นักวิจัยระบุว่าอาจจะมีแหล่งก๊าซไฮโดรเจนขนาดมหึมาที่ใต้พื้นมหาสมุทร

ไฮโดรเจนอาจจะเป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่สะอาด แต่ก็ยังมีปัญหาของมันอยู่ ตอนนี้ไฮโดรเจนมักจะได้จากการแยกออกจากพลังงานรูปแบบอื่นๆ และตามข้อมูลของกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา ก๊าซไฮโดรเจนที่ผลิตในประเทศสหรัฐฯในขณะนี้ 95 เปอร์เซ็นต์มาจากการแปรรูปก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ไอน้ำที่อุณหภูมิสูง

แต่ถ้ามีแหล่งก๊าซไฮโดรเจนที่เกิดตามธรรมชาติอย่างอุดมสมบูรณ์ที่ไหนสักแห่งบนโลกที่เราสามารถดูดออกมาและใส่เข้าไปในรถยนต์ของเราล่ะ? แหล่งก๊าซไฮโดรเจนดังกล่าวอาจจะอยู่ใต้พื้นมหาสมุทร

งานวิจัยใหม่โดยนักวิจัยโรงเรียนสิ่งแวดล้อมนิโคลัส มหาวิทยาลัยดุ๊ก ประเทศสหรัฐฯ อ้างว่าได้พบแหล่งก๊าซไฮโดรเจนอย่างมากมายในหินเซอร์เพนทีนที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก หินเซอร์เพนทีนตั้งชื่อตามพื้นผิวที่มีลักษณะคล้ายงู เกิดขึ้นเมื่อน้ำทะเลเข้าไปในหินเพอร์โดไทต์ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเปลือกโลก กระบวนการก่อตัวนี้ยังได้ผลิตโมเลกุลของแก๊สไฮโดรเจนด้วย

hydrogen-source-2

นักวิจัยมหาวิทยาลัยดุ๊กได้สร้างแบบจำลองที่แสดงให้เห็นว่าไฮโดรเจนจำนวนมากอาจจะก่อตัวอยู่ใต้พื้นมหาสมุทร “ในปริมาณมหาศาล” และแหล่งไฮโดรเจนฟรีเหล่านี้อาจจะไม่ได้หายากอย่างที่เคยคิดกัน

การศึกษาเพิ่มเติมเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อยืนยันความถูกต้องของแบบจำลองของการศึกษาครั้งนี้ และตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นกับก๊าซไฮโดรเจนเหล่านั้นเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง การค้นพบนี้ยังอาจนำไปสู่​​การค้นพบเพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นกำเนิดและการก่อตัวของสิ่งมีชีวิตบนโลก และบทบาทของก๊าซไฮโดรเจนในการสนับสนุนต่อการมีชีวิตในสภาพแวดล้อมบนโลกใต้มหาสมุทรที่ไม่มีแสงอาทิตย์เช่นเดียวกับดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ

หากทฤษฎีของการศึกษานี้ถูกต้อง อาจนำไปสู่​​แหล่งเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ใช้งานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีแหล่งพลังงานอื่นเพื่อที่จะสร้างมันขึ้นมา

“ประโยชน์ที่สำคัญของงานนี้ก็คือว่ามันให้แบบจำลองของเปลือกโลกที่ไม่เพียงแต่จะระบุว่าก๊าซไฮโดรเจนอาจจะก่อตัวอยู่ใต้พื้นมหาสมุทร แต่ยังบอกอัตราและปริมาณการก่อตัวทั้งหมดทั่วโลก” Lincoln F. Pratson หนึ่งในนักวิจัยกล่าว

การเข้าถึงแหล่งเชื้อเพลิงดังกล่าวจะเป็นข่าวที่น่ายินดียิ่งของผู้ผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยก๊าซไฮโดรเจน เพราะพวกเขาจะสามารถแข่งขันในตลาดได้ดียิ่งขึ้น

 

ข้อมูลและภาพจาก gizmag, phys.org

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *