนควบคุมไม่ได้ และอาจจะนำมาซึ่งความเสียหายของระบบนิเวศแนวปะการังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

แต่พวกเขาจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ครั้งหนึ่งเคยคิดว่าทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นที่ที่ไม่เหมาะสำหรับการขยายพันธุ์ปลาสิงโต แต่อุณหภูมิน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นได้ทำให้สภาพแวดล้อมกลายเป็นเหมาะสำหรับการเจริญเติบโต

ดังนั้นจึงถึงเวลาที่จะต้องหยุดการรุกรานของปลาสิงโตในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่จริงการจับปลาสิงโตไม่ใช่เรื่องยาก ชาวประมงสามารถได้รับการฝึกอบรมเพื่อจัดการในเรื่องนี้ และพวกเขาก็น่าจะมีแรงจูงใจเพิ่มขึ้นอีกอย่างก็คือปลาสิงโตมีรสชาติอร่อยไม่เลวทีเดียว (ถ้าเอาส่วนที่มีพิษออกไปเสียก่อน)

 

ข้อมูลและภาพจาก  natureworldnews, livescience, wikipedia

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *