10 สุดยอดนักชีววิทยาผู้ยิ่งใหญ่ของโลกกับผลงานเด่นและวาทะเด็ด

นักชีววิทยาคือนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและความสัมพันธ์ที่สิ่งมีชีวิตมีต่อสิ่งแวดล้อม พวกเขาศึกษามนุษย์ พืช สัตว์ ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กพวกจุลินทรีย์ทั้งหลาย เพื่อให้เข้าใจถึงกลไกที่ควบคุมการทำงานของสิ่งมีชีวิตและปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด นักชีววิทยายังมีส่วนร่วมในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงกระบวนการและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยา อุตสาหกรรม รวมไปถึงการเกษตร ผลงานของนักชีววิทยามีส่วนสำคัญต่อองค์ความรู้และพัฒนาการในวงการแพทย์ เภสัชกรรม เกษตรกรรม อุตสาหกรรม รวมไปถึงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการดำรงชีวิตและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของมนุษย์ ในอดีตที่ผ่านมามีนักชีววิทยาชั้นนำมากมายที่ช่วยกันค้นคว้าและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ในทางชีววิทยาเพื่อประโยชน์ต่อมนุษยชาติตลอดมา

และต่อไปนี้คือ 10 สุดยอดนักชีววิทยาผู้ยิ่งใหญ่ของโลกกับผลงานเด่นและวาทะเด็ดของพวกเขา

1. ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) charles-darwins-1

ชาลส์ ดาร์วิน (คศ. 1809 – 1882) เป็นนักธรรมชาติวิทยา นักธรณีวิทยา และนักชีววิทยาชาวอังกฤษ เป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นในเรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ดาร์วินเป็นผู้ทำการปฏิวัติความเชื่อเดิมๆเกี่ยวกับที่มาของสิ่งมีชีวิต และเสนอทฤษฎีซึ่งเป็นทั้งรากฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ และหลักการพื้นฐานของกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) ดาร์วินอธิบายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ถูกกำหนดโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่จุดชนวนให้เกิดการโต้เถียงขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน

ดาร์วินสนใจเกี่ยวกับธรรมชาติตั้งแต่วัยเด็ก ชอบการทดลองเกี่ยวกับสัตว์และพืช เขาศึกษาด้านธรรมชาติวิทยามาโดยตลอด จนกระทั่งได้รับเชิญเข้าร่วมเดินทางสำรวจทางทะเลทั่วโลกกับเรือบีเกิล (HMS Beagle) เป็นเวลา 5 ปี ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้กับสิ่งมีชีวิตในภูมิภาคที่แตกต่างกัน เขาได้ศึกษาอย่างละเอียดและทำวิจัยเพิ่มเติมต่อเนื่อง และได้พิมพ์หนังสือชื่อ The Origin of Species (กำเนิดของสรรพชีวิต) ซึ่งเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา ช่วงแรกมีการโต้แย้งต่อต้านผลงานของเขาอย่างมากโดยเฉพาะจากฝ่ายศาสนจักร อีกหลายสิบปีต่อมาจึงเป็นที่ยอมรับและให้การยกย่อง นอกจากนี้เขายังมีผลงานเรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์และการคัดเลือกทางเพศ และผลงานอื่นๆอีกมาก ดาร์วินได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

ผลงานเด่น :

– ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Theory of natural selection)
– หนังสือการสืบเชื้อสายของมนุษย์และการคัดเลือกโดยสัมพันธ์กับเพศ (The Descent of Man, and Selection in Relation to Sex)

วาทะเด็ด :

– “A man’s friendships are one of the best measures of his worth.” → มิตรภาพคือหนึ่งในวิธีวัดคุณค่าของมนุษย์ที่ดีที่สุด
– “I love fools’ experiments. I am always making them.” → ผมชอบการทดลองโง่ๆนะ ผมมักจะทำมันบ่อยๆด้วยสิ

charles-darwin-2

 

2. เกรเกอร์ เมนเดล (Gregor Mendel)gregor-mendel-1

เกรเกอร์ เมนเดล (ค.ศ. 1822 – 1884) เป็นบาทหลวงและนักพฤกษศาสตร์ชาวออสเตรียผู้ค้นพบกฎการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมอันเป็นพื้นฐานสำคัญของวิชาพันธุศาสตร์สมัยใหม่ เมนเดลทำการทดลองผสมพันธ์ุต้นถั่วต่างพันธุ์ที่มีลักษณะบางอย่างแตกต่างกันจากต้นถั่วหลายสิบชนิด ใช้เวลานาน 8 ปี ทำการทดลองนับพันครั้ง ศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมที่การถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ได้ผลสรุปที่กลายเป็นกฎของเมนเดล (Mendelian inheritance) ซึ่งประกอบด้วยกฎแห่งการแยกตัว, กฎแห่งการรวมกลุ่มกันอย่างอิสระ และกฎแห่งลักษณะเด่นซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการใช้คณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์พันธุกรรม

แม้ว่าผลงานจากการทดลองอย่างยาวนานของเมนเดลจะถูกนำเสนอในที่ประชุมทางวิทยาศาสตร์ในปี 1865 และได้รับการตีพิมพ์ในปีต่อมา แต่กลับได้รับความสนใจไม่มากนัก งานของเขาถูกละเลยไปกว่า 35 ปี จนกระทั่งในราวปี 1900 มีนักวิทยาศาสตร์ 3 คนที่อยู่คนละประเทศได้ทำการทดลองผสมพันธุ์พืชชนิดอื่นแล้วได้ผลการทดลองตรงกับที่เมนเดลเคยรายงานไว้ ทำให้เมนเดลเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียง ในปี 1868 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสซึ่งต้องใช้เวลากับการบริหารงานหลายอย่าง งานทางด้านวิทยาศาสตร์จึงต้องเลิกไป แต่ด้วยผลงานยิ่งใหญ่ในการค้นพบกฎการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมเมนเดลจึงได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งพันธุศาสตร์สมัยใหม่”

ผลงานเด่น :

– ค้นพบกฎการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม

วาทะเด็ด :

– “My scientific studies have afforded me great gratification; and I am convinced that it will not be long before the whole world acknowledges the results of my work.” → การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทำให้ผมได้รับความพึงพอใจอย่างมาก และผมก็เชื่อว่าอีกไม่นานทั้งโลกจะยอมรับผลงานของผม

gregor-mendel-2

 

3. หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)louis-pasteur-1

หลุยส์ ปาสเตอร์ (ค.ศ. 1822 – 1895) นักเคมีและนักจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศส ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เป็นผู้ที่ค้นพบว่าการเน่าเสียของอาหารเกิดจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เขาเรียกว่าจุลินทรีย์ ปาสเตอร์พบว่าจุลินทรีย์ส่งผลเสียมากมายทำให้เขาทำการค้นคว้าเกี่ยวกับจุลินทรีย์อย่างต่อเนื่องจนค้นพบวิธีการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ด้วยวิธีพาสเจอร์ไรส์(Pasteurization) การค้นพบนี้ทำให้สาขาวิชาจุลชีววิทยาโดดเด่นก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว

ต่อมาปาสเตอร์ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับโรคระบาดในสัตว์ และได้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคที่ร้ายแรงที่สุดตอนนั้นคือโรคแอนแทรกซ์ได้สำเร็จ ตามด้วยการค้นคว้าหาวัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรคในไก่ แต่การค้นพบวัคซีนที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุดคือวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าซึ่งเป็นโรคที่ทำให้คนตายไปพอสมควร และจากการพบวัคซีนนี้ทำให้ค้นพบวัคซีนป้องกันโรคอีกมากมาย เช่น อหิวาตกโรค วัณโรค และโรคคอตีบ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์เป็นอย่างมาก ปีค.ศ. 1888 ปาสเตอร์ได้ก่อตั้งสถาบันปาสเตอร์ (Pasteur Institute) ขึ้นที่กรุงปารีส จากนั้นสถาบันปาสเตอร์ก็ได้ก่อตั้งขึ้นอีกหลายแห่งในประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยภายใต้ชื่อ “สถานเสาวภา” เพื่อใช้เป็นสถานที่ทดลองค้นคว้าเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคติดต่อชนิดต่างๆ

ผลงานเด่น :

– คิดค้นวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
– ค้นพบจุลินทรีย์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเน่าเสีย
– คิดค้นวิธีการทำพาสเจอร์ไรซ์

วาทะเด็ด :

– “Fortune favors the prepared mind.” → โชคชะตามีไว้สำหรับคนที่เตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว
– “Science knows no country, because knowledge belongs to humanity, and is the torch which illuminates the world.” → วิทยาศาสตร์ไม่รู้จักประเทศ เพราะความรู้เป็นของมนุษยชาติและเป็นไฟฉายที่ส่องสว่างแก่โลก

louis-pasteur-2

 

4. อริสโตเติล (Aristotle)aristotle-1

อริสโตเติล (384 – 322 ก่อนคริสต์ศักราช) เป็นนักปรัชญาคนสำคัญในยุคกรีกโบราณ เป็นศิษย์เอกของเพลโต เป็นอาจารย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ในสมัยที่อริสโตเติลมีชีวิตอยู่นั้นวิทยาศาสตร์ไม่ค่อยได้รับความสนใจเพราะผู้คนยังไม่เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นได้อย่างไร แต่อริสโตเติลสนใจศึกษาและเจนจบในหลากหลายสาขาวิชาทั้งฟิสิกส์ อภิปรัชญา จริยธรรม ชีววิทยา และสัตววิทยา เป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับชีวิตสัตว์และจัดแบ่งประเภทสัตว์อย่างเป็นระบบ แม้ทฤษฎีของเขาบางอย่างที่ภายหลังได้รับการพิสูจน์ว่าผิดเช่น ความเชื่อที่ว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าในสมัยสองพันกว่าปีก่อนนั้นยังไม่มีกล้องโทรทรรศน์เลย แต่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นนักสังเกตและนักคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะแนวคิดทางปรัชญาที่ได้รับการยอมรับจากผู้คนจำนวนมาก

อริสโตเติลได้รับการยกย่องว่าเป็นคนแรกที่เป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง เป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์และบิดาแห่งชีววิทยา อริสโตเติลเขียนหนังสือไว้มากมายเป็น 1,000 เล่ม แนวคิดและงานเขียนของเขามีอิทธิพลต่อผู้คนและความเชื่อในศาสนาคริสต์จนถึงยุคกลางเป็นเวลานานถึง 1,500 ปี

ผลงานเด่น :

– ทฤษฎีทางด้านชีววิทยาและการจำแนกสัตว์ออกเป็น 2 พวกใหญ่คือพวกมีกระดูกสันหลัง (Vertebrates) และพวกไม่มีกระดูกสันหลัง (Invertebrates)
– หนังสือที่เขาเขียนในสรรพวิชาที่เป็นแนวคิดหลักให้แก่คนรุ่นหลัง

วาทะเด็ด :

– “Quality is not an act, it is a habit.” → คุณภาพไม่ใช่การกระทำ หากแต่มันเป็นนิสัย
– “The roots of education are bitter, but the fruit is sweet.” → รากของการศึกษาอาจจะขม แต่ผลของมันนั้นหวานฉ่ำ

aristotle-2

 

5. โรเบิร์ต ฮุค (Robert Hooke)robert-hooke-1

โรเบิร์ต ฮุค (ค.ศ. 1635 – 1703) เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขารวมทั้งเป็นสถาปนิกด้วย ฮุคใช้กล้องจุลทรรศน์สังเกตพบโครงสร้างเล็กๆของไม้คอร์กที่ถูกเฉือนเป็นแผ่นบางๆมีลักษณะเป็นห้องเล็กๆคล้ายรังผึ้ง เขาตั้งชื่อว่ามันว่าเซลล์ (Cell) นั่นเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบเซลล์ของสิ่งมีชีวิต เขารวบรวมผลงานการศึกษาสิ่งต่างๆด้วยกล้องจุลทรรศน์ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Micrographia ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญและมีอิทธิพลต่อการศึกษาด้านชีววิทยาอย่างมาก นอกจากนี้เขายังค้นพบว่าฟอสซิลเป็นซากของสิ่งมีชีวิตและเชื่อว่าฟอสซิลจะให้ร่องรอยของความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตบนโลกในอดีตที่ผ่านมา

ผลงานด้านชีววิทยาเป็นเพียงส่วนหนึ่งในผลงานของเขา เพราะฮุคมีผลงานด้านอื่นอีกมาก เขาเป็นผู้ค้นพบกฎของความยืดหยุ่น (Hooke’s Law) อันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของวัสดุ เป็นผู้คิดค้นขดลวดสปริงที่ใช้ในนาฬิกาข้อมือ เป็นผู้ประดิษฐ์ข้อต่ออ่อน (Universal joint) ที่ใช้ในระบบส่งกำลังของเครื่องยนต์และมอเตอร์ เป็นผู้ค้นพบปรากฏการณ์การหักเหของแสง (Refraction) รวมทั้งยังมีผลงานด้านดาราศาสตร์อีกหลายอย่าง นอกจากนี้ฮุคในฐานะสถาปนิกเขายังเป็นหนึ่งในผู้สำรวจและสร้างกรุงลอนดอนขึ้นใหม่หลังเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อปี 1666 มีผลงานการออกแบบอาคารจำนวนมาก ด้วยความรู้ความสามารถในหลากหลายสาขาเขาจึงได้รับการยกย่องเป็นพหูสูต เจ้าของฉายา “Renaissance Man” แห่งศตวรรษที่ 17

ผลงานเด่น :

– ค้นพบเซลล์ของสิ่งมีชีวิต
– ตีพิมพ์หนังสือ Micrographia
– ผู้ค้นพบกฎของความยืดหยุ่น
– ประดิษฐ์ขดลวดสปริงและข้อต่ออ่อน

วาทะเด็ด :

– “By the help of microscopes, there is nothing so small, as to escape our inquiry; hence there is a new visible world discovered to the understanding.” → ด้วยความช่วยเหลือของกล้องจุลทรรศน์ ไม่มีอะไรที่เล็กมากจนหลีกหนีการค้นหาของเราได้ ดังนั้นจึงมีโลกใหม่ที่มองเห็นได้ถูกค้นพบเพื่อความรู้ความเข้าใจ

robert-hooke-2

 

6. ราเชล คาร์สัน (Rachel Carson)rachel-carson-1

ราเชล คาร์สัน (ค.ศ. 1907 – 1964) เป็นนักชีววิทยาทางทะเลและนักอนุรักษ์ชาวอเมริกันผู้สร้างแรงกระตุ้นผ่านทางหนังสือของเธอทำให้เกิดการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก คาร์สันเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่ยังเป็นนักชีววิทยาที่สำนักประมงสหรัฐ ผลงานเล่มแรก Under the Sea Wind ที่เขียนถึงพฤติกรรมของปลาและนกทะเลยังไม่ค่อยได้รับความนิยม แต่เล่มถัดมา The Sea Around Us ที่เขียนเกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเลตั้งแต่ยุคแรกเริ่มถึงล่าสุด กลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับและได้รับรางวัลหนังสือแห่งชาติประจำปี 1952 และส่งผลให้หนังสือเล่มแรกเป็นหนังสือขายดีไปด้วย และยังตามมาด้วยหนังสือเล่มที่สาม The Edge of the Sea ซึ่งเป็นหนังสือขายดีเช่นกัน

คาร์สันใช้เวลาหลายปีในการศึกษาวิจัยผลกระทบและอันตรายที่เกิดจากการใช้สารเคมีกำจัดแมลงและศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉีดสเปรย์ DDT ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม จากนั้นเธอได้เขียนหนังสือเล่มสำคัญที่สุด Silent Spring ซึ่งได้อธิบายจนเห็นภาพชัดถึงอันตรายของสารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืชแต่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสัตว์อื่นที่ไม่ใช่เป้าหมายการกำจัด รวมทั้งต่อมนุษย์เองด้วย หนังสือเล่มนี้ทำให้เกิดการโต้เถียงครั้งใหญ่ของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายและก่อให้เกิดกระแสต่อต้านการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช จนรัฐบาลสหรัฐได้ก่อตั้งหน่วยงาน EPA ขึ้นมาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศ และทำให้เกิดการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวางทั่วโลก ผลงานของคาร์สันนับว่าได้สร้างคุณประโยชน์ต่อชาวโลกอย่างมาก

ผลงานเด่น :

– เขียนหนังสือ Silent Spring ที่กระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลก
– เขียนหนังสือเกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเลหลายเล่ม

วาทะเด็ด :

– “But man is a part of nature, and his war against nature is inevitably a war against himself.” → แต่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ, และการทำสงครามกับธรรมชาติของมนุษย์ก็คือการทำสงครามกับตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

rachel-carson-2

 

7. อันโตนี ฟัน เลเวินฮุก (Antonie van Leeuwenhoek)antonie-van-leeuwenhoek-1

อันโตนี ฟัน เลเวินฮุก (ค.ศ. 1632 – 1723) เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวดัตช์ผู้คนพบแบคทีเรียเป็นคนแรกและเป็นผู้เปิดโลกแห่งจุลชีววิทยา จากการเป็นคนขายผ้าฟัน เลเวินฮุกเรียนรู้วิธีฝนเลนส์และพัฒนาเลนส์ให้มีกำลังขยายสูง แล้วนำมาประกอบเป็นกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายถึง 300 เท่าได้เป็นคนแรก เขาใช้กล้องจุลทรรศน์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเองส่องพบแบคทีเรียและจุลินทรีย์อีกมากมายหลายชนิดเป็นคนแรก รวมทั้งเซลล์เม็ดเลือดแดง, การไหลของเลือดในเส้นเลือดฝอย และยังได้ศึกษาวงจรชีวิตของสัตว์ขนาดเล็กอีกหลายชนิด เขาเขียนจดหมายรายงานสิ่งที่ค้นพบแก่ราชสมาคมแห่งลอนดอน (Royal Society) ซึ่งเมื่อพิสูจน์ว่าเป็นจริงก็ให้การยอมรับและยกย่องโดยได้รับเลือกเป็นสมาชิกอันทรงเกียรติของสมาคม

แม้ว่าฟัน เลเวินฮุกไม่เคยตีพิมพ์ผลงานของเขาแต่จดหมายที่เขาเขียนรายงานผลงานการค้นคว้าตลอดหลายสิบปีต่อราชสมาคมแห่งลอนดอนจำนวนเกือบ 200 ฉบับและจดหมายที่เขียนถึงสถาบันวิทยาศาสตร์อื่นอีกหลายร้อยฉบับได้แสดงถึงผลงานอันยิ่งใหญ่ของเขา และเมื่อราชสมาคมได้ตีพิมพ์จดหมายของเขาสิ่งที่เขาค้นพบซึ่งเป็นความรู้ใหม่ทางชีววิทยาที่น่าตื่นตาตื่นใจก็เผยแพร่ไปทั่วโลก เขาจึงกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงที่มีโอกาสต้อนรับบุคคลสำคัญระดับโลกหลายคนที่สนใจและไปดูผลงานถึงที่บ้านของเขา อย่างเช่น พระเจ้าปีเตอร์มหาราชแห่งรัสเซียและพระราชินีของอังกฤษ เป็นต้น ฟัน เลเวินฮุกได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งจุลชีววิทยา”

ผลงานเด่น :

– ค้นพบแบคทีเรียและจุลินทรีย์หลายชนิดเป็นคนแรก
– ประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง

วาทะเด็ด :

– “A man has always to be busy with his thoughts if anything is to be accomplished.” → มนุษย์มักจะยุ่งอยู่กับความคิดของเขาเสมอถ้าหากมีอะไรที่จะสำเร็จ

antonie-van-leeuwenhoek-2

 

8. อี โอ วิลสัน (E. O. Wilson)e-o-wilson-1

อี โอ วิลสัน (ค.ศ. 1929 – ปัจจุบัน) เป็นนักชีววิทยาชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเรื่องมด, ชีววิทยาสังคม และความหลากหลายทางชีวภาพ วิลสันเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนาน 40 ปี ศึกษาวิวัฒนาการของมดและการพัฒนาไปสู่สปีชีส์ใหม่ เขาเป็นผู้คนพบวิธีการติดต่อสื่อสารของมดด้วยสารฟีโรโมน วิลสันศึกษาวิจัยและพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับชีวภูมิศาสตร์และทฤษฎีด้านระบบนิเวศวิทยา เขามีผลงานการศึกษาด้านชีววิทยาสังคมทั้งของสัตว์และมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยีนส์

ผลงานของวิลสันที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างคือการเขียนหนังสือ เขาตีพิมพ์หนังสือจากผลงานการค้นคว้าวิจัยของเขาจำนวนมาก ได้แก่ The Theory of Island Biogeography, Sociobiology: The New Synthesis รวมทั้งหนังสือเล่มดัง On Human Nature ที่เขียนเกี่ยวกับบทบาทของชีววิทยาในวิวัฒนาการของวัฒนธรรมของมนุษย์และ The Ants ที่เขียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของมดซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prizes) ถึง 2 ครั้ง วิลสันยังมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการรณรงค์ห้ามตัดไม้ทำลายป่าเพื่อรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต วิลสันได้รับยกย่องเป็น “บิดาแห่งชีววิทยาสังคม” และ “บิดาแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ”

ผลงานเด่น :

– วิวัฒนาการและพฤติกรรมของมด
– ทฤษฎีชีวภูมิศาสตร์และนิเวศวิทยา
– รางวัลพูลิตเซอร์ 2 ครั้ง

วาทะเด็ด :

– “Nature holds the key to our aesthetic, intellectual, cognitive and even spiritual satisfaction.” → ธรรมชาติกุมหัวใจสำคัญของความพึงพอใจในด้านสุนทรียศาสตร์, ภูมิปัญญา, ความรู้ความเข้าใจ และแม้กระทั่งจิตวิญญาณของพวกเรา

e-o-wilson-2

 

9. เจมส์ วัตสัน (James Watson)james-watson-1

เจมส์ วัตสัน (ค.ศ. 1928 – ปัจจุบัน) เป็นนักอณูชีววิทยาชาวอเมริกันหนึ่งในผู้ค้นพบโครงสร้างโมเลกุลของดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิต วัตสันทำการศึกษาหาโครงสร้างของดีเอ็นเอร่วมกับ Francis Crick โดยอาศัยข้อมูลสำคัญในภาพถ่ายจากเครื่องวิเคราะห์การเลี้ยวเบนของรังสีเอ็กซ์ของ Rosalind Franklin ผู้กำลังศึกษาเรื่องเดียวกันอยู่กับ Maurice Wilkins วัตสันกับ Crick คิดค้นจนได้ข้อสรุปว่าดีเอ็นเอมีโครงสร้างเป็นสายพันกันเป็นเกลียวคู่ (double helix) เวียนขวาตามเข็มนาฬิกา โดยมีคู่เบสเชื่อมยึดระหว่างสาย มีลักษณะคล้ายบันไดเวียน ผลงานนี้ทำให้วัตสันและ Crick ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ และเป็นจุดเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์เมื่อความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับพื้นฐานของชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง ถือเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของชีววิทยา

นอกเหนือจากผลงานการทำวิจัยในฐานะนักอณูชีววิทยาแล้ววัตสันยังมีผลงานที่โดดเด่นคือการเขียนหนังสือ เขาตีพิมพ์หนังสือหลายเล่มที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคือหนังสือ The Double Helix ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นหนังสือยอดเยี่ยมลำดับต้นๆแห่งศตวรรษที่ 20 วัตสันยังมีบทบาทสำคัญในโครงการจีโนมมนุษย์ซึ่งเป็นการจัดทำแผนที่ของจีโนมหรือดีเอ็นเอทั้งหมดของมนุษย์อย่างละเอียด อีกทั้งจีโนมของตัววัตสันเองยังได้รับการเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตเป็นคนแรกๆอีกด้วย วัตสันเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้สร้างประโยชน์ให้กับวงการชีววิทยาเป็นอย่างมาก

ผลงานเด่น :

– ค้นพบโครงสร้างโมเลกุลดีเอ็นเอ
– รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์
– หนังสือ The Double Helix

วาทะเด็ด :

– “Knowing “why” (an idea) is more important than learning “what” (the fact).” → การรู้ว่า “ทำไม” (ความคิด) สำคัญกว่าการเรียนรู้ว่า “อะไร” (ความจริง)

james-watson-2

 

10. อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (Alexander Fleming)alexander-fleming-1

อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (ค.ศ. 1881 – 1955) เป็นนายแพทย์และนักชีววิทยาชาวสก็อตผู้ค้นพบเพนนิซิลินซึ่งนำไปสู่การพัฒนายาปฏิชีวนะตัวแรกของโลก จากการที่เฟลมมิงได้เห็นทหารเสียชีวิตจำนวนมากจากภาวะติดเชื้อในสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาจึงมุ่งทำวิจัยค้นคว้าหายาฆ่าเชื้อ ปี 1921 เฟลมมิงค้นพบเอนไซม์ไลโซไซม์ (Lysozyme) ในน้ำมูกและน้ำตาของคนซึ่งทำให้เข้าใจวิธีที่ร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อ แต่ไลโซไซม์ฆ่าเชื้อได้แค่บางอย่างและไม่มีผลกับแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง เฟลมมิงจึงต้องพยายามต่อไป จนอีก 7 ปีต่อมาเขาจึงค้นพบเพนนิซิลินได้โดยบังเอิญ

เดือนสิงหาคม ปี 1928 ก่อนไปพักผ่อนกับครอบครัวในวันหยุดยาวเฟลมมิงได้นำจานเพาะเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus ที่เขากำลังศึกษาคุณสมบัติวางกองรวมไว้ที่มุมหนึ่งของห้องแล็บ เมื่อกลับมาเขาพบว่าจานเพาะเชื้อจานหนึ่งมีการปนเปื้อนของเชื้อราสีเขียว แต่แทนที่จะทิ้งมันไปเขากลับพิจารณาโดยละเอียดแล้วพบว่าเชื้อราอาจฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ เขาจึงเพาะเชื้อรานำมาทดลองแล้วพบว่ามันผลิตสารที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงได้ เขาตั้งชื่อสารนี้ว่า “เพนนิซิลิน” ปีถัดมาเขาตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานการค้นพบ ต่อมามีผู้สามารถสกัดสารเพนนิซิลินบริสุทธิ์ได้และถูกนำไปผลิตเป็นยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลก ถือเป็นการปฏิวัติวงการแพทย์ ยาเพนนิซิลินช่วยเหลือผู้ติดเชื้อนับล้านคนจนถึงปัจจุบัน จากผลงานการค้นพบเพนนิซิลินทำให้เฟลมมิงได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์และยังได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินอีกด้วย

ผลงานเด่น :

– ค้นพบเอนไซม์ไลโซไซม์
– ค้นพบเพนนิซิลิน
– รางวัลโนเบลสาขาการแพทย์

วาทะเด็ด :

– “The unprepared mind cannot see the outstretched hand of opportunity.” → จิตใจที่ไม่ได้ตระเตรียมเอาไว้ไม่สามารถมองเห็นโอกาสที่หยิบยื่นมาให้

alexander-fleming-2

 

ข้อมูลและภาพจาก   elist10, britannica, wikipedia

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *