ยุโรปส่งยานอวกาศ BepiColombo มุ่งหน้าสำรวจดาวพุธ ญี่ปุ่นส่งยานร่วมแจมด้วย

องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ส่งยานอวกาศ BepiColombo ขึ้นสู่อวกาศจากฐานปล่อยจรวดที่ French Guyana จังหวัดโพ้นทะเลของฝรั่งเศสบนชายฝั่งทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2018 ยานมุ่งหน้าสู่ดาวพุธบนเส้นทางที่ซับซ้อนพร้อมกับยานสำรวจ 2 ลำที่เป็นของยุโรปและญี่ปุ่นเพื่อปฏิบัติภารกิจแสนท้าทายในอีก 7 ปีข้างหน้า


 
ยาน BepiColombo ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด Ariane 5 ของยุโรป การปล่อยจรวดประสบความสำเร็จด้วยดี จรวดพุ่งขึ้นไปอย่างสวยงามไร้ที่ติ สองนาทีหลังปล่อยออกจากฐานจรวดขับดันทั้งสองข้างก็ดีดตัวแยกออก จากนั้นในอีกหนึ่งนาทีต่อมาชุดป้องกันตัวยานก็แยกตัวตามออกมา เมื่อถึงนาทีที่ 9 ตัวจรวดท่อนหลักก็ดับเครื่องและแยกตัวออก ปล่อยให้ยาน BepiColombo เข้าสู่วงโคจรต่ำของโลก ก่อนที่จะจุดไฟอีกครั้งเพื่อสปีดหนีแรงโน้มถ่วงของโลกและดำเนินตามขั้นตอนการเดินทางต่อไป

bepicolombo-to-mercury-2

เนื่องจากแรงโน้มถ่วงอันมหาศาลของดวงอาทิตย์ทำให้พลังงานที่จำเป็นต้องใช้เพื่อให้ยานไปถึงดาวพุธนั้นเทียบเท่ากับพลังงานที่ใช้เดินทางไปดาวพลูโตเลยทีเดียว แรงส่งจากจรวด Ariane 5 ไม่มากพอที่จะทำได้สำเร็จ หรือแม้กระทั่งตัวขับเคลื่อนพลังไอออนบนตัวยาน BepiColombo เองก็ทำไม่ได้ ดังนั้นมันจึงต้องเพิ่มความเร็วของยานโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกเหวี่ยงมันออกไปด้วยการบินเฉียดเข้าใกล้โลกในเดือนเมษายน 2020 และอาศัยแรงเหวี่ยงจากดาวศุกร์อีก 2 ครั้งในเดือนตุลาคม 2020 และเดือนสิงหาคม 2021 จากนั้นจะบินเฉียดดาวพุธอีก 6 ครั้งระหว่างปี 2021 – 2025 ก่อนที่ยานจะเข้าสู่วงโคจรของดาวพุธในวันที่ 5 ธันวาคม 2025


 
เมื่อยาน BepiColombo ไปถึงจุดหมายมันจะแยกออกเป็นยานสำรวจ 2 ลำ คือยาน Mercury Planetary Orbiter (MPO) ขององค์การอวกาศยุโรป และยาน Magnetospheric Orbiter (MMO) ขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น ยานสำรวจทั้งสองลำจะทำการศึกษาดาวพุธเกี่ยวกับโครงสร้าง สนามแม่เหล็ก และชั้นบรรยากาศที่เกือบจะไม่มี และข้อมูลอื่นๆ


 
เพื่อป้องกันตนเองจากรังสีของดวงอาทิตย์อันรุนแรงที่ระยะห่าง 113 ล้านกิโลเมตร (70 ล้านไมล์) จากดวงอาทิตย์ ยานทั้งสองจะจัดวางแผงโซลาร์เซลล์ไว้ในมุมเฉียงกับแสงอาทิตย์ตลอดเวลา ยาน MPO จะได้รับการคุ้มครองอีกชั้นด้วยโล่กันแสงอาทิตย์ ในขณะที่ยาน MMO จะคอยหมุนในอัตรา 15 รอบต่อนาทีเพื่อรักษาอุณหภูมิให้สม่ำเสมอ

โครงการอวกาศ BepiColombo ถูกตั้งชื่อตามนักคณิตศาสตร์และวิศวกรชาวอิตาลี Giuseppe “Bepi” Colombo ผู้ค้นพบว่าดาวพุธหมุนรอบตัวเอง 3 รอบทุกๆการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 2 รอบ และเป็นผู้คำนวณวิธีนำยานอวกาศเข้าสู่วงโคจรของดาวพุธด้วยการบินเฉียดใกล้ดาวหลายครั้งซึ่งนำความสำเร็จให้กับโครงการ Mariner 10 เมื่อ 45 ปีก่อนมาแล้ว

 

ข้อมูลและภาพจาก esa, newatlas

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *