1. วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh)
แวนโก๊ะเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ผลงานของเขาโดดเด่นด้วยความงดงาม เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก และมีสีสันสดใส แต่ชีวิตจริงของเขากลับหม่นหมองทุกข์ระทม เขาเกิดที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี 1853 เป็นเด็กที่เคร่งขรึมจริงจังและคิดมาก เขาต้องทำงานหลายอย่างตั้งแต่เป็นวัยรุ่น แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ ก่อนที่จะหันมาสนใจและเริ่มต้นเขียนภาพในวัย 27 ปี และในปี 1885 เขาก็มีผลงานสำคัญชิ้นแรกคือ The Potato Eaters
ปี 1886 แวนโก๊ะย้ายไปอยู่ที่กรุงปารีสที่ซึ่งเขาได้เรียนรู้เทคนิคและแนวทางใหม่ในการเขียนภาพ ได้พบกับศิลปินยุคนั้นหลายคนรวมทั้งปอล โกแก็ง เขาได้พัฒนาฝีมือในการเขียนภาพและสร้างแนวทางของตัวเองที่มีสีสันสดใสขึ้น ต่อมาในปี 1888 เขาย้ายไปอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสที่เมือง Arles และ Saint-Rémy ที่อยู่ใกล้กัน สองปีที่นี่เป็นจุดสูงสุดของการเป็นศิลปินของแวนโก๊ะ เขาสร้างผลงานชั้นยอดมากมายที่นี่ เช่น Sunflowers, Café Terrace at Night, Irises รวมทั้งผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา The Starry Night
แวนโก๊ะต้องทนทุกข์กับความเจ็บป่วยและอาการโรคจิตผิดปกติ เขาไม่ค่อยใส่ใจต่อสุขภาพ ไม่ค่อยกินอาหารแต่ดื่มจัด เคยคลุ้มคลั่งถึงขั้นใช้มีดโกนตัดใบหูข้างซ้ายของตัวเอง จนในที่สุดเขาก็จบชีวิตด้วยการยิงตัวเองเมื่อปี 1890 ด้วยวัยเพียงแค่ 37 ปี
แวนโก๊ะเหมือนเป็นผู้แพ้ตลอดมา ชีวิตล้มเหลว ถูกประนามว่าเป็นคนบ้า แต่ในช่วงเวลาเพียง 10 ปีของการเป็นจิตรกร เขามีผลงานภาพเขียนกว่า 800 ภาพ แม้ว่าตลอดชีวิตเขาจะขายภาพเขียนได้เพียงภาพเดียว คนซื้อยังเป็นเพื่อนศิลปินของเขาเอง แต่จากฝีแปรงที่หยาบและหนาไม่เหมือนใครกลับถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างยอดเยี่ยม กลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น หลังจากเขาเสียชีวิตภาพเขียนของเขากลับโด่งดังเป็นที่ต้องการ แต่ละภาพถูกซื้อขายด้วยราคาที่แพงลิบลิ่ว
10 ผลงานชิ้นเอกของวินเซนต์ แวนโก๊ะ
แรมบรันต์เป็นทั้งจิตรกร ช่างพิมพ์ และช่างเขียนแบบ เป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะ ผลงานของเขามีส่วนทำให้เนเธอร์แลนด์เข้าสู่ยุคทองที่รุ่งเรืองสุดขีดในช่วงศตวรรษที่ 17 แรมบรันต์ศึกษาและเรียนศิลปะที่บ้านเกิดจนอายุได้ 19 ปี จึงไปเรียนศิลปะที่อัมสเตอร์ดัมช่วงสั้นๆกับศิลปินดังยุคนั้น แล้วกลับมาทำงานเป็นศิลปินที่บ้านเกิด เขามีชื่อเสียงตั้งแต่วัยเยาว์ มีลูกศิษย์คนแรกที่ต่อมาเป็นศิลปินดังเช่นกันตั้งแต่อายุ 22 ปี
ปี 1632 แรมบรันต์ย้ายไปปักหลักอยู่ที่อัมสเตอร์ดัม แต่งงานและมีสตูดิโอของตัวเอง สร้างผลงานชั้นยอดมากมายที่นี่ เช่น The Anatomy Lesson of Dr. Nicolaes Tulp, Danaë และ The Night Watch ที่เป็นผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขา
ผลงานของแรมบรันต์มีเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่องแสงและเงา ที่ทำให้ภาพสวยงามดูมีมิติ สามารถบอกระยะตื้นลึกของภาพได้เสมือนจริง เป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์และนักศิลปศาสตร์จนนำชื่อของเขามาใช้เป็นหนึ่งในประเภทของการจัดแสงถ่ายภาพคือ Rembrandt Lighting
แม้ว่าแรมบรันต์จะประสบความสำเร็จในการเป็นศิลปิน คุณครู และผู้แทนจำหน่ายงานศิลปะ แต่ด้วยการใช้ชีวิตที่โอ่อ่าอวดรวยจึงทำให้เขากลายเป็นบุคคลล้มละลายในปี 1656 ทรัพย์สมบัติของเขารวมถึงของสะสมที่เป็นงานศิลปะและวัตถุโบราณถูกนำออกประมูลขายเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ กระนั้นก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบกับการทำงานเลย เขายังคงสร้างผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตในปี 1669
10 ผลงานชิ้นเอกของแรมบรันต์
3. โยฮัน เฟอร์เมร์ (Johan Vermeer)
เฟอร์เมร์ เป็นชาวดัตช์ เกิดเมื่อปี 1632 ที่เมืองเดลฟท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เขาแต่งงานมีครอบครัวและอาศัยอยู่ที่เมืองเดลฟท์ตลอดชีวิต ไม่มีใครรู้เรื่องราวของเขามากนัก รู้เพียงว่าเขาทุ่มเทให้กับการเขียนภาพ เขาทำงานอย่างช้าๆด้วยความประณีต ประกอบกับเสียชีวิตไปด้วยวัยเพียง 43 ปี จึงมีผลงานค่อนข้างน้อย
เฟอร์เมร์ถูกลืมไปเกือบสองร้อยปีเนื่องจากผลงานของเขาถูกคิดว่าเป็นผลงานของคนอื่น จนกระทั่งในปี 1866 มีงานวิจัยของ Thoré-Bürger ที่เป็นนักวิจารณ์งานศิลปะได้ระบุว่ามีชิ้นงานกว่า 70 ภาพเป็นผลงานของเฟอร์เมร์ (ปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานของเฟอร์เมร์ 34 ภาพ) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชื่อเสียงของเฟอร์เมร์ก็เริ่มโด่งดังขึ้น ได้รับการยกย่องว่าเป็นจิตรกรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในสมัยยุคทองของเนเธอร์แลนด์ ทัดเทียมกับแรมบรันต์
ผลงานของเฟอร์เมร์มีเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่องการจัดแสง ภาพเขียนของเฟอร์เมร์ได้รับการยกย่องว่าเหมือนจริงที่สุด เหมือนกับภาพถ่ายมากที่สุด ซึ่งมาจากความประณีตในการเขียนภาพและเทคนิคการจัดแสงที่ยอดเยี่ยมของเขา จนช่างภาพในยุคหลังนิยมเอาเทคนิคการจัดแสงของเขามาใช้ในการถ่ายภาพ อย่างเช่นภาพ Girl With A Pearl Earring ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในผลงานของเขา สาวน้อยในภาพเหลียวหลังกลับมาในจังหวะที่แสงสาดมาตกกระทบทำมุมพอดีกับฉากหลังที่เป็นสีมืดทึบ ทำให้เธอโดดเด่นเป็นที่ชื่นชอบลุ่มหลงของผู้คนทั่วโลก
10 ผลงานชิ้นเอกของโยฮัน เฟอร์เมร์
4. ยัน ฟัน ไอก์ (Jan van Eyck)
ยัน ฟัน ไอก์ เป็นศิลปินคนสำคัญและเป็นหนึ่งในผู้สร้างจิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรกซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเริ่มต้นยุคเรอเนสซองส์ในอิตาลี เขาเป็นคนแรกๆที่ได้พัฒนาเทคนิคการเขียนภาพด้วยสีน้ำมันจนได้ผลงานที่ยอดเยี่ยม ยัน ฟัน ไอก์เกิดระหว่างปี 1380 – 1390 ที่เมือง Maaseik ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศเบลเยียม ปี 1422 – 1425 เขาเป็นจิตรกรของราชสำนักฮอลแลนด์ที่เมืองเฮก ต่อมาได้เป็นจิตรกรแห่งราชสำนักเบอร์กันดีอีกหลายปี จนถึงปี 1429 จึงย้ายไปอยู่ที่เมืองบรูชซึ่งเป็นเมืองหลวงของเขตเฟลมิชของประเทศเบลเยียมและอยู่ที่นั่นไปตลอดชีวิต
ผลงานชิ้นสำคัญของยัน ฟัน ไอก์คือฉากประดับแท่นบูชาเกนต์ (Ghent Altarpiece) ที่เป็นบานพับภาพขนาด 3.4 x 4.6 เมตร ประกอบด้วยภาพ 12 ภาพซึ่ง Hubert van Eyck ผู้เป็นพี่ชายของเขาเป็นผู้ออกแบบและวางโครงสร้างทั้งหมดของภาพแต่ต้องมาเสียชีวิตในปี 1426 ฟัน ไอก์ ผู้น้องจึงรับหน้าที่เป็นผู้เขียนภาพจนเสร็จหลังการเสียชีวิตของพี่ชาย 6 ปี แต่ละภาพของฉากประดับแท่นบูชาเกนต์ล้วนสวยงามน่าประทับใจ โดยเฉพาะ 3 ภาพตรงกลางแถวบนที่เป็นภาพของพระเยซู พระแม่มารี และนักบุญจอห์นนั้นเป็นภาพที่งดงามวิจิตรอย่างมาก นอกจากนี้ยัน ฟัน ไอก์ยังมีผลงานภาพเขียนแนวศาสนาที่ยอดเยี่ยมอีกมากมาย ที่โดดเด่นได้แก่ภาพ The Annunciation และ Madonna of Chancellor Rolin
ช่วงเวลาหลังจากเสร็จงานเขียนภาพฉากประดับแท่นบูชาเกนต์ถือเป็นช่วงสูงสุดในชีวิตการเป็นจิตรกรของยัน ฟัน ไอก์ เพราะเป็นช่วงที่เขาสร้างผลงานชั้นยอดออกมาอย่างต่อเนื่องมากมาย หนึ่งในนั้นคือภาพ The Arnolfini Portrait ซึ่งเป็นภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา ภาพนี้ถูกเขียนออกมาอย่างสวยงามมีมิติน่าประทับใจ ได้รับการยกย่องให้เป็นภาพต้นแบบและมีความซับซ้อนมากที่สุดภาพหนึ่งของจิตรกรรมตะวันตก ยัน ฟัน ไอก์ยังเป็นศิลปินอีกคนหนึ่งที่เขียนภาพเหมือนบุคคลได้อย่างยอดเยี่ยม ภาพ Man in a Red Turban, Portrait of a Man with a Blue Chaperon รวมทั้ง Portrait of Jan de Leeuw และอีกหลายภาพได้ยืนยันความสำเร็จในด้านนี้ของเขาได้เป็นอย่างดี ยัน ฟัน ไอก์เสียชีวิตในปี 1441 ที่เมืองบรูช
10 ผลงานชิ้นเอกของยัน ฟัน ไอก์
5. ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ (Peter Paul Rubens)
รูเบนส์ เป็นจิตรกรยุคบาโรกที่ได้รับการยกย่องว่ามีอิทธิพลมากที่สุดของเฟลมิช (เบลเยียม) สไตล์การเขียนภาพของเขามีเอกลักษณ์โดดเด่นที่ลักษณะการเคลื่อนไหว สีสัน และมีชีวิตชีวา มีความเชี่ยวชาญทั้งการเขียนภาพเหมือน ภาพทิวทัศน์ ภาพแนวศาสนาและเรื่องจากตำนาน รูเบนส์เกิดเมื่อปี 1577 ที่เมือง Siegen ประเทศเยอรมัน เนื่องจากครอบครัวหนีภัยการทำลายล้างทางศาสนา พอรูเบนส์อายุได้ 12 ปี หลังการตายของพ่อ 2 ปี เขาจึงกลับไปอยู่ที่เมืองแอนต์เวิร์ป (Antwerp) บ้านเกิดของพ่อ รูเบนส์เรียนศิลปะกับจิตรกรชั้นนำของเมืองแอนต์เวิร์ปหลายคน เรียนจบและเริ่มการเป็นมืออาชีพในปี 1598 ระหว่างปี 1600 – 1608 รูเบนส์พักอาศัยอยู่ในอิตาลีศึกษาผลงานของศิลปินชั้นครูหลายคนทั้งที่เวนิสและโรม เขาคัดลอกผลงานของศิลปินรุ่นเก่าและรับจ้างเขียนภาพไปด้วย ปี 1606 รูเบนส์มีผลงานที่ยอดเยี่ยมมากคือภาพ Portrait of Marchesa Brigida Spinola-Doria
ปลายปี 1608 รูเบนส์กลับมาที่เมืองแอนต์เวิร์ปและเปิดสตูดิโอของตัวเองรับงานเขียนภาพเหมือนบุคคลและเขียนภาพให้กับโบสถ์ต่างๆในเมือง ภาพเหมือนของตัวเองคู่กับภรรยา Isabella Brant ชื่อภาพ The Honeysuckle Bower ในโอกาสที่ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1609 นับเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมอีกชิ้นหนึ่ง ตลอดกว่า 10 ปีที่เขาเขียนภาพแนวศาสนาให้กับศาสนจักรมีผลงานชั้นยอดเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะภาพที่ฉากประดับแท่นบูชาของรูเบนส์มีความโดดเด่นมาก เช่น ภาพ The Descent from the Cross และภาพ The Elevation of the Cross เป็นต้น นอกจากนี้รูเบนส์ยังมีผลงานในแนวเรื่องจากตำนานและจากคัมภีร์ไบเบิลที่ยอดเยี่ยมอีกจำนวนมาก รวมทั้งภาพ Daniel in the Lions’ Den
ระหว่างปี 1621 – 1630 รูเบนส์ได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจด้านการทูต เขาต้องเดินทางไปมาหลายประเทศทั้งสเปน อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์เพื่อพยายามนำความสงบมาสู่เนเธอร์แลนด์ของสเปนและสาธารณรัฐดัตช์ ซึ่งเขาก็ทำหน้าที่ได้ดีจนได้รับตำแหน่งอัศวิน ปี 1630 หลังจากภรรยาเสียชีวิตได้ 4 ปี รูเบนส์ในวัย 53 ปีแต่งงานใหม่กับสาวน้อยวัย 16 ปี Helena Fourment และเธอผู้นี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับเขาในการเขียนภาพชิ้นเยี่ยมอีกหลายภาพซึ่งจะออกในแนวยั่วยวนกามารมณ์แต่ก็เป็นผลงานเลื่องชื่อของเขา อย่างเช่นภาพ The Judgement of Paris และภาพ The Three Graces ช่วงบั้นปลายชีวิตรูเบนส์ซื้อที่ดินนอกเมืองแอนต์เวิร์ปและใช้เวลาอยู่ที่นั่นค่อนข้างมาก พร้อมกับเขียนภาพทิวทัศน์ที่ยอดเยี่ยมไว้หลายภาพ รวมทั้งภาพ A View of Het Steen in the Early Morning เขาเสียชีวิตในปี 1640 ด้วยวัย 62 ปี
10 ผลงานชิ้นเอกของปีเตอร์ พอล รูเบนส์
6. ปีเตอร์ เบรอเคิล (Pieter Bruegel the Elder)
เบรอเคิล (ผู้พ่อ) เป็นศิลปินคนสำคัญที่สุดของดัตช์และเฟลมิช (เบลเยียม) ในยุคเรอเนสซองส์ เขาเป็นทั้งจิตรกรและช่างภาพพิมพ์ ผลงานภาพเขียนในแนวภาพทิวทัศน์และวิถีชีวิตแบบชาวชนบทของเขาโดดเด่นมาก งานเบรอเคิลมีอิทธิพลต่อการเข้าสู่ยุคทองแห่งจิตรกรรมของเนเธอร์แลนด์ ทั้งลูกและหลานของเขาต่างเป็นจิตรกรชื่อดังในสไตล์ที่แตกต่างกันจนถึงศตวรรษที่ 18 เบรอเคิลเกิดในราวปี 1525 – 1530 ที่เมือง Breda ทางตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์ เรียนศิลปะที่เมือง Antwerp นาน 5 ปี จากนั้นเดินทางไปอิตาลีเพื่อศึกษาและหาประสบการณ์เพิ่มเติม กลับมาที่ Antwerp ราวปี 1555 และเริ่มทำงานออกแบบและวาดภาพร่างสำหรับแกะสลักทำภาพพิมพ์ให้กับ Hieronymus Cock ภาพพิมพ์จากฝีมือการออกแบบและวาดภาพของเขาได้รับความนิยม Cock ขายภาพพิมพ์จากผลงานของเบรอเคิลไปทั่วยุโรปจำนวนหลายพันภาพ
ต่อมาเบรอเคิลหันมาสนใจสร้างผลงานภาพเขียนอย่างจริงจัง เขาเป็นคนแรกๆที่เลือกเขียนภาพทิวทัศน์และวิถีชีวิตคนแทนที่จะยึดติดอยู่กับการเขียนภาพเทพเจ้าหรือแนวความเชื่อทางศาสนา เริ่มมีผลงานที่โดดเด่นจากภาพ Netherlandish Proverbs ที่เสนอเรื่องราวตามสุภาษิตของชาวเนเธอร์แลนด์ ตามมาด้วยภาพทิวทัศน์ที่งดงามยิ่งในภาพ Landscape with the Fall of Icarus ที่เขียนจากตำนานซึ่งเป็นภาพเดียวที่เขาเขียนเกี่ยวกับเทพเจ้า ปี 1562 เบรอเคิลเขียนภาพที่น่าประทับใจยิ่งชื่อภาพ The Triumph of Death นำเสนอภาพมนุษยชาติถูกโจมตีโดยกองทัพแห่งความตาย สะท้อนความกลัวการมาถึงของวันสิ้นสุดของโลกได้อย่างน่าสนใจ
ปี 1563 เบรอเคิลแต่งงานและย้ายไปอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์อย่างถาวรตลอดชีวิต พร้อมกับสร้างผลงานชั้นยอดมากมาย อย่างเช่นภาพ The Tower of Babel ที่เขียนจากเรื่องในคัมภีร์ไบเบิล ผลงานภาพเขียนในช่วงบั้นปลายของชีวิตที่เสนอภาพทิวทัศน์ตามฤดูกาลพร้อมกับวิถีชีวิตของผู้คนหลายภาพมีความสวยงามและโดดเด่นมาก เช่น ภาพ The Hunters in the Snow และภาพ The Harvesters เป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่ศิลปินผู้โดดเด่นคนนี้ไม่มีโอกาสและเวลาที่ยาวนานในการสร้างผลงานเท่ากับศิลปินดังอีกหลายคน มิฉะนั้นเราอาจได้ชมผลงานที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่านี้ เบรอเคิลเสียชีวิตในช่วงสูงสุดของชีวิตการศิลปินเมื่อปี 1569 ด้วยวัยราว 40 ปีต้นๆเท่านั้น
10 ผลงานชิ้นเอกของปีเตอร์ เบรอเคิล
7. อันโตน ฟัน ไดก์ (Antoon van Dyck)
ฟัน ไดก์ เป็นศิลปินยุคบาโรกที่โดดเด่นของเฟลมิช (เบลเยียม) ผู้ซึ่งได้กลายเป็นจิตรกรเอกแห่งราชสำนักอังกฤษ และยังเป็นผู้ริเริ่มคนสำคัญในเรื่องการใช้สีน้ำและการทำภาพพิมพ์กัดกรด (Etching) เขาเกิดเมื่อปี 1599 ที่เมืองแอนต์เวิร์ปในครอบครัวที่มั่งคั่ง ฟัน ไดก์เรียนศิลปะกับจิตรกรในเมืองบ้านเกิด เขามีพรสวรรค์และพัฒนาการทางศิลปะสูงมาก อายุแค่ 16 ปีก็เปิดสตูดิโอเขียนภาพของตัวเองและได้รับการยอมรับเป็นศิลปินอาชีพก่อนอายุครบ 19 ปี เขาทำงานเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของ Peter Paul Rubens ศิลปินชาติเดียวกันที่กำลังดังสุดขีดอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะไปทำงานให้กับราชสำนักอังกฤษที่กรุงลอนดอนในปี 1620 ที่นี่เขาได้เห็นผลงานของ Titian ซึ่งมีส่วนในการพัฒนาการเขียนภาพของเขา
ปี 1621 เขาไปปักหลักอยู่ที่เมืองเจนัวรับงานเขียนภาพและเดินทางไปยังหลายเมืองในอิตาลีเพื่อศึกษาผลงานของศิลปินชั้นครู ฟัน ไดก์เขียนภาพในหลากหลายแนวทั้งเรื่องจากพระคัมภีร์ เรื่องจากตำนาน แต่งานที่โดดเด่นของเขาคือการเขียนภาพเหมือนบุคคล ตลอดกว่า 10 ปีที่อยู่ในอิตาลีเขาเขียนภาพเหมือนจำนวนมากซึ่งล้วนเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมโดยเฉพาะภาพ Marchesa Elena Grimaldi สวยงามน่าประทับใจมาก จนถึงปี 1632 ฟัน ไดก์ที่ยังคงติดต่อกับราชสำนักอังกฤษอยู่เสมอได้กลับไปเขียนภาพให้กับราชสำนักอังกฤษอีกครั้ง และคราวนี้ทำให้เขาขึ้นถึงจุดสูงสุดของชีวิตการเป็นจิตรกร
ฟัน ไดก์เขียนภาพของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ซึ่งมีส่วนสูงไม่ถึง 150 ซม.ได้อย่างองอาจสง่างาม หลังจากนั้นเขาจึงเป็นเพียงคนเดียวที่ได้เขียนภาพของพระองค์ และภาพเหมือนของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ก็กลายเป็นภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา อย่างเช่นภาพ Charles I at the Hunt และภาพ Charles I in Three Positions ที่เขียนเพื่อเป็นต้นแบบให้ Gian Lorenzo Bernini สร้างรูปปั้นครึ่งตัวให้กับพระองค์ ฟัน ไดก์เขียนภาพเหมือนของกษัตริย์และราชนิกุลจำนวนมากด้วยท่าทางที่ผ่อนคลายแต่งามสง่า อย่างเช่นภาพ Portrait of Lord John Stuart and his brother Lord Bernard Stuart จนกลายเป็นต้นแบบและมีอิทธิพลในอังกฤษนานถึง 150 ปี ฟัน ไดก์ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินและได้รับโซ่ทองพระราชทานซึ่งเขาแสดงไว้ในภาพเหมือนตัวเอง Self-portrait with a Sunflower เขาเสียชีวิตที่กรุงลอนดอนในปี 1641 ด้วยวัย 42 ปี
10 ผลงานชิ้นเอกของอันโตน ฟัน ไดก์
ฟรันส์ ฮัลส์ เป็นจิตรกรคนสำคัญในยุคทองของเนเธอร์แลนด์ (Dutch Golden Age) ด้วยผลงานการเขียนภาพเหมือนบุคคลที่โดดเด่น ฮัลส์เกิดเมื่อปี 1582 เมือง Antwerp แต่เขาใช้ชีวิตอยู่ที่ Haarlem เมืองใหญ่ทางตอนเหนือของสาธารณรัฐดัตช์เกือบตลอดชีวิตหลังจากย้ายมาตั้งแต่เด็ก ฮัลส์เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นช่างซ่อมงานศิลปะให้กับสภาเมืองนานหลายปีก่อนที่จะรับงานเขียนภาพเอง จนถึงปี 1616 จึงมีผลงานสำคัญชิ้นแรกเป็นภาพเหมือนกลุ่มบุคคลขนาดใหญ่ชื่อภาพ The Banquet of the Officers of the St George Militia Company ซึ่งต่อมาเขาได้เขียนภาพเหมือนกลุ่มบุคคลอีกจำนวนมากจนกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในวิวัฒนาการของภาพเขียนแนวนี้ในศตวรรษที่ 17
ผลงานสร้างชื่อของฮัลส์ได้แก่การเขียนภาพเหมือนบุคคลด้วยฝีมือที่ยอดเยี่ยม นอกจากรายละเอียดเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับที่มีความประณีตละเอียดละออแล้ว ผิวพรรณและใบหน้าของบุคคลในภาพยังประกอบด้วยสีสันและแสงเงาที่ให้มิติสมจริงมาก อย่างเช่นในผลงานภาพ Catharina Hooft with her Nurse และ Willem van Heythuysen Posing with a Sword นอกจากนี้ภาพเหมือนของฮัลส์ยังมีเสน่ห์ที่การแสดงอารมณ์บนใบหน้าและท่าทางที่มีชีวิตชีวาอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในสไตล์การเขียนภาพของเขา ผลงานที่โดดเด่นได้แก่ภาพ Laughing Cavalier ที่เป็นภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดภาพหนึ่งของเขา, ภาพ The Lute Player และภาพ Yonker Ramp and his Sweetheart
แต่สไตล์ที่โดดเด่นเหนือผู้อื่นในยุคเดียวกันกลับเป็นฝีแปรงแบบหยาบๆที่สะบัดอย่างรวดเร็วแต่มีอิสระและพริ้วไหวซึ่งเพิ่มความมีชีวิตชีวาและแปลกใหม่ให้กับภาพอย่างมากอันปรากฏในผลงานเลื่องชื่อของเขาหลายชิ้น อย่างเช่นภาพ The Gypsy Girl และ Malle Babbe เป็นต้น สไตล์การเขียนภาพแบบนี้ได้รับการยกย่องและสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นหลังในยุคอิมเพรสชั่นนิสม์หลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Vincent van Gogh ที่ชื่นชอบเขามากเป็นพิเศษ ฮัลส์สร้างผลงานยอดเยี่ยมมากมายอยู่ที่เมือง Haarlem จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1666 ด้วยวัย 84 ปี
10 ผลงานชิ้นเอกของฟรันส์ ฮัลส์
ยัน สเตน เป็นจิตรกรชาวดัตช์ในในยุคทองของเนเธอร์แลนด์ (Dutch Golden Age) อีกคนหนึ่งที่มีความโดดเด่นกับผลงานภาพเขียนชีวิตประจำวันที่แฝงอารมณ์ขันและเต็มไปด้วยสีสัน สเตนเกิดที่เมือง Leiden เมื่อปี 1626 ในครอบครัวเจ้าของกิจการโรงเหล้า แต่เริ่มทำงานเป็นผู้ช่วยของจิตรกรเขียนภาพซึ่งต่อมากลายเป็นพ่อตาของเขาอยู่หลายปีก่อนจะมาทำกิจการโรงเหล้าของตัวเองแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงกลับมาเขียนภาพและในปี 1654 เขาก็มีผลงานชิ้นสำคัญชิ้นแรกคือภาพ Adolf and Catharina Croeser
หลังจากนั้นสเตนได้สร้างผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้เขาจะเขียนภาพในหลากหลายแนวแต่ส่วนใหญ่จะเป็นภาพชีวิตประจำวันซึ่งเขาถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวาแต่มักจะเต็มไปด้วยความวุ่นวายยุ่งเหยิง จนถูกนำไปใช้เป็นสุภาษิตของชาวดัตช์ที่ว่ายุ่งเหยิงเหมือน “บ้านของสเตน” ภาพของสเตนดูผิวเผินเหมือนนำเสนอแค่อารมณ์ขันและความสนุกสนาน แต่ที่จริงแล้วเขาได้แฝงความนัยและคำเตือนถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมไว้ด้วย
สเตนทำงานเขียนภาพกว่า 20 ปีมีผลงานราว 800 ภาพแต่หลงเหลืออยู่ราว 350 ภาพ ผลงานเด่นของสเตนได้แก่ภาพ The Dancing Couple, Beware of Luxury, Children Teaching a Cat to Dance, Rhetoricians at a Window ฯลฯ และอีกมากมาย ช่วงบั้นปลายชีวิตเขาได้เป็นนายกสมาคมศิลปินแห่งเมือง Leiden และเปิดร้านเหล้าซึ่งกลายเป็นที่สมาคมระหว่างเพื่อนศิลปินจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1679 ขณะมีอายุ 53 ปี
10 ผลงานชิ้นเอกของยัน สเตน
10. ดาฟิด เตอเนียร์ส (David Teniers the Younger)
ดาฟิด เตอเนียร์ส เป็นจิตรกรชาวเฟลิชคนสำคัญแห่งยุคบาโรกในช่วงศตวรรษที่ 17 ผู้เชี่ยวชาญในการเขียนภาพได้หลากหลายแนว แต่มีชื่อเสียงมากกับผลงานภาพชีวิตชาวชนบท เตอเนียร์สเกิดที่เมือง Antwerp เมื่อปี 1610 เขาเกิดในตระกูลศิลปินทั้งพ่อและน้องชายสามคนล้วนเป็นจิตรกร ตัวเขาเองยังแต่งงานกับหลานสาวของจิตรกรใหญ่ Pieter Bruegel the Elder เตอเนียร์สทำงานเขียนภาพอยู่ที่เมืองบ้านเกิดจนมีชื่อเสียงและได้เป็นนายกสมาคมศิลปินของเมือง Antwerp ในช่วงปี 1644 – 1645
ผลงานของเตอเนียร์สส่วนใหญ่เป็นภาพชีวิตชาวชนบท เขามีบทบาทสำคัญในการพัฒนารูปแบบของภาพเขียนแนวนี้ เตอเนียร์สนำเสนอภาพชีวิตที่หลากหลายได้อย่างน่าสนใจ เช่น ฉากในโรงเตี๊ยม, ป้อมยาม, ห้องของนักเล่นแร่แปรธาตุ หรือบรรยากาศงานรื่นเริงและการละเล่นต่างๆ ประกอบกับฝีมือการเขียนภาพที่ละเมียดละไมและแสดงความรู้สึกของบุคคลในภาพได้อย่างเข้าถึงอารมณ์ ภาพเขียนของเขาจึงได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก ผลงานที่โดดเด่นได้แก่ภาพ Guardroom with the Deliverance of Saint Peter, Smokers and Drinkers, A Family Concert on a Terrace และ Peasants Merry-Making เป็นต้น
ปี 1650 เตอเนียร์สไปเป็นจิตรกรส่วนพระองค์ของอาร์ชดยุก (Archduke) ที่กรุงบรัสเซลส์ซึ่งเขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลหอศิลป์ในพระราชวังของอาร์ชดยุก รวมทั้งจัดหาผลงานศิลปะมาเก็บสะสมเพิ่มเติมที่หอศิลป์ด้วย และนั่นเป็นที่มาของผลงานภาพเขียนชุดสำคัญของเขาคือภาพห้องแกลเลอรี่ของอาร์ชดยุกที่เต็มไปด้วยภาพเขียนชั้นดี เตอเนียร์สเขียนภาพห้องแกลเลอรี่ไว้ทั้งหมด 10 ภาพซึ่งถือว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของเขา ภาพ The Archduke Leopold Wilhelm in his Painting Gallery in Brussels เป็นหนึ่งในภาพชุดนี้ที่โดดเด่นที่สุด เตอเนียร์สใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1690
10 ผลงานชิ้นเอกของดาฟิด เตอเนียร์ส
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, ranker, timeout, britannica