เพื่อหาคำตอบทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ติดอุปกรณ์ในการตรวจสอบคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) และการเคลื่อนไหวของศีรษะในระหว่างการบินให้กับนกฟรีเกตซึ่งทำรังอยู่บนเกาะกาลาปากอส พร้อมกับเครื่องจีพีเอสที่ใช้สำหรับการตรวจสอบตำแหน่งและระดับความสูงบนหลังของมัน นกฟรีเกตได้นำอุปกรณ์บินไปกับมันด้วยเป็นเวลา 10 วัน รวมระยะทาง 3,000 กิโลเมตร
จากข้อมูลที่บันทึกไว้แสดงให้เห็นว่าในช่วงกลางวันนกยังคงตื่นอยู่และทำการหาอาหารตามปกติ แต่เมื่อดวงอาทิตย์ตกและนกจะบินขึ้นสูง รูปแบบของคลื่นไฟฟ้าสมองจะมีการเปลี่ยนเป็นแบบนอนหลับช่วงคลื่นช้า หรือ slow-wave sleep (SWS) เป็นบางครั้ง ครั้งละหลายนาที คลื่นสมองแบบ SWS มักจะเกิดในสมองซีกเดียว แต่บางครั้งก็เกิดทั้งสองซีกในเวลาเดียวกัน แสดงว่าการหลับโดยสมองซีกเดียวไม่ส่งผลกระทบต่อการควบคุมการบิน
จากการติดตามการเคลื่อนไหวของศีรษะนก นักวิจัยพบว่าขณะที่พวกมันบินวนเวียนอยู่ในกระแสอากาศพร้อมกับนอนหลับในลักษณะนี้ พวกมันจะเปิดตาเพียงข้างเดียวด้านที่พวกมันกำลังหันไป
“นกฟรีเกตเปิดตาเพื่อป้องกันการชนกันกับนกตัวอื่น ไม่เหมือนกับเป็ดที่เปิดตาเพื่อป้องกันนักล่า” Niels Rattenborg จากสถาบันมักซ์พลังค์กล่าว
บางทีการค้นพบที่น่าแปลกใจที่สุด คือ โดยเฉลี่ยขณะบินอยู่ในอากาศนกฟรีเกตจะนอนแค่ 42 นาทีต่อวัน เมื่อเทียบกับที่พวกมันนอนหลับสนิทบนพื้นดินนานถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน เห็นได้ชัดว่านกเหล่านี้เห็นคุณค่าของการนอนหลับ แต่ขณะที่บินพวกมันก็ยังทำงานได้ตามปกติแม้จะนอนหลับไม่เพียงพอ
นี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามหาคำตอบ “ทำไมเราและสัตว์อื่นๆอีกมากมายมีปัญหาอย่างมากจากการอดนอน ขณะที่นกบางชนิดกลับสามารถปรับตัวกับการนอนน้อยมากๆได้ยังคงเป็นปริศนา” Rattenborg กล่าว
ข้อมูลและภาพจาก newatlas, mpg.de