เด็กขี้โรคผู้เติบโตมากับคุณพ่อโรคจิต
เอ็ดเวิร์ด มุงค์ เป็นชาวนอร์เวย์ เกิดที่เมือง Løten ประเทศนอร์เวย์เมื่อปี 1863 แต่เติบโตที่เมืองหลวงเนื่องจากครอบครัวย้ายมาอยู่ที่กรุงออสโลตั้งแต่มุงค์มีอายุได้เพียงปีเดียว แม่ของมุงค์เสียชีวิตด้วยวัณโรคตอนเขาที่มีอายุ 5 ปี ดังนั้นมุงค์และพี่น้องอีก 4 คนจึงเติบโตภายใต้การดูแลของพ่อซึ่งเป็นคนเคร่งศาสนาและเจ้าอารมณ์จนถึงขั้นเป็นโรคจิตประสาท มุงค์จึงได้รับความทุกข์ระทม ความกลัว และเมล็ดพันธุ์แห่งความบ้าคลั่งจากพ่อมาตั้งแต่เด็ก ต่อมาพี่สาวคนโปรดของเขาเสียชีวิตไปอีกคนด้วยโรคเดียวกับแม่ตอนเขาอายุ 14 ปีเพิ่มความเศร้าซึมให้กับเขามากยิ่งขึ้น
ตอนเด็กมุงค์ป่วยบ่อยมากจนไม่ค่อยได้ไปโรงเรียน เขาจึงมักใช้เวลาวาดรูปเพื่อจะได้มีอะไรทำ ปี 1879 มุงค์เข้าเรียนในวิทยาลัยเทคนิคเพื่อเรียนด้านวิศวกรรมตามความต้องการของพ่อ แต่การเจ็บป่วยอยู่บ่อยๆยังคงเป็นอุปสรรคในการเรียนของเขา อีกทั้งความหลงใหลในงานศิลปะได้เข้ามาบดบังความสนใจด้านวิศวกรรมของเขาจนหมดสิ้นไป ปีต่อมาเขาจึงออกจากวิทยาลัยตัดสินใจมุ่งมั่นเป็นจิตรกรซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับพ่อผู้ไม่เคยเห็นคุณค่าการทำงานด้านศิลปะเลยอย่างมาก แต่มุงค์มีเป้าหมายในการเป็นศิลปินที่ชัดเจน ปี 1881 เขาเข้าเรียนที่สถาบันศิลปะแห่งกรุงออสโล
เรียนรู้สไตล์หลากหลายในโลกจิตรกรรม
มุงค์เรียนรู้และพัฒนาฝีมืออย่างรวดเร็วจนเริ่มฉายแววความโดดเด่นออกมาในผลงานบางชิ้น อย่างเช่นภาพ Self-Portrait (1882) เขาฝึกฝนและทดลองเขียนภาพในหลากหลายสไตล์รวมทั้งแนวธรรมชาตินิยมและอิมเพรสชั่นนิสม์ ขณะเดียวกันมุงค์ก็ได้กลายเป็นพวกโบฮีเมียน (Bohemian) ซึ่งมีสไตล์การใช้ชีวิตแบบเป็นอิสระไม่ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณี และยังได้คบหาเป็นเพื่อนกับ Hans Jæger นักเขียนนักปรัชญาที่เป็นโบฮีเมียนตัวกลั่นผู้หลงใหลการทำลายและสนับสนุนการฆ่าตัวตาย ทำให้ความสัมพันธ์ของเขากับพ่อยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
หลังการทดลองเขียนภาพจำนวนมากมุงค์พบว่าการเขียนภาพแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ยังไม่สามารถทำให้เขาได้แสดงพลังและอารมณ์ได้อย่างที่เขาต้องการ และเป็น Hans Jæger ที่ได้จุดประกายความคิดด้วยการบอกให้เขา ‘เขียนชีวิตตัวเอง’ ออกมาซึ่งทำให้เขาได้คิดตรึกตรองและเกิดมุมมองใหม่ในการเขียนภาพและตามมาด้วยการสร้างผลงานสำคัญชิ้นแรกคือภาพ The Sick Child ที่ได้แรงบันดาลใจจากการตายของพี่สาวเขาเอง ในปี 1889 มุงค์ได้รวบรวมผลงานและจัดการแสดงผลงานเดี่ยวเป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับการยอมรับและนำไปสู่การได้รับทุนไปเรียนศิลปะที่กรุงปารีสเป็นเวลา 2 ปี
หลงเสน่ห์ศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ยุคหลัง
ที่ปารีสนอกจากเขาจะได้เรียนการเขียนภาพกับ Léon Bonnat ซึ่งมุงค์ไม่ค่อยชอบเท่าไร เขายังได้ไปเที่ยวชมนิทรรศการ หอศิลป์ และพิพิธภัณฑ์ซึ่งทำให้เขาหลงเสน่ห์ศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ยุคหลัง โดยเฉพาะผลงานของ Paul Gauguin, Vincent van Gogh และ Henri de Toulouse-Lautrec ที่โดดเด่นด้วยใช้สีเพื่อสื่ออารมณ์ และได้รับแรงบันดาลใจเป็นพิเศษจากการต่อต้านลัทธิสัจนิยมและความเชื่อของ Gauguin ที่ว่า ‘ศิลปะเป็นงานที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ใช่การเลียนแบบธรรมชาติ’
ปลายปี 1889 พ่อของมุงค์เสียชีวิตทิ้งให้ครอบครัวตกอยู่ในสภาวะแร้นแค้น เขาต้องกลับบ้านมากู้เงินเพื่อพยุงความเป็นอยู่ของครอบครัว การจากไปของพ่อทำให้มุงค์จมอยู่กับความคิดฆ่าตัวตายเพราะเขาคิดว่า ‘ชีวิตเขามีแต่ความตาย แม่ พี่สาว ปู่ และพ่อตายกันหมด ถ้าเขาตายซะทุกอย่างก็จบ จะอยู่ไปทำไม’ ยังดีที่เป็นแค่ความคิด มุงค์ยังคงพัฒนาสไตล์การเขียนภาพของเขาต่อไปส่วนใหญ่มีพื้นฐานจากแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ยุคหลัง รวมทั้งการทดลองเขียนภาพในแนวผสานจุดสี (Pointillism) ตามสไตล์ของ Georges Seurat ผลงานที่น่าสนใจในช่วงนี้ได้แก่ภาพ Inger on the Beach, Street Lafayette และ Spring Day on Karl Johan Street เป็นต้น
การแสดงพลังอารมณ์คือตัวตนที่แท้จริง
ปี 1891 มุงค์ได้รับเชิญจากสมาคมศิลปินแห่งกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันให้ไปแสดงผลงานในนิทรรศการที่เบอร์ลิน ภาพเขียนของเขาทำให้เกิดการโต้เถียงอย่างรุนแรง และนั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นความดังของมุงค์ ที่เบอร์ลินมุงค์ได้พบปะคบหากับนักเขียน ศิลปิน และนักวิจารณ์อีกหลายต่อหลายคน ไม่นานหลังจากนั้นดูเหมือนว่าฝีมือและแนวคิดของมุงค์จะตกผลึกได้ที่ ผลงานชั้นยอดที่เป็นสไตล์ของตัวเองซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นของเขาจึงทยอยออกมาจำนวนมาก ในชุดภาพเขียนที่มีเรื่องราวต่อเนื่องกันเป็นซีรีย์ซึ่งเขาเรียกว่า “Frieze of Life”
มุงค์เขียนภาพในชุด Frieze of Life เสมือนเป็นบทกวีเกี่ยวกับชีวิต ความรัก และความตาย แสดงอารมณ์และความรู้สึกต่างๆของมนุษย์ เช่น ความรัก, ความวิตกกังวล, การนอกใจ, ความหึงหวง, การพลัดพราก, ความปวดร้าว, ความกลัว, ความตาย ฯลฯ ผ่านลายเส้นและสีสันในสไตล์เฉพาะตัวที่ส่งพลังอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้อย่างตราตรึงใจ ภาพเขียนที่โดดเด่นในชุดนี้ได้แก่ภาพ Madonna, Ashes, Love and Pain (Vampire), Death in the Sickroom, Anxiety รวมทั้งภาพที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของตัวเขาคือภาพ The Scream
The Scream ผลงานสุดหลอนก้องโลก
ขณะที่มุงค์ได้แนวคิดและสเก๊ตช์แบบร่างของภาพเขียนส่วนใหญ่ในชุด Frieze of Life ในช่วงระหว่าง 4 ปีที่เขาอยู่ที่เบอร์ลิน แต่ The Scream กลับเป็นเหตุการณ์ที่เขาพบเจอแบบทันทีทันใดที่เมืองออสโล ขณะที่เขากำลังเดินไปตามถนนพร้อมกับเพื่อนสองคนในยามพระอาทิตย์ตกดิน ทันใดนั้นท้องฟ้าก็เปลี่ยนเป็นสีแดงเลือด เขาหยุดและเอนกายพิงรั้วด้วยความรู้สึกเหนื่อยหมดเรี่ยวแรงอย่างบอกไม่ถูก ลิ้นของไฟและเลือดทอดยาวเหนือฟยอร์ดสีดำน้ำเงิน เพื่อนของเขาเดินต่อไปขณะที่ตัวเขาล้าหลังตัวสั่นด้วยความกลัว จากนั้นเขาก็ได้ยินเสียงกรีดร้องดังสนั่นแบบไม่มีที่สิ้นสุดของธรรมชาติบาดลึกลงไปถึงจิตวิญญาณจนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเขียนภาพสุดหลอนชื่อดังก้องโลกภาพนี้
ระหว่างปี 1893 – 1910 มุงค์เขียนภาพ The Scream ไว้ถึง 4 เวอร์ชั่น แต่ละเวอร์ชั่นใช้ชนิดของสีแตกต่างกันไป มีทั้งสีน้ำมัน สีฝุ่น และสีพาสเทล The Scream เวอร์ชั่นที่เขียนด้วยสีพาสเทลเมื่อปี 1895 ถูกขายออกไปในปี 2012 ด้วยราคา 119.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอีก 3 เวอร์ชั่นจัดแสดงอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติและพิพิธภัณฑ์มุงค์ในกรุงออสโล ปี 1994 ภาพ The Scream เวอร์ชั่นปี 1993 ถูกขโมยออกไปจากหอศิลป์แห่งชาติแต่สามารถตามกลับคืนมาได้ในสภาพไม่เสียหายภายในเวลาไม่กี่เดือน ปี 2004 The Scream เวอร์ชั่น 1910 ถูกขโมยออกจากพิพิธภัณฑ์มุงค์พร้อมกับภาพ Madonna ทำเอาต้องปิดพิพิธภัณฑ์ถึง 10 เดือนเพื่อติดตั้งระบบความปลอดภัยใหม่ แต่ในที่สุดตำรวจก็สามารถตามภาพกลับคืนมาได้ในปี 2006
สไตล์ที่เปลี่ยนไปหลังผ่านวิกฤตการณ์
ความสำเร็จจากผลงานในชุด Frieze of Life ได้สร้างการยอมรับและชื่อเสียงแก่มุงค์อย่างมาก ฐานะการเงินของเขาก็ดีขึ้นเป็นลำดับ เขาซื้อบ้านพักตากอากาศริมฟยอร์ดที่เมืองเล็กๆห่างจากกรุงออสโลทางทิศใต้ราว 100 กม.ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและสร้างแรงบันดาลใจในการเขียนภาพตลอดหลายสิบปีต่อมา ปี 1899 ระหว่างที่อยู่ในออสโลมุงค์มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ Tulla Larsen สาวชั้นสูงผู้ร่ำรวยและรักอิสระ ทั้งสองไปเที่ยวอิตาลีกันด้วยความชื่นมื่น แต่หลังจากที่มุงค์เขียนภาพ Dance of Life ซึ่งถือเป็นภาพสุดท้ายในชุด Frieze of Life ได้ไม่นาน Tulla Larsen อยากจะแต่งงานกับเขาซึ่งทำให้เขาเครียดมากเพราะเขาเกลียดการแต่งงานมาตั้งแต่เด็ก การที่เขาดื่มเหล้าอย่างหนักและมีสุขภาพไม่ดีทำให้เขากลัวการแต่งงาน ปีถัดมาเขาก็หนีจากเธอไปอยู่ที่เบอร์ลินและสร้างผลงานอีกจำนวนมากโดยเฉพาะภาพชุด Girls on the Bridge ซึ่งมีถึง 18 เวอร์ชั่น
โรควิตกกังวลและการดื่มหนักของมุงค์นำพาเขาไปสู่ภาวะวิกฤตในปี 1908 เขาเกิดอาการประสาทหลอนแทบจะกลายเป็นคนบ้าจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลา 8 เดือน พอหายดีเขาก็กลับไปอยู่ที่นอร์เวย์ มีสภาพจิตใจและอารมณ์ดีขึ้น ดื่มน้อยลง สไตล์การเขียนภาพเปลี่ยนเป็นมีสีสันมากขึ้นและมองโลกในแง่ร้ายน้อยลง ผู้คนก็ให้การต้อนรับผลงานเขาอย่างอบอุ่น พิพิธภัณฑ์ต่างๆเริ่มซื้อผลงานของเขามากขึ้น รวมทั้งเขายังได้รับตำแหน่งอัศวินแห่งนอร์เวย์ในฐานะศิลปินผู้มีผลงานดีเด่น ผลงานสำคัญในช่วงนี้ได้แก่ภาพ The Sun, The Yellow Log และ Workers on their Way Home เป็นต้น
มุงค์มักจะนำผลงานเก่ากลับมาเขียนใหม่ในสไตล์ที่แตกต่างออกไป ทำให้เราได้เห็นภาพของเขาในหลายเวอร์ชั่น ในช่วงบั้นปลายชีวิตมุงค์ยังคงสร้างผลงานภาพเขียนต่อไป มีผลงานเด่นอย่างเช่นภาพ Self Portrait: Between Clock and Bed และ Self-Portrait with the Spanish Flu พร้อมกันนั้นเขาต้องคอยรับมือกับความเศร้าความเหงาจากการเสียชีวิตของคนในครอบครัว รวมทั้งน้องสาวและป้าที่ดูแลเขาตั้งแต่เด็กและส่งเสริมให้เขาเป็นศิลปิน มุงค์เสียชีวิตในปี 1944 หลังฉลองอายุ 80 ปีได้ไม่ถึงเดือน เขาทำพินัยกรรมมอบผลงานของเขาทั้งหมดแก่เมืองออสโล ประกอบด้วยภาพเขียนราว 1,100 ภาพ, ภาพลายเส้น 4,500 ภาพ, ภาพพิมพ์กว่า 15,000 ภาพ และงานประติมากรรมอีก 6 ชิ้น ผลงานส่วนใหญ่ถูกเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์มุงค์ในกรุงออสโล
ผลงาน 6 ทศวรรษอันทรงพลังโดดเด่น
มุงค์เริ่มเขียนภาพอย่างจริงจังตั้งแต่อายุ 17 ปีจนกระทั่งเสียชีวิตในวัย 80 ปี ตลอดช่วงเวลากว่า 6 ทศวรรษนี้เขาได้สร้างผลงานภาพเขียนที่ยอดเยี่ยมจำนวนมากมายกว่า 1,100 ภาพนอกเหนือจากผลงานอื่นๆอีกจำนวนมหาศาล ภาพเขียนของมุงค์โดดเด่นด้วยการแสดงพลังในหลากหลายอารมณ์ได้อย่างตราตรึงใจ และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของผลงานอันทรงพลังโดดเด่นเหล่านั้น
Early Works (1880 – 1891)
Frieze of Life Period (1891 – 1899)
Before Breakdown Period (1899 – 1909)
After Breakdown (1909 – 1918)
Later Works (1918 – 1943)
เอ็ดเวิร์ด มุงค์ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในสุดยอดศิลปินผู้มีอิทธิพลสูงสุดต่อลัทธิแสดงพลังอารมณ์ โดยผลงานหลายชิ้นได้สะท้อนความรู้สึกเปลี่ยวเหงาปั่นป่วนหวาดวิตกภายในจิตใจของเขาเอง นอกจากนี้ภาพเขียนของเขายังมีความโดดเด่นในความเป็นลัทธิสัญลักษณ์นิยม เพราะนอกจากจะแสดงพลังอารมณ์ได้อย่างยอดเยี่ยมมันยังแฝงด้วยมุมมองที่ซ่อนอยู่ภายในที่ขัดแย้งกับภายนอกและสิ่งที่มองเห็น เขานับเป็นสุดยอดศิลปินในยุคศิลปะสมัยใหม่ที่โดดเด่นที่สุดอีกคนหนึ่ง
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, edvardmunch.org, biography