เข็มทิศไม่ได้ชี้ตรงไปที่ขั้วโลกเหนือแต่ชี้ไปที่ขั้วของสนามแม่เหล็กโลกซึ่งอยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือ (ห่างกันราว 500 กิโลเมตร) ทิศเหนือของเข็มทิศจึงเรียกว่าทิศเหนือแม่เหล็ก (Magnetic North) แกนของโลกกับแกนของสนามแม่เหล็กโลกอยู่คนละแนวกัน มุมที่เส้นแกนสนามแม่เหล็กโลกเอียงออกไปจากเส้นแกนโลกเรียกว่ามุมบ่ายเบนแม่เหล็กโลก (Magnetic Declination) ค่าของมุมนี้แปรผันไปตามตำแหน่งต่างๆบนผิวโลกและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากสนามแม่เหล็กโลกไม่คงที่มีการเปลี่ยนแปลงจากหลายสาเหตุทั้งจากอิทธิพลของดวงอาทิตย์, การเคลื่อนที่ของของเหลวภายในแกนโลก รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก
ที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้วที่มุมบ่ายเบนแม่เหล็กมีค่าติดลบซึ่งหมายถึงเข็มทิศชี้ไปทางตะวันตกของทิศเหนือจริง ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ค่าติดลบนี้ค่อยๆน้อยลงตามลำดับ ด้วยเหตุเพราะขั้วโลกเหนือแม่เหล็กได้เคลื่อนที่ไปทางตะวันตกด้วยอัตราราว 20 กิโลเมตรต่อปี และด้วยความเร็วขนาดนี้คาดว่ามุมบ่ายเบนแม่เหล็กจะมีค่าเป็น 0 องศาในเดือนกันยายนนี้
“ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในเดือนกันยายน เข็มทิศจะชี้ไปในแนวเดียวกับเส้นละติจูดศูนย์องศาที่เมืองกรีนิช” Ciaran Beggan นักวิจัยด้านสนามแม่เหล็กโลกจากสถาบันสำรวจทางธรณีวิทยา British Geological Survey (BGS) กล่าว “นี่นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ได้มีการสร้างหอดูดาวแห่งเมืองกรีนิชเมื่อสามร้อยกว่าปีก่อนที่ระบบพิกัดทางภูมิศาสตร์และทางธรณีแม่เหล็กซ้อนทับกันที่สถานที่นี้”
Beggan บอกว่าสภาพการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นผ่านไปทั่วประเทศอังกฤษในช่วง 15 – 20 ปีข้างหน้านี้ และภายในปี 2040 เข็มทิศอาจจะชี้ไปทางตะวันออกของทิศเหนือจริง ในปัจจุบันมันเป็นไปไม่ได้ที่จะคาดการณ์ว่าสนามแม่เหล็กโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรในช่วงหลายทศวรรษถึงศตวรรษ ดังนั้นเข็มทิศในประเทศอังกฤษอาจชี้ไปทางตะวันออกของทิศเหนือจริงในอีก 360 ปีข้างหน้า
ข้อมูลและภาพจาก bgs.ac.uk, newatlas