“แผ่นฟิล์มที่ทำจากโปรตีนนมป้องกันออกซิเจนซึมผ่านได้ดี ช่วยป้องกันการเน่าเสียของอาหาร เมื่อใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สามารถช่วยลดปริมาณอาหารถูกทิ้งจากการเน่าเสียในระหว่างการขนส่งได้” Peggy Tomasula นักวิจัยกล่าว
อาหารเน่าเสียเป็นปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่ง บรรจุภัณฑ์ของอาหารในปัจจุบันส่วนใหญ่ทำจากปิโตรเลียมซึ่งไม่ย่อยสลาย นอกจากนี้ยังสร้างขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลที่ต้องอยู่ในหลุมฝังกลบอย่างยาวนาน
เพื่อสร้างบรรจุภัณฑ์ที่ดีกว่า Tomasula และเพื่อนร่วมงานที่กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯกำลังพัฒนาแผ่นฟิล์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทำจากโปรตีนนมเคซีน (milk protein casein) ป้องกันออกซิเจนซึมผ่านได้ดีกว่าพลาสติกใสถึง 500 เท่า นั่นหมายถึงจะช่วยป้องกันอาหารเน่าเสียได้ดีกว่ามาก และเนื่องจากมันทำมาจากนมจึงย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ รวมทั้งกินได้ด้วย
มีบรรจุภัณฑ์บางประเภทที่กินได้วางขายในตลาดอยู่แล้ว แต่พวกนี้จะทำมาจากแป้งซึ่งมีรูพรุนมาก ออกซิเจนซึมผ่านได้ง่าย ต่างกับแผ่นฟิล์มโปรตีนนมที่มีลักษณะเป็นรูขุมขนขนาดเล็กมากป้องกันการซึมผ่านของออกซิเจนได้ดีกว่า
แม้ว่าในความพยายามครั้งแรกของนักวิจัยโดยการใช้เคซีนบริสุทธิ์จะให้ผลในการป้องกันออกซิเจนได้ดี แต่มันไม่คงทน จะละลายในน้ำได้อย่างรวดเร็ว พวกเขาจึงทำการการปรับปรุงโดยการใช้สารเพคตินที่สกัดจากเปลือกส้มเข้ามาผสม ทำให้ได้แผ่นฟิล์มที่แข็งแรง ทนต่อความชื้นและอุณหภูมิสูง
หลังจากการปรับปรุงแผ่นฟิล์มโปรตีนนมเคซีนมีลักษณะคล้ายกับพลาสติกห่อของ แต่มันจะมีความยืดหยุ่นน้อยกว่า มันเป็นวัสดุที่ทำจากโปรตีนเกือบทั้งหมด สารเติมแต่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น วิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นๆอาจจะนำมารวมได้ในอนาคต มันไม่ได้มีรสชาติมาก แต่รสชาติก็อาจจะเพิ่มเติมได้ในภายหลัง
นอกจากจะนำมาใช้เป็นถุงหรือใช้ห่ออาหารแล้ว โปรตีนนมเคซีนยังใช้ฉีดพ่นเป็นสารเคลือบบนอาหารได้ เช่น ซีเรียลหรือคอนเฟลก ปัจจุบันซีเรียลคงความกรอบอยู่ในนมได้เนื่องจากเคลือบด้วยน้ำตาล ผู้ผลิตสามารถฉีดพ่นสารเคลือบโปรตีนนมเคซีนแทนน้ำตาลได้เป็นอย่างดี
นักวิจัยกล่าวว่าขณะนี้พวกเขากำลังสร้างแผ่นฟิล์มต้นแบบสำหรับบริษัทเล็กๆในเท็กซัส และยังได้รับความสนใจจากบริษัทอื่นๆอีกด้วย พวกเขาคาดการณ์ว่าบรรจุภัณฑ์โปรตีนเคซีนนี้จะวางจำหน่ายได้ภายใน 3 ปี
ข้อมูลและภาพจาก phys.org, newatlas