เด็กพรสวรรค์ผู้มุ่งมั่นเป็นจิตรกร
รูเบนส์เป็นชาวเฟลมิช แต่เกิดที่เมือง Siegen ประเทศเยอรมันเมื่อปี 1577 เนื่องจากครอบครัวได้ย้ายจากเมืองแอนต์เวิร์ปไปอยู่ที่เมืองโคโลญที่อยู่ใกล้กับเมือง Siegen ตั้งแต่ปี 1568 เพื่อหลบภัยการทำลายล้างทางศาสนา พ่อของรูเบนส์เสียชีวิตตอนที่เขาอายุได้ 10 ปี หลังจากนั้น 2 ปีแม่จึงพาเขากลับไปอยู่ที่เมืองแอนต์เวิร์ป รูเบนส์เข้าโรงเรียนที่นั่นได้เรียนภาษาละตินและกรีก รวมทั้งวรรณกรรมคลาสสิกสมัยกรีกและโรมัน ตอนอายุ 13 ปีแม่ส่งเขาเข้าไปเป็นมหาดเล็กในราชสำนักด้วยหวังให้เขาได้ทำงานเป็นข้าราชสำนัก แต่เขาพบว่าการเป็นเด็กรับใช้ในราชสำนักช่างเป็นชีวิตที่น่าเบื่อและเขาเริ่มรับรู้ถึงพรสวรรค์ด้านการเขียนภาพของตัวเอง จึงขอให้แม่พาเขาออกไปจากราชสำนัก
ปี 1591 หนุ่มน้อยรูเบนส์วัย 14 ปีมีโอกาสได้เรียนศิลปะการเขียนภาพกับศิลปินในเมืองแอนต์เวิร์ปหลายคน เริ่มจากจิตรกรภาพทิวทัศน์ Tobias Verhaeght ที่เป็นญาติกันได้ไม่ถึงปี ต่อด้วยจิตรกรภาพประวัติศาสตร์ Adam van Noort นาน 4 ปี ก่อนจะได้เรียนเพิ่มเติมกับ Otto van Veen จิตรกรชื่อดังของแอนต์เวิร์ป รูเบนส์ฝึกฝีมือด้วยการคัดลอกภาพของศิลปินรุ่นก่อนเป็นส่วนใหญ่ เขามีพัฒนาการที่รวดเร็วด้วยวัยเพียง 20 ปีก็เริ่มมีผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมา อย่างเช่นภาพ Portrait of a Young Scholar เป็นต้น ถึงตรงนี้ดูเหมือนเมืองแอนต์เวิร์ปจะเล็กเกินไปสำหรับศิลปินหนุ่มมากพรสวรรค์อย่างเขาเสียแล้ว เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปยังเมืองหลวงแห่งศิลปะเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และโอกาสในการพัฒนาฝีมือ
อิตาลีดินแดนในฝันของศิลปินหนุ่ม
ปี 1600 รูเบนส์เดินทางไปอิตาลี จุดแรกแวะพักที่เมืองเวนิส เขาได้ศึกษาผลงานชิ้นเอกของศิลปินชั้นนำยุคเรอเนสซองส์แห่งเวนิส ได้แก่ Titian, Tintoretto และ Veronese จากนั้นจึงไปปักหลักอยู่ที่เมืองมันโตวาเป็นจิตรกรประจำตัวของดยุคแห่งมันโตวา Vincenzo Ι Gonzaga ด้วยการสนับสนุนของ Gonzaga รูเบนส์จึงมีโอกาสได้เดินทางไปทั่วอิตาลี ปี 1601เขาเดินทางไปกรุงโรมที่ซึ่งเขาได้เรียนรู้ศิลปะบาโรกในสไตล์ของ Caravaggio ควบคู่ไปกับการซึมซับอิทธิพลของ 3 ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคเรอเนสซองส์คือ Michelangelo, Leonardo da Vinci และ Raphael
ปี 1603 รูเบนส์เดินทางไปสเปนในฐานะทูตของ Gonzaga เพื่อส่งของขวัญไปให้กษัตริย์ Philip III ของสเปน ที่นั่นเขาได้ศึกษาผลงานชั้นยอดของ Raphael และ Titian ที่เป็นสมบัติส่วนพระองค์ของกษัตริย์สเปน รวมทั้งได้เขียนภาพ Equestrian Portrait of the Duke of Lerma ให้กับนายกรัฐมนตรีสเปนซึ่งเป็นภาพคนขี่ม้าชิ้นสำคัญภาพแรกของเขา หลังจากกลับจากสเปนรูเบนส์ยังอาศัยอยู่ในอิตาลีอีกหลายปี ในปี 1606 เขาไปอยู่ที่เมืองเจนัวและได้สร้างผลงานภาพเหมือนชิ้นพิเศษที่งดงามยิ่งคือภาพ Portrait of Marchesa Brigida Spinola-Doria ช่วงหลังส่วนใหญ่เขาอยู่ในกรุงโรมทำงานเขียนภาพสำคัญให้กับโบสถ์แห่งใหม่ของเมือง จนถึงปี 1608 เขาได้รับข่าวว่าแม่ป่วยหนักจึงรีบกลับบ้านที่เมืองแอนต์เวิร์ปแต่น่าเสียดายที่สายเกินไป
ขับเคลื่อนศิลปะบาโรกในสไตล์ใหม่
รูเบนส์กลับเมืองแอนต์เวิร์ปในช่วงที่มีการทำสัญญาสงบศึกระหว่างสเปนกับเนเธอร์แลนด์ในปี 1609 พอดี เขาได้รับงานเขียนภาพสำคัญที่ศาลากลางของเมืองทำให้เริ่มมีชื่อเสียง ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นจิตรกรราชสำนักของ Albert VII ดยุคแห่งออสเตรียและภรรยา Isabella Clara Eugenia ซึ่งเป็นราชธิดาของกษัตริย์สเปน โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปประจำอยู่ที่ราชสำนักในกรุงบัสเซลส์และยังสามารถรับงานอื่นได้ด้วย ปลายปีเดียวกันรูเบนส์แต่งงานกับ Isabella Brant ลูกสาวของชนชั้นนำในเมืองแอนต์เวิร์ป เขาเขียนภาพ The Honeysuckle Bower เพื่อฉลองการแต่งงานได้สวยงามน่าประทับใจมาก ปีต่อมาเขาซื้อบ้านใหม่และสร้างสตูดิโอขนาดใหญ่เป็นการลงหลักปักฐานที่นี่อย่างถาวร
สัญญาสงบศึกนำไปสู่การปรับปรุงโบสถ์ในเมืองแอนต์เวิร์ปครั้งใหญ่ เป็นโอกาสให้รูเบนส์ได้สร้างผลงานสำคัญอันเป็นการขับเคลื่อนศิลปะบาโรกในสไตล์ใหม่ของเขา ผลงานชิ้นเอกเป็นภาพเขียนฉากประดับแท่นบูชาแบบบานพับภาพสาม (triptych) คือภาพ The Descent from the Cross และภาพ The Raising of the Cross ในช่วงทศวรรษ 1610 -1620 รูเบนส์สร้างผลงานจำนวนมากทั้งในแนวศาสนา ตำนานประวัติศาสตร์ ภาพเหมือนบุคคล รวมไปถึงฉากการล่าสัตว์ มีผลงานยอดเยี่ยมมากมาย ที่โดดเด่นได้แก่ Samson and Delilah, Daniel in the Lions’ Den และ Infanta Isabella Clara Eugenia เป็นต้น บางครั้งเขาก็เขียนภาพร่วมกับเพื่อนศิลปินอย่างเช่นในภาพ Allegory of Sight ที่เขาทำร่วมกับ Jan Brueghel the Elder นอกจากนี้ผลงานของเขายังถูกนำไปทำภาพพิมพ์ทำให้มันถูกเผยแพร่ออกไปทั่วยุโรปเช่นเดียวกับชื่อเสียงของเขา
ตะลุยต่างแดนสร้างชื่อจนเป็นอัศวิน
ปี 1621 Marie de Médicis ราชินีแห่งฝรั่งเศสซึ่งเมื่อ 20 ปีก่อนรูเบนส์เคยเข้าร่วมในงานแต่งงานของเธอกับกษัตริย์ Henry IV ที่เมืองฟลอเรนส์พร้อมกับ Gonzaga ผู้เป็นพ่อบุญธรรมของเธอได้จ้างรูเบนส์เขียนภาพเพื่อใช้ประดับในพระราชวัง เป็นภาพเขียนเชิงเปรียบเทียบเกี่ยวกับชีวิตของ Marie จำนวน 24 ภาพซึ่งเขาต้องใช้เวลาทำนานกว่า 2 ปี มีภาพเด่นๆอย่างเช่น The Triumph of Juliers และ The Disembarkation at Marseilles เป็นต้น อีกหลายปีต่อมาเขายังได้เขียนภาพเหมือนของ Anne of Austria ราชินีแห่งฝรั่งเศสคนถัดมารวมทั้งภาพเหมือนของกษัตริย์ Louis XIII ซึ่งเป็นผลงานที่งดงามมาก
หลังสิ้นสุดสัญญาสงบศึกระหว่างสเปนกับเนเธอร์แลนด์ในปี 1621 รูเบนส์ได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจด้านการทูต เขาต้องเดินทางไปมาหลายประเทศทั้งสเปน อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์เพื่อพยายามนำความสงบมาสู่เนเธอร์แลนด์ของสเปนและสาธารณรัฐดัตช์ ซึ่งเขาก็ทำหน้าที่ได้ดีจนได้รับตำแหน่งอัศวินจากทั้งอังกฤษและสเปนในปี 1630 ขณะเดียวกันชื่อเสียงของเขาในฐานะศิลปินก็ยิ่งเพิ่มพูนขจรขจายไปทั่วยุโรป ในช่วงทศวรรษนี้รูเบนส์ยังคงสร้างผลงานชั้นยอดออกมามากมายอย่างเช่นภาพ Assumption of the Virgin ที่เขียนให้กับโบสถ์ในเมืองแอนต์เวิร์ป, ภาพ Peace and War ซึ่งเขียนในกรุงลอนดอนระหว่างภารกิจด้านการทูต รวมทั้งภาพ Portrait of George Villiers, 1st Duke of Buckingham ซึ่งหายสาบสูญไปเกือบ 400 ปีจนมาถูกพบที่เมืองกลาสโกว์ ในสกอตแลนด์เมื่อปี 2017
แรงบันดาลใจจากสาวน้อยวัยสิบหก
หลังปี 1630 รูเบนส์กลับมาใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่เมืองแอนต์เวิร์ป มีออกไปทำงานที่ต่างประเทศบ้างเป็นครั้งคราว หลังจากที่ภรรยาเสียชีวิตไปเมื่อ 4 ปีก่อน ปลายปี 1630 รูเบนส์ในวัย 53 ปีได้แต่งงานใหม่อีกครั้งกับ Helena Fourment สาวน้อยวัย 16 ปี เธอผู้นี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเขาในการสร้างผลงานภาพเขียนจำนวนมาก นอกเหนือจากภาพเหมือนของ Helena เอง และภาพเหมือนของเธอกับลูกๆแล้ว ในภาพเขียนเรื่องจากตำนานหรือภาพเขียนเชิงเปรียบเทียบต่างๆก็มักปรากฏใบหน้าของ Helena อยู่เสมอ โดยเฉพาะภาพใบหน้าของเทพวีนัส และในช่วงทศวรรษหลังผลงานของรูเบนส์จะออกในแนวยั่วยวนกามารมณ์มากกว่าแต่ก่อน ผลงานที่โดดเด่นในช่วงนี้ได้แก่ภาพ The Three Graces, The Judgement of Paris และ Rubens with Helene Fourment and their son Peter Paul เป็นต้น
แม้ว่ารูเบนส์จะโดนอาการกำเริบของโรคเกาต์เล่นงานอยู่บ่อยๆ แต่เขายังคงรับงานเขียนภาพอยู่มิได้ว่างเว้นจนย่างเข้าวัยชรา ถึงสุขภาพไม่ดีนักและดูอิดโรยแต่เขายังมีความมั่นใจและภาคภูมิใจอย่างที่เขาได้แสดงในภาพเหมือนตัวเองในชุดอัศวิน Self Portrait (1639) รูเบนส์ยังคงสร้างผลงานของเขาอยู่ตลอด หนึ่งในนั้นคือภาพ Consequences of War ที่เขาได้สะท้อนมุมมองส่วนตัวต่อความน่ากลัวของสงครามที่ไม่มีความปรานีและทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ช่วงบั้นปลายชีวิตรูเบนส์ซื้อที่ดินนอกเมืองแอนต์เวิร์ปและใช้เวลาอยู่ที่นั่นค่อนข้างมาก พร้อมกับเขียนภาพทิวทัศน์ที่ยอดเยี่ยมไว้หลายภาพ รวมทั้งภาพ A View of Het Steen in the Early Morning เขาเสียชีวิตหลังโรคเกาต์กำเริบหนักหลายครั้งในปี 1640 ด้วยวัย 62 ปี
ผลงานเปี่ยมพลังเคลื่อนไหวยั่วยวนใจ
รูเบนส์เป็นหนึ่งในศิลปินที่สร้างผลงานภาพเขียนไว้มากกว่า 1,000 ภาพ ผลงานของเขาเป็นการผสมผสานศิลปะแบบเฟลมิชที่โดดเด่นกับสไตล์คลาสสิกแบบเรอเนสซองส์ของอิตาลี จุดเด่นในภาพเขียนของเขาอยู่ที่รูปทรงที่เป็นอิสระด้วยเส้นที่เป็นคลื่นลอนรู้สึกได้ถึงพลังแห่งการเคลื่อนไหว เทคนิคการลงสีผิวเป็นชั้นๆทำให้ภาพคนดูมีเลือดเนื้อที่ไหลเวียน รวมทั้งภาพนู้ดผู้หญิงที่ดูมีชีวิตชีวายั่วยวนใจ ผลงานของเขาจึงครองใจผู้ชมอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งในผลงานอันยอดเยี่ยมของสุดยอดศิลปินบาโรกผู้นี้
Early Works (1597 – 1609)
Antwerp Period (1609–1621)
European Period (1621 – 1630)
Last Decade (1630 – 1640)
รูเบนส์ได้ใช้เทคนิคอันน่าทึ่งทำให้ภาพเขียนของเขาเปี่ยมไปด้วยพลังและความมีชีวิตชีวา เขาเป็นหัวขบวนผู้ขับเคลื่อนศิลปะยุคบาโรกให้รุ่งเรืองในช่วงศตวรรษที่ 17 รูเบนส์เป็นหนึ่งในศิลปินที่มีความสามารถรอบด้านและมีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด เขาเป็นเจ้าของสตูดิโอเขียนภาพที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่ของ Raphael ในยุคเรอเนสซองส์ เขามีลูกศิษย์และผู้ช่วยในสตูดิโอมากมาย หนึ่งในนั้นต่อมากลายเป็นศิลปินดังแห่งยุคเช่นกันคือ Antoon van Dyck เขายังเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินดังรุ่นหลังอีกจำนวนมากรวมทั้ง Pierre-Auguste Renoir และ Eugène Delacroix รูเบนส์มีความรู้ความสามารถหลากหลาย เขาเป็นทั้งจิตรกร นักการทูต นักวิชาการ นักสะสมโบราณวัตถุ สถาปนิก และนักมนุษยนิยม จึงมีหลายคนยกย่องเขาเป็น “Renaissance Man” แห่งยุคบาโรก
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, britannica, peterpaulrubens.net