นักนิเวศวิทยา Paul Rogers จากมหาวิทยาลัยยูทาห์และทีมงานได้ทำการศึกษาการเจริญเติบโตของ Pando ตรวจนับจำนวนต้นแอสเพนที่ยังมีชีวิต จำนวนต้นที่ตาย และจำนวนต้นที่เติบโตขึ้นใหม่ และข้อมูลประกอบอื่นๆ พวกเขาพบว่า Pando เริ่มเสื่อมสภาพมาหลายทศวรรษแล้ว
ในช่วง 30 – 40 ปีหลังสุด Pando ไม่สามารถผลิตต้นใหม่ได้มากพอที่จะทดแทนต้นที่ตายไป สาเหตุสำคัญมาจากพวกสัตว์กินหญ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งกวางล่อ (Mule Deer) ได้เข้าไปกินหน่ออ่อนของมันเร็วกว่าที่มันจะเติบโตได้ทัน
การที่สัตว์เหล่านั้นสามารถเข้าไปกินต้นอ่อนใน Pando ได้เนื่องจากรั้วที่สร้างป้องกันเอาไว้ใช้ไม่ได้ผล ตอนทำโครงการกั้นรั้วใน Pando ใหม่ๆก็ดูมีความหวัง แต่เนื่องจากไม่มีการติดตามดูแลมันจึงป้องกันไม่ได้ ทีมวิจัยพบว่าสัตว์สามารถลอดผ่านรั้วไปได้
“หลังจากที่ได้ลงทุนไปไม่น้อยในการป้องกัน Pando เรารู้สึกผิดหวังที่ผลออกมาเป็นแบบนี้ พวกกวางล่อพบหนทางที่จะเข้าไปข้างในป่าผ่านทางจุดอ่อนของรั้วหรือกระโดดข้ามสิ่งกีดขวางสูง 8 ฟุตไปได้” Rogers กล่าว “Pando อยู่มาได้หลายหมื่นปี แต่มันกำลังจะตายท่ามกลางการเฝ้าดูของพวกเรา บทเรียนที่เราได้รับคือเราไม่สามารถบริหารจัดการสัตว์ป่าแยกส่วนกับป่าไม้ได้”
แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด หากดูจากภาพถ่ายทางอากาศจะพบว่ายังคงมีการตัดไม้ทำลายป่าโดยมนุษย์เพื่อสร้างบ้านและทำที่ตั้งแคมป์อยู่จนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้มนุษย์ยังมีส่วนรับผิดชอบต่อการเพิ่มจำนวนของกวางซึ่งในรัฐยูทาห์กวางมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปราบปรามผู้ล่ามันตามธรรมชาติในพื้นที่แถบนี้ เช่น หมาป่าและหมี เพราะว่าการล่าสัตว์ในพื้นที่นันทนาการอย่างเช่น Pando เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
เนื่องด้วยต้นแอสเพนที่โตแล้วมีอายุอยู่ได้ 100 -130 ปี ดังนั้นสิ่งที่ป่า Pando ต้องการคือเวลาที่มากขึ้นอีกเล็กน้อยเพื่อให้ต้นใหม่ของมันเติบโตได้ทันก่อนที่จะถูกพวกกวางกินเป็นอาหาร ทางเลือกที่ทำได้คือการทำรั้วที่ดีกว่าเดิมซึ่งสามารถป้องกันพวกกวางได้จริง อีกทางเลือกคือเปิดทางให้พวกนักล่ามืออาชีพเข้าไปลดจำนวนกวางลง หรืออาจจำเป็นต้องทำร่วมกันทั้งสองวิธี
ข้อมูลและภาพจาก sciencealert, iflscience