สองพี่น้องตระกูลไรต์เป็นชาวอเมริกัน วิลเบอร์เกิดเมื่อปี 1867 ที่เมือง Millville ส่วนออวิลล์เกิดที่เมือง Dayton อายุน้อยกว่าวิลเบอร์ 4 ปี ทั้งคู่เป็นเพื่อนเล่นและทำอะไรด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก พ่อของพวกเขาเป็นบาทหลวงที่เดินทางอยู่ตลอด ครอบครัวจึงต้องย้ายที่อยู่กันบ่อยๆ จนกระทั่งย้ายมาอยู่แบบถาวรที่เมือง Dayton ในปี 1884 แม่ของพวกเขามีความรู้เรื่องอุปกรณ์กลไกซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อของเธอที่มีอาชีพทำรถลาก เธอสามารถสร้างเครื่องมือเครื่องใช้และของเล่นได้เอง สิ่งนี้ถูกส่งผ่านมายังลูกสองคนที่สนใจเรื่องนี้ ทั้งคู่จึงสามารถออกแบบสร้างอุปกรณ์ของพวกเขาเองโดยมีแม่เป็นที่ปรึกษา
วิลเบอร์เป็นเด็กฉลาดและขยันเรียน เข้าเรียนชั้นมัธยมที่เมือง Richmond รัฐอินเดียนา เขาเป็นนักเรียนเด่นคนหนึ่งในโรงเรียนแต่กลับไม่ได้รับประกาศนียบัตรจบการศึกษาเนื่องจากครอบครัวย้ายไปอยู่ที่เมือง Dayton รัฐโอไฮโอก่อนวันงานพิธีรับประกาศนียบัตร อย่างไรก็ตามหลังจากวันนั้นอีก 110 ปีได้มีการมอบประกาศนียบัตรนี้ให้กับวิลเบอร์ในปี 1994 หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว 82 ปี วิลเบอร์วางแผนเข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเยลและได้ลงทะเบียนเรียนหลักสูตรเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย แต่ราวปลายปี 1885 เขาได้รับบาดเจ็บจากการเล่นฮ็อกกี้ทำให้เขาต้องพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านนานถึง 3 ปี ระหว่างการพักฟื้นเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ดูแลแม่ที่ป่วยเป็นวัณโรคและได้เสียชีวิตไปในปี 1889 กับอ่านหนังสือจำนวนมากในห้องสมุดของพ่อ
เส้นทางธุรกิจของนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์
ออวิลล์สนใจในธุรกิจสิ่งพิมพ์เขาใช้เวลาช่วงปิดเทอมฤดูร้อนศึกษาเรียนรู้การดำเนินธุรกิจนี้อยู่หลายปี หลังจากแม่ของเขาจากไปได้ไม่นานออวิลล์ก็ได้ออกจากโรงเรียนมัธยมเพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจสิ่งพิมพ์อย่างจริงจัง เขาชักชวนวิลเบอร์ให้มาทำงานด้วยกัน ทั้งคู่ช่วยกันออกแบบและสร้างแท่นพิมพ์เพื่อใช้ในโรงพิมพ์ของพวกเขาเองและขายให้กับคนอื่นด้วย สองพี่น้องได้ผลิตหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์โดยมีออวิลล์เป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณาและวิลเบอร์เป็นบรรณาธิการ ปี 1890 พวกเขาเริ่มออกหนังสือพิมพ์รายวันแต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จทำอยู่ได้แค่ 4 เดือนก็ต้องเลิกไป
ปี 1892 พวกเขาหันไปเปิดร้านซ่อมและขายจักรยานซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในสหรัฐอเมริกา บริษัท Wright Cycle Company ของพวกเขาไปได้ดีมากจนกลายเป็นธุรกิจหลักแทนธุรกิจโรงพิมพ์ ปี 1896 พวกเขาเริ่มมีแบรนด์จักรยานของตัวเองจากการออกแบบและสร้างที่โรงงานของพวกเขาเอง พวกเขาพัฒนาส่วนประกอบของจักรยานให้มีประสิทธิภาพสูง เช่น ดุมล้อที่มีระบบหล่อลื่นตัวเอง รวมทั้งได้สร้างเครื่องมือที่ใช้ในโรงงานผลิตจักรยานกันเองหลายอย่าง ประสบการณ์จากการออกแบบและสร้างเครื่องจักรเครื่องมือหลายชนิดเป็นพื้นฐานสำคัญในการออกแบบสร้างเครื่องบินในเวลาต่อมา และผลกำไรจากโรงพิมพ์และโรงงานจักรยานได้สร้างความมั่งคั่งให้สองพี่น้องและเป็นทุนรอนให้พวกเขาสามารถทำการทดลองการบินที่พวกเขาใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก
แรงบันดาลใจจากของเล่นและคนตาย
มนุษย์มีความฝันอยากบินในอากาศได้อย่างอิสระเสรีแบบเดียวกับนกมานานนับพันปี แม้ว่าธรรมชาติจะไม่ได้สร้างให้มนุษย์เรามีปีกสำหรับบินเหมือนนก แต่มนุษย์ก็พยายามค้นหาวิธีที่จะบินให้ได้ทั้งโดยวิธีเลียนแบบนกและวิธีอื่นๆ นับจากชาวจีนประดิษฐ์ว่าวขึ้นใช้งานตั้งแต่หลายร้อยปีก่อนคริสตศักราชมนุษย์ได้พยายามคิดค้นวิธีช่วยให้บินได้มาโดยตลอด เมื่อ 500 ปีก่อนในช่วงศตวรรษที่ 16 Leonardo da Vinci ได้ออกแบบอุปกรณ์ช่วยให้คนบินได้ไว้หลายอย่าง ได้แก่ เครื่องร่อน (Glider), เครื่องบินมีปีกกระพือได้ (Ornithopter) ที่เลียนแบบการบินของนก, สกรูบิน (Aerial Screw) ที่เป็นต้นแบบของเฮลิคอปเตอร์ และร่มชูชีพ (Parachute) ในศตวรรษที่ 18 มีการสร้างและพัฒนาบอลลูนอากาศร้อน (Hot Air Balloon) ในศตวรรษที่ 19 มีการสร้างและพัฒนาเครื่องร่อน (Glider) และเริ่มมีคนทดลองสร้างเครื่องบินแต่ยังไม่มีผู้ใดประสบความสำเร็จ
วิลเบอร์และออวิลล์ได้รับแรงบันดาลใจในการคิดสร้างเครื่องบินมาตั้งแต่ปี 1878 ขณะที่มีอายุ 11 และ 7 ปี เมื่อได้รับของขวัญชิ้นพิเศษจากพ่อที่กลับจากการเดินทางเป็นเฮลิคอปเตอร์ของเล่นทำจากไม้ไผ่และกระดาษมีหนังยางเป็นตัวหมุนใบพัด พวกเขาชอบและหลงใหลมันมาก ของเล่นชิ้นนี้ได้จุดประกายความคิดในการสร้างเครื่องบินและฝังอยู่ในใจตลอดมาจนกระทั่งถึงปี 1896 Otto Lilienthal ผู้สร้างเครื่องร่อนและประสบความสำเร็จในการทดลองบินด้วยเครื่องร่อนกว่า 2,000 ครั้ง แต่มาพลาดในการบินครั้งสุดท้ายตกจากความสูง 15 เมตรเสียชีวิต เหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นให้สองพี่น้องตระกูลไรต์ทำการวิจัยเรื่องการบินอย่างจริงจัง ปี 1899 วิลเบอร์เขียนจดหมายไปถึงสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institution) ขอข้อมูลและผลงานที่พิมพ์เผยแพร่เกี่ยวกับเรื่องการบินทั้งหมดมาศึกษา และพวกเขาก็เริ่มต้นออกแบบสร้างและทดลองการบินในปีนั้นเอง
ระบบควบคุมการบินที่เลียนแบบจากนก
ด้วยความรู้และประสบการณ์ในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาด้านเครื่องจักรกลที่สองพี่น้องสั่งสมมายาวนาน หลังจากศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการบินแล้วพวกเขาพบว่าเครื่องบินที่จะสามารถบินได้จริงต้องมีองค์ประกอบหลัก 3 อย่าง อย่างแรกคือต้องมีปีกที่เหมาะสมเพื่อสร้างแรงยกตัว ถัดมาคือระบบขับเคลื่อนเพื่อนำพาตัวเครื่องบินบินผ่านอากาศ และสุดท้ายคือต้องมีระบบควบคุมการบินซึ่งมีความซับซ้อนมากเพราะต้องควบคุมการทรงตัว การเปลี่ยนระดับขึ้นลง และการบังคับทิศทาง พวกเขาคิดว่า Otto Lilienthal ได้สร้างปีกที่ดีเอาไว้แล้วสามารถพัฒนาต่อยอดได้ ขณะเดียวกันในช่วงเวลานั้นมีหลายบริษัทกำลังพัฒนาสร้างเครื่องยนต์สันดาปภายในที่มีน้ำหนักเบาสามารถตอบโจทย์เรื่องระบบขับเคลื่อนของเครื่องบินได้ ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาจะต้องแก้ปัญหาให้ได้คือระบบควบคุม
แม้ว่า Lilienthal ประสบความสำเร็จในการบินด้วยเครื่องร่อนมากมายด้วยวิธีขยับน้ำหนักตัวของเขาไปมาเพื่อการทรงตัวและควบคุมทิศทาง แต่วิลเบอร์และออวิลล์คิดว่านั่นไม่ใช่วิธีที่เหมาะสม มันจะต้องมีวิธีที่ดีกว่านั้น พวกเขาสังเกตเห็นนกจะปรับมุมปลายปีกเพื่อให้ตัวมันหมุนเอียงไปทางซ้ายหรือขวา จึงคิดค้นระบบขยับปลายปีกเลียนแบบนกที่เรียกว่า Wing warping เพื่อใช้ในการควบคุมการบิน พวกเขาทดลองระบบที่คิดค้นขึ้นใหม่กับว่าวที่มีปีก 2 ชั้นและพบว่าสามารถใช้ควบคุมให้ว่าวไต่ระดับขึ้นสูง ดิ่งลง หรือเคลื่อนไปทางซ้ายหรือขวาอย่างที่ต้องการได้ จากนั้นจึงออกแบบสร้างเครื่องร่อนโดยใช้ข้อมูลของ Lilienthal ในการคำนวณขนาดของปีก พวกเขาสร้างเครื่องร่อนแบบปีก 2 ชั้นมีพื้นที่ปีก 15 ตารางเมตร ติดตั้งระบบ Wing warping ที่ปลายปีกและยังติดตั้งตัวปรับระดับด้านหน้า (Forward elevator) เพื่อควบคุมระดับขึ้นลง
ปี 1900 พวกเขาไปทดสอบเครื่องร่อนที่เมือง Kitty Hawk รัฐนอร์ทแคโรไลนา เพราะที่นั่นมีเนินทรายสูงเป็นบริเวณกว้างใหญ่และมีลมแรงเหมาะกับการทดสอบการบินมาก แต่ปรากฏว่าเครื่องร่อนเครื่องแรกของพวกเขาสร้างแรงยกได้น้อยไม่เพียงพอรับน้ำหนักคน ปีถัดมาพวกเขากลับมาที่เมือง Kitty Hawk อีกครั้งพร้อมกับเครื่องร่อนที่มีปีกใหญ่ขึ้นเป็น 26 ตารางเมตร คราวนี้พวกเขาร่อนเครื่องร่อนสำเร็จราว 100 ครั้งไปได้ไกลสุดประมาณ 120 เมตร แต่พบว่าแรงยกยังไม่เป็นไปตามที่คำนวณและระบบควบคุมยังต้องปรับปรุงอีกมาก ถึงแม้ว่าไม่สำเร็จดังหวังแต่พวกเขาก็ยังพยายามต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ โดยให้เครื่องร่อนบินแบบว่าวเพื่อเก็บข้อมูลนำมาใช้ปรับปรุงในเครื่องร่อนรุ่นถัดไป
ใช้ “อุโมงค์ลม” ออกแบบปีกเครื่องบิน
ปี 1902 สองพี่น้องได้สร้างอุโมงค์ลมขนาดยาว 1.8 เมตรและใช้มันทดสอบคุณสมบัติของปีกเครื่องบินที่มีขนาด รูปทรง และลักษณะภาคตัดขวาง (Airfoil) รวมไปถึงรูปแบบของปลายปีกและช่องว่างระหว่างปีกทั้งสองชั้นที่แตกต่างกันกว่า 200 แบบเพื่อเรียนรู้พฤติกรรมของปีกขณะรับแรงลมและหารูปแบบของปีกที่ดีที่สุด ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการทดสอบเกี่ยวกับการบินที่สำคัญและประสบความสำเร็จมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในระยะเวลาอันสั้นโดยใช้วัสดุและมีค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จากความรู้ที่ได้จากการทดสอบด้วยอุโมงค์ลมพวกเขาทั้งสองได้สร้างเครื่องร่อนลำใหม่โดยเลิกใช้ข้อมูลและการคำนวณของ Lilienthal หันมาใช้การออกแบบและการคำนวณของพวกเขาเองทั้งหมด พวกเขาได้เพิ่มหางเสือแนวดิ่งที่ปรับได้และเชื่อมโยงกับระบบ Wing warping เพื่อให้การควบคุมการบินมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การทดสอบเครื่องร่อนรุ่นใหม่ทำกันที่เมือง Kitty Hawk เช่นเคยโดยเริ่มให้มันบินแบบว่าวก่อน จากนั้นทั้งคู่ก็ผลัดกันทดลองบิน เครื่องร่อนใหม่สามารถสร้างแรงยกได้ตามที่คาดการณ์เอาไว้ แต่พบว่ายังมีปัญหาด้านการควบคุมการบิน พวกเขาวิเคราะห์ปัญหาและทำการปรับปรุงระบบควบคุมจนทำงานได้ผลตามต้องการ จากนั้นพวกเขาทำการทดลองบินรวมกันราว 1,000 ครั้ง บินได้ไกลที่สุดราว 190 เมตรและค้างอยู่ในอากาศได้นานถึง 26 วินาที เมื่อทดลองเครื่องร่อนและควบคุมมันได้ดีหลายร้อยครั้งด้วยระบบควบคุม 3 แกนมี Wing warping ควบคุมการหมุนเอียง, Forward elevator ควบคุมระดับขึ้นลง และหางเสือด้านหลัง (Rear rudder) ควบคุมทิศทาง พวกเขาจึงคิดว่าพร้อมแล้วที่จะติดตั้งระบบขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนเครื่องร่อนให้เป็นเครื่องบิน
จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่ต้องลงมือสร้างเอง
ปี 1903 สองพี่น้องตระกูลไรต์สร้างเครื่องบินลำแรกของพวกเขาชื่อว่า Wright Flyer โครงสร้างทำด้วยไม้สนสปรูซซึ่งมีความแข็งแกร่งแต่มีน้ำหนักเบา ส่วนปีกคลุมด้วยผ้าฝ้ายมัสลินซึ่งมีน้ำหนักเบาเช่นกัน พวกเขาออกแบบตัวใบพัดที่ทำจากไม้และสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเอง ส่วนอุปกรณ์สำคัญที่เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายนั่นคือเครื่องยนต์ที่จะถูกติดตั้งเข้าไปเพื่อเป็นตัวหมุนใบพัดสำหรับขับเคลื่อนเครื่องบินนั้น พวกเขาต้องการเครื่องยนต์ขนาด 8 แรงม้าที่มีน้ำหนักไม่เกิน 160 ปอนด์ ทั้งสองติดต่อบริษัทผลิตเครื่องยนต์หลายแห่งแต่ไม่มีบริษัทใดสามารถทำให้ได้ ดังนั้นพวกเขาจึงลงมือประดิษฐ์เครื่องยนต์ขึ้นด้วยตัวเองโดยความช่วยเหลือของ Charles Taylor ช่างเครื่องยนต์ที่โรงงานจักรยานของเขา เครื่องยนต์เบนซินสันดาปภายในที่พวกเขาออกแบบสร้างขึ้นทำด้วยอลูมิเนียมมีน้ำหนัก 170 ปอนด์มีกำลัง 12 – 16 แรงม้า ค่าใช้จ่ายในการสร้าง Wright Flyer น้อยกว่า 1,000 ดอลลาร์แตกต่างกันลิบลับกับที่รัฐบาลจ่ายให้โครงการสร้างเครื่องบิน Langley Aerodrome จำนวน 50,000 ดอลลาร์ในเวลาใกล้เคียงกันซึ่งล้มเหลวไม่เป็นท่าอีกด้วย
การทดสอบบินทำกันในวันที่ 14 ธันวาคม 1903ที่เมือง Kitty Hawk เหมือนเดิม แต่ด้วยความที่ยังไม่คุ้ยเคยกับเครื่องยนต์และสภาพอากาศไม่ค่อยดี ในการขึ้นบินครั้งแรกโดยวิลเบอร์จึงยังไม่สำเร็จ ออกตัวได้แค่ 3 วินาทีก็จอด ตัวเครื่องบินเสียหายเล็กน้อย พอซ่อมเสร็จออวิลล์นำเครื่องขึ้นบินได้สำเร็จเป็นครั้งแรกด้วยระยะการบิน 37 เมตรในเวลา 12 วินาที จากนั้นทั้งคู่ผลัดกันบินและทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆทั้งระยะทางการบินและช่วงเวลาที่อยู่ในอากาศ การทดลองบินวันแรกได้ระยะทางไกลสุดเกือบ 260 เมตรในเวลา 59 วินาที การทดลองบินครั้งประวัติศาสตร์นี้มีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์เพียง 5 คน ขณะที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเมือง Dayton ก็ปฏิเสธที่จะเผยแพร่ข่าวโดยอ้างว่าเป็นความสำเร็จเพียงน้อยนิดไม่สำคัญมากพอ
สานฝันพันปีของมนุษยชาติให้เป็นจริง
หลังกลับมาจาก Kitty Hawk สองพี่น้องตัดสินใจเริ่มถอนตัวออกจากธุรกิจจักรยานเพื่อต้องการโฟกัสกับการสร้างเครื่องบินอย่างเต็มที่ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากเพราะพวกเขาไม่ได้รับทุนจากรัฐบาลหรือร่ำรวยขั้นมหาเศรษฐี ปี 1904 ทั้งสองสร้างเครื่องบินลำใหม่ Flyer II และเลือกทดสอบบินที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์ Huffman Prairie ชานเมือง Dayton เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปที่เมือง Kitty Hawk แต่ก็ต้องเจอกับปัญหาใหม่เรื่องแรงลมต่ำขึ้นบินยากต้องใช้ทางวิ่งยาว รวมทั้งสภาพพื้นที่ลงจอดยากด้วย พวกเขาต้องปรับปรุงเครื่องบินเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆอยู่นานก่อนที่ทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทาง ในที่สุด Flyer II ก็มีสถิติการบินที่ดีกว่ารุ่นพี่ของมัน พวกเขาสามารถบินอยู่ในอากาศได้นานกว่า 5 นาทีในการบินเป็นวงกลมหลายรอบระยะทางเกือบ 5 กิโลเมตร
ปี 1905 สองพี่น้องสร้าง Flyer III แรกๆก็ยังมีปัญหาบินได้ไม่ดี แต่หลังจากการปรับปรุงครั้งใหญ่โดยเฉพาะเรื่องระบบควบคุมที่มีการแยกการควบคุมแต่ละแกนให้เป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องกันทำให้ Flyer III บินได้อย่างมั่นคง การทดลองบินเที่ยวหนึ่งเหนือทุ่งเลี้ยงสัตว์ Huffman Prairie เครื่อง Flyer III บินได้ไกลถึง 39 กม.ในเวลา 38 นาที พวกเขาพัฒนาเครื่องบินให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อยๆและแสดงให้ทั่วโลกรับรู้ถึงความยอดเยี่ยมของเทคโนโลยีการบินที่พวกเขาคิดค้นประดิษฐ์ขึ้นมา ในปี 1908 วิลเบอร์บินข้ามทวีปไปยังประเทศฝรั่งเศสได้สำเร็จ และในปี 1909 ออร์วิลบินข้ามช่องแคบอังกฤษได้สำเร็จ
จากสิ่งประดิษฐ์ยิ่งใหญ่สู่ธุรกิจการบิน
ปี 1906 รัฐบาลสหรัฐยอมรับในเทคโนโลยีใหม่ของสองพี่น้องตระกูลไรต์และให้พวกเขาจดสิทธิบัตรรวมทั้งยังสั่งซื้อเครื่องบินจากพวกเขาด้วย ทั้งสองตั้งบริษัท Wright Company ขึ้นในปี 1909 มีวิลเบอร์เป็นประธานบริษัทและออร์วิลเป็นรองประธาน พวกเขาสร้างโรงงานผลิตเครื่องบินในเมือง Dayton สร้างสนามบินและโรงเรียนการบินที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์ Huffman Prairie หนึ่งในนักเรียนการบินที่ผ่านการฝึกจากโรงเรียนการบินของพวกเขาคือ Henry Harley Arnold ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้บัญชาการกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่ 2
วิลเบอร์ผู้พี่นอกจากต้องทุ่มเทให้กับการบริหารธุรกิจแล้วเขายังต้องใช้เวลาและความยุ่งยากใจอยู่กับการดำเนินการทางกฎหมายในคดีความที่เขาฟ้องร้องผู้สร้างเครื่องบินคู่แข่งทั้งในสหรัฐอเมริกาและในยุโรปที่เขาเชื่อว่าได้ละเมิดสิทธิบัตรของเขา โดยเฉพาะในรายของ Glenn Curtiss ผู้ก่อตั้ง Curtiss Aeroplane and Motor Company เขาต้องเดินทางไม่หยุดหย่อนเพื่อปรึกษากับทนายความและให้การเป็นพยานในศาล ความเหนื่อยล้าจากการทำธุรกิจและการเดินทาง รวมทั้งความกังวลในปัญหาด้านกฏหมายและความทุกข์ทรมานจากโรคไข้ไทฟอยด์ส่งผลให้วิลเบอร์เสียชีวิตไปในวันที่ 30 พฤษภาคม 1912 ด้วยวัยเพียง 45 ปี
ออวิลล์รับช่วงเป็นประธานบริหารบริษัท Wright Company ต่อจากวิลเบอร์แต่เขาซึ่งไม่ถนัดการทำธุรกิจแบบพี่ชายจึงขายบริษัทไปในปี 1915 ออวิลล์กลายเป็นบุคคลสำคัญด้านการบินของประเทศได้เป็นคณะกรรมการบอร์ดขององค์กรสำคัญหลายแห่ง รวมทั้งเป็นคณะกรรมการการบินแห่งชาติ (NACA) ที่ต่อมากลายเป็นองค์การนาซานานถึง 28 ปี และเป็นคณะกรรมการของสมาคมอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ (AIA) ด้วย ออวิลล์เสียชีวิตในปี 1948 ด้วยวัย 76 ปีหลังการเสียชีวิตของพี่ชายกว่า 35 ปี
สองพี่น้องตระกูลไรต์เป็นผู้มีความมานะพยายามเป็นเลิศไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคทั้งปวงจนทำให้สามารถประดิษฐ์เครื่องบินซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกตลอดกาลได้สำเร็จอันเป็นเริ่มต้นของธุรกิจการบินที่แพร่กระจายไปทั่วโลกและทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสารเป็นการเดินทางที่รวดเร็วและปลอดภัยที่สุด ทั้งวิลเบอร์และออวิลล์ไม่เคยแต่งงานเช่นเดียวกับ Isaac Newton, Nikola Tesla และนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อีกหลายท่าน
ข้อมูลและภาพจาก britannica, wikipedia, history