กินอาหารที่อุดมด้วย “ฟลาโวนอยด์” สามารถช่วยป้องกันโรคมะเร็งและโรคหัวใจ

ในงานวิจัยล่าสุดนักวิจัยพบว่าการกินอาหารที่อุดมด้วย “ฟลาโวนอยด์” เช่น แอปเปิลและชา สามารถช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งและโรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพวกสูบบุหรี่จัดและพวกดื่มหนักสามารถช่วยได้เยอะเลย

ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) เป็นสารประกอบในกลุ่มพอลิฟีนอล (Polyphenol) บางคนเรียกว่า Vitamin P มีโครงสร้างโมเลกุลเหมือนกับฮอร์โมนเพศหญิงหรือเอสโตรเจน พบมากในผักและผลไม้หลายชนิด เช่น แอปเปิล ชาเขียว เบอรี่ ส้ม บร็อคโคลี ฯลฯ ฟลาโวนอยด์มีสารประกอบหลายชนิดที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ บางชนิดพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าวิตามินซีหลายสิบเท่า

ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Edith Cowan University (ECU) ประเทศออสเตรเลียได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาด้านโภชนาการของชาวเดนมาร์ก 53,048 คนในระยะเวลากว่า 23 ปี พบว่าคนที่กินอาหารที่มีฟลาโวนอยด์ในปริมาณปานกลางถึงสูงเป็นประจำมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจน้อยกว่า

Nicola Bondonno หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่านอกจากผลการวิจัยพบว่าผู้ที่กินอาหารที่อุดมด้วยฟลาโวนอยด์จะมีอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตต่ำกว่าแล้ว ยังพบว่าผลของการป้องกันนี้ยังให้ผลดีเป็นพิเศษสำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูงของโรคเรื้อรังจากการสูบบุหรี่และคนที่ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 2 แก้วมาตรฐานต่อวัน

“แต่สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าการกินฟลาโวนอยด์ไม่ได้ปกป้องความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเสียชีวิตทั้งหมดที่เกิดจากการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งที่ดีที่สุดต่อสุขภาพของคุณคือการเลิกสูบบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์” Bondonno กล่าว “เรารู้ว่าการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เป็นสิ่งที่ท้าทาย ดังนั้นการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคฟลาโวนอยด์อาจเป็นวิธีใหม่ในการลดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องกระตุ้นให้ผู้คนเลิกสูบบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์ควบคู่กันไปด้วย”

ผลการวิจัยยังพบว่าการบริโภคฟลาโวนอยด์ในปริมาณ 500 มิลลิกรัมต่อวันดูเหมือนจะให้ผลในการป้องกันโรคหัวใจได้ดีที่สุด แต่สำหรับการป้องกันโรคมะเร็งดูเหมือนต้องเพิ่มปริมาณให้ได้วันละ 1,000 มิลลิกรัม

Bondonno บอกว่ามันสำคัญมากที่จะต้องบริโภคฟลาโวนอยด์ที่แตกต่างหลากหลายชนิดซึ่งมีอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ตัวอย่างเช่น ชา 1 ถ้วย, แอปเปิล 1 ลูก, ส้ม 1 ลูก,บลูเบอรี่ 100 กรัม, และบร็อคโคลี 100 กรัม จะทำให้ได้รับฟลาโวนอยด์หลายชนิดเป็นปริมาณรวมมากกว่า 500 มิลลิกรัม

นอกจากนี้เธอยังบอกว่างานวิจัยนี้ได้ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคฟลาโวนอยด์กับอัตราเสีี่ยงในการเสียชีวิตลดลงก็จริง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่ามันเกิดขึ้นอย่างไรและน่าจะมีหลายแง่มุม

“ทั้งการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ทำให้เพิ่มการอักเสบและทำลายหลอดเลือดซึ่งสามารถเพิ่มอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิต” Bondonno กล่าว “ฟลาโวนอยด์ได้แสดงให้เห็นว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบและทำให้หลอดเลือดทำงานดีขึ้นซึ่งอาจอธิบายได้ว่าทำไมพวกมันถึงสามารถลดอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและมะเร็ง”

งานวิจัยชิ้นนี้สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ระบุว่ามีคนทั่วโลกเสียชีวิตก่อนกำหนดราว 7.8 ล้านคนต่อปีเนื่องจากบริโภคผักและผลไม้ต่ำ (น้อยกว่า 800 กรัมต่อวัน) ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับเปลี่ยนมากินผักและผลไม้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะชนิดที่อุดมด้วย “ฟลาโวนอยด์” ก็อาจช่วยให้เรามีชีวิตที่ยืนยาว

 

ข้อมูลและภาพจาก ecu.edu.au, healthline

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *