พวกมันทำได้โดยการเปล่งเสียงพิเศษเฉพาะให้กับตัวอ่อนที่อยู่ภายในไข่ ซึ่งสามารถได้ยินและเรียนรู้เสียงจากภายนอก นี่เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าสัตว์มีการใช้เสียงที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ พฤติกรรม และความสำเร็จในการสืบพันธุ์
ความคิดที่ว่าพ่อแม่นกซีบร้าฟินช์พูดคุยกับไข่ของพวกมันเกิดขึ้นกับ Mylene Mariette นักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรมจาก มหาวิทยาลัยดีกิ้น ในเมือง Waurn Ponds ประเทศออสเตรเลีย ในขณะที่กำลังบันทึกเสียงนกที่กรงนกขนาดใหญ่กลางแจ้ง เธอสังเกตเห็นว่าบางครั้งเมื่อพ่อแม่อยู่ตัวเดียวจะส่งเสียงร้องแหลมๆรัวๆเป็นชุดๆขณะที่นั่งอยู่บนไข่ Mariette และเพื่อนร่วมงานของเธอ Katherine Buchanan บันทึกการร้องส่งสัญญาณในระหว่างการฟักตัวของนกซีบร้าฟินช์ตัวเมีย 61 ตัวและตัวผู้ 61 ตัวภายในสวนนก พวกเขาพบว่าทั้งพ่อและแม่จะส่งเสียงเฉพาะในช่วงท้ายของระยะฟักตัว และเป็นวันที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 26 °C
เพื่อหาว่าการส่งเสียงดังกล่าวจะช่วยในการเตรียมตัวของลูกนกสำหรับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างไร นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการฟักไข่เทียม 166 ฟองที่อุณหภูมิมาตรฐาน 37.7 °C และในช่วง 5 วันสุดท้ายของการฟักพวกเขาเปิดเสียงร้องระหว่างการฟักไข่ที่บันทึกไว้ให้ลูกนกฟัง
เมื่อลูกนกฟักออกมาพบว่าพวกที่ได้ฟังเสียงร้องระหว่างการฟักไข่จะส่งเสียงร้องได้ดีกว่าและที่สำคัญคือมีน้ำหนักน้อยกว่ากลุ่มควบคุม (พวกที่ไม่ได้ฟังเสียง) นักวิทยาศาสตร์บอกว่านั่นอาจจะเป็นการปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่ร้อน “ด้วยขนาดตัวที่เล็กกว่าทำให้พวกมันสูญเสียความร้อนน้อยกว่า” Mariette กล่าว เธอชี้ให้เห็นว่าขนาดตัวที่เล็กลงของพวกมันยังอาจช่วยลดความเสียหายจากสารตกค้างที่เป็นอันตรายของโมเลกุลที่ไม่เสถียรในโปรตีน ไขมัน และดีเอ็นเอที่อาจมีผลต่อการสืบพันธุ์
เมื่อให้พวกมันอยู่ในสภาพอากาศร้อน พวกนกที่มีน้ำหนักน้อยจะเติบโตและขยายพันธุ์ในฤดูผสมพันธุ์แรกได้มากกว่ากลุ่มนกควบคุม แต่กลุ่มนกควบคุมทำได้ดีกว่าในสภาพอากาศเย็น และเสียงร้องระหว่างการฟักไข่อาจมีผลต่อเนื่องอย่างอื่นอีก คือ นกตัวผู้ที่ได้ฟังเสียงร้องจะทำรังในที่ที่ร้อน ส่วนนกตัวผู้ในกลุ่มนกควบคุมเลือกทำรังในที่ที่เย็นกว่า
“มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าแปลกใจที่การสื่อสารด้วยเสียงในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาจะมีผลกระทบอย่างต่อเนื่องยาวนาน” Renee Duckworth นักนิเวศวิทยาด้านวิวัฒนาการ ที่มหาวิทยาลัยแอริโซนากล่าว
Mariette คิดว่าความสามารถของนกซีบร้าฟินช์ในการเตรียมความพร้อมลูกหลานของมันสำหรับสภาพแวดล้อมในอนาคตสมเหตุสมผลเพราะพวกมันอาศัยอยู่ในแหล่งที่แห้งแล้ง และพวกมันจะขยายพันธุ์เมื่อใดก็ตามที่มีเงื่อนไขที่ดีโดยไม่คำนึงถึงฤดูกาล เธอเสริมว่านกซีบร้าฟินช์แสดงให้เห็นว่าสัตว์บางชนิดจะไม่อยู่เฉยเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ พวกมันอาจจะสามารถปรับตัวเข้ากับโลกที่ร้อนขึ้นได้ดีกว่าที่เราคิด
ข้อมูลและภาพจาก sciencemag, newscientist