“เลือดของพวกมันมีความไวสูงมากต่อการเปลี่ยนแปลงของความเป็นกรด ดังนั้นพวกเราจึงคาดว่าความเป็นกรดที่สูงมากขึ้นของมหาสมุทรในอนาคตจะมีผลด้านลบต่อความสามารถในการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้ออกซิเจนสูงของพวกมัน” Spady กล่าว
ปริมาณความเข้มข้นของ CO2 ในชั้นบรรยากาศของโลกเพิ่มสูงขึ้นจาก 280 ppm ในช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมาเป็นมากกว่า 400 ppm ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์คาดว่าความเข้มข้นของ CO2 ในชั้นบรรยากาศอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 900 ppm เมื่อสิ้นสุดศตวรรษนี้ถ้าหากไม่มีการหยุดยั้งการปล่อย CO2 เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และปริมาณ CO2 ในมหาสมุทรก็เพิ่มมากขึ้นตามความเข้มข้นของ CO2 ในชั้นบรรยากาศโลก
แต่เมื่อทีมวิจัยทำการทดสอบให้หมึกแคระ (Two-toned pygmy squid) และหมึกหอมหรือหมึกตะเภา (Bigfin reef squid) อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีระดับ CO2 เท่ากับที่คาดการณ์ไว้เมื่อตอนสิ้นสุดศตวรรษนี้ พวกเขากลับพบกับความประหลาดใจมาก
“เราพบว่าปลาหมึกสองสายพันธุ์นี้ไม่ได้รับผลกระทบในด้านความสามารถในการเคลื่อนไหวของพวกมันเลย และพวกมันก็ฟื้นตัวได้เป็นปกติหลังจากที่ออกกำลังกายจนหมดแรงในน้ำที่มีระดับ CO2 สูงเท่ากับที่คาดการณ์เมื่อตอนสิ้นสุดศตวรรษที่ 21” Spady กล่าว
Spady บอกว่าสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปนี้อาจช่วยให้ปลาหมึกเอาชีวิตรอดได้ดีกว่าเก่าด้วย เนื่องจากทั้งผู้ล่าและเหยื่อของพวกมันบางส่วนได้แสดงให้เห็นแล้วว่าสูญเสียสมรรถภาพในการเคลื่อนไหวภายใต้สภาพแวดล้อมของโลกในอนาคต
“เราคิดว่าปลาหมึกมีความสามารถสูงในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเนื่องมาจากพวกมันมีอายุสั้น, มีอัตราการเจริญเติบโตเร็ว, มีปริมาณประชากรมาก และมีอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรสูง” Spady กล่าว
เขายังได้บอกด้วยว่างานวิจัยชิ้นนี้มีความสำคัญเพราะมันช่วยให้มีความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อความเป็นไปของระบบนิเวศในอนาคตภายใต้ระดับ CO2 ที่สูงขึ้น
“มีแนวโน้มที่เราจะได้เห็นสัตว์บางสายพันธุ์ที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมของมหาสมุทรที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และปลาหมึกพวกนี้ก็อยู่ในกลุ่มดังกล่าว” Spady กล่าว “แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนก็คือมันจะต้องเป็นโลกที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง”
ข้อมูลและภาพจาก phys.org, sciencedaily