LHC เดินเครื่องเพื่องานวิจัยช่วงแรกระหว่างเดือนมีนาคม 2010 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2013 ที่ระดับพลังงานสูงสุด 8 TeV จึงหยุดเพื่อปรับปรุง และกลับมาทำงานอีกครั้งในการวิจัยช่วงที่สองตั้งแต่เดือนเมษายน 2015 จนถึงปัจจุบัน โดยมีระดับพลังงานเพิ่มขึ้นเป็น 13 TeV
ผลการวิจัยด้วยเครื่อง LHC นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบอนุภาคใหม่ๆมากมาย การค้นพบครั้งสำคัญที่ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์คือการค้นพบอนุภาคฮิกส์โบซอน (Higgs boson) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2012 เป็นการค้นพบหลังจาก ปีเตอร์ ฮิกส์ นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษได้ทำนายการคงอยู่ของอนุภาคดังกล่าวมาก่อนเกือบ 50 ปี
อนุภาคฮิกส์โบซอนเป็นอนุภาคมูลฐานที่สำคัญในแบบจำลองมาตรฐานของฟิสิกส์อนุภาค มันสามารถอธิบายว่าทำไมอนุภาคจึงมีมวล แต่บางอนุภาค เช่น โฟตอน ไม่มีมวล เป็นกุญแจดอกสำคัญในการทำความเข้าใจในความเป็นไปของจักรวาล
นักวิจัยหวังว่าการชนกันของอนุภาคในระดับพลังงานที่สูงขึ้นจะทำให้ค้นพบอนุภาคใหม่ๆ รวมทั้งสิ่งที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ ในเดือนธันวาคมปี 2015 ข้อมูลจากทั้งสองเครื่องตรวจจับ (ATLAS และ CMS) ทำให้นักฟิสิกส์คิดว่าพวกเขาอาจจะพบอนุภาคใหม่ แต่ข้อมูลเพิ่มเติมได้พิสูจน์เมื่อเร็วๆนี้ว่าไม่ใช่
นักวิจัยยังหวังว่าปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในการทดลองจะทำให้เราเข้าใจโลกลึกลับของพลังงานมืดและสสารมืด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคิดว่าเป็นมวลส่วนใหญ่ของจักรวาล แต่เรายังไม่สามารถค้นพบมัน
รวมทั้งโอกาสที่ LHC จะชี้เบาะแสให้กับเราในเรื่องมิติอื่นๆ หรือ เอกภพคู่ขนาน (Parallel Universe) ที่นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์จำนวนมากจะให้ความสนใจ เพราะงานเขียนของพวกเขาอาจจะไปอยู่ในตำราฟิสิกส์ในชั่วข้ามคืน
ข้อมูลและภาพจาก howstuffworks, wikipedia