เด็กหนุ่มพรสวรรค์เริ่มดังจากบ้านเกิด
ดิเอโก เบลัซเกซ เป็นชาวสเปน เกิดเมื่อปี 1599 ที่เมืองเซบียา เขาเริ่มเรียนศิลปะการเขียนภาพตั้งแต่อายุ 11 ปีกับ Francisco Pacheco ครูสอนศิลปะและจิตรกรแนวศาสนาที่เมืองบ้านเกิดซึ่งต่อมากลายเป็นพ่อตาของเขา Pacheco เต็มใจยกลูกสาว Juana Pacheco ให้แต่งงานกับเบลัซเกซเนื่องจากเห็นพรสวรรค์อันยอดเยี่ยมของเขานั่นเอง เบลัซเกซฝึกฝีมือกับ Pacheco จนถึงปี 1617 แล้วออกมาเปิดสตูดิโอเขียนภาพของตัวเอง แม้ว่าเขาจะทำงานอยู่กับ Pacheco นานถึง 6 ปีแต่พอมาสร้างผลงานของตัวเองกลับไม่มีร่องรอยสไตล์การเขียนภาพของผู้เป็นอาจารย์เลย แต่เป็น Caravaggio ศิลปินดังแห่งยุคผู้ล่วงลับไปไม่นานที่มีอิทธิพลต่อผลงานในช่วงแรกของเขาอย่างมาก
ช่วงเริ่มต้นเบลัซเกซเขียนภาพในแนววิถีชีวิตชาวบ้านที่ส่วนใหญ่มักเป็นฉากในห้องครัว แม้อยู่ในวัยไม่ถึง 20 ปีแต่ผลงานของเขาโดดเด่นมาก โดยเฉพาะในภาพ Old Woman Frying Eggs เขาสร้างมิติของภาพด้วยเทคนิคแสงเงาและการตัดกันอย่างรุนแรงของความมืดและความสว่างซึ่งเป็นสไตล์ที่ Caravaggio เป็นต้นแบบ อีกทั้งความสมจริงของอุปกรณ์ทุกชิ้นและรายละเอียดของบุคคลในภาพโดยเฉพาะส่วนมือ ทำให้มองเห็นภาพนี้เหมือนเป็นภาพถ่าย เบลัซเกซใช้เทคนิคเดียวกันนี้สร้างผลงานชั้นยอดอีกหลายภาพ เช่น ภาพ The Waterseller of Seville ที่เขาเขียนไว้ถึง 3 เวอร์ชั่นและภาพ The Lunch ที่มี 2 เวอร์ชั่น
ถัดมาเบลัซเกซเริ่มเขียนภาพเกี่ยวกับศาสนาโดยเริ่มที่ภาพ Christ in the House of Martha and Mary ซึ่งเป็นการนำฉากบรรยากาศในห้องครัวมาผูกโยงกับเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิล จากนั้นจึงเป็นภาพศาสนาโดยตรงอย่างภาพ Adoration of the Magi ซึ่งเป็นอีกภาพหนึ่งที่เขาใช้เทคนิคแสงและเงาได้อย่างยอดเยี่ยม ต่อมาเบลัซเกซก็เริ่มเขียนภาพบุคคลโดยมีภาพ The Nun Jerónima de la Fuente เป็นผลงานภาพบุคคลแบบเต็มตัวชิ้นแรก เบลัซเกซสร้างผลงานอยู่ที่บ้านเกิดราว 5 ปีจนมีชื่อเสียงพอตัว ปี 1622 เขาจึงเดินทางไปกรุงมาดริดเพื่อโอกาสในการสร้างผลงานที่ท้าทายกว่าเดิม
เลื่อนชั้นเข้าสู่ราชสำนักในเมืองหลวง
เป้าหมายสำคัญของเบลัซเกซคือการได้ทำงานให้ราชสำนักสเปน แต่ในปีแรกที่ไปอยู่ที่กรุงมาดริดเขายังไม่มีโอกาสได้เขียนภาพให้บุคคลสำคัญในราชสำนักจนต้องกลับมาตั้งหลักที่เมืองเซบียา แต่ผลงานของเขาบางชิ้นไปเข้าตา Count-Duke of Olivares นายกรัฐมนตรีคนสนิทของกษัตริย์ ปลายปีเดียวกันจิตรกรราชสำนักเสียชีวิต ท่านเคาน์ Olivares จึงเรียกตัวเขาให้ไปทำงานในเมืองหลวง ปี 1623 เบลัซเกซได้เขียนภาพเหมือนของกษัตริย์ Philip IV แห่งสเปนเป็นครั้งแรก ผลงานออกมาเป็นที่พอใจของกษัตริย์อย่างมาก แต่งตั้งให้เขาเป็นจิตรกรราชสำนักและกำหนดให้เขาเป็นผู้เขียนภาพเหมือนของพระองค์เพียงคนเดียวโดยที่ในขณะนั้นเบลัซเกซมีอายุเพียง 24 ปีเท่านั้น
ผลงานของเบลัซเกซในช่วง 6 – 7 ปีแรกในเมืองหลวงส่วนใหญ่เป็นภาพบุคคลซึ่งมีทั้งภาพเหมือนของ กษัตริย์ Philip IV, ท่านเคาน์ Olivares และบุคคลสำคัญอื่นอีกหลายคน แต่ผลงานที่โดดเด่นที่สุดในช่วงนี้กลับเป็นภาพ The Triumph of Bacchus ซึ่งเป็นภาพเขียนในแนวเรื่องจากตำนานชิ้นแรกของเขา ถือเป็นผลงานชิ้นเอกในช่วงแรกของการเป็นจิตรกรราชสำนัก กษัตริย์ Philip IV ให้ค่าตอบแทนแก่เขาในผลงานชิ้นนี้เป็นเงินเกือบครึ่งหนึ่งของเงินเดือนของเขาทั้งปี
เยี่ยมชม “อิตาลี” ศูนย์กลางแห่งศิลปะ
การเป็นจิตรกรราชสำนักทำให้เบลัซเกซมีโอกาสเห็นภาพเขียนชั้นยอดที่ของราชสำนักมีไว้ในครอบครองซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาฝีมือการเขียนภาพของเขา นอกจากนี้เขายังมีโอกาสได้พบปะศิลปินคนสำคัญหลายคน โดยเฉพาะ Peter Paul Rubens ศิลปินดังแห่งยุคชาวเฟลมิชที่มาทำภารกิจด้านการทูตที่สเปนเมื่อปี 1628 นานหลายเดือน แม้ว่า Rubens จะไม่ได้มีอิทธิพลต่อสไตล์การเขียนภาพของเบลัซเกซแต่ก็มีส่วนช่วยขยายมุมมองและแนวคิดด้านศิลปะต่อเขาอยู่ไม่น้อย และยังมีส่วนกระตุ้นให้เบลัซเกซอยากไปเยี่ยมชมอิตาลีซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งศิลปะในขณะนั้นเพื่อศึกษาผลงานของศิลปินชั้นครูและจะได้นำมาใช้พัฒนาฝีมือการเขียนภาพของตัวเอง
ปี 1629 เบลัซเกซเดินทางไปอิตาลีโดยการสนับสนุนของกษัตริย์ Philip IV เขาอยู่ที่อิตาลีนานถึงปีครึ่ง เดินทางไปหลายเมืองทั้งเมืองเวนิส โบโลนญ่า และกรุงโรม เบลัซเกซได้รับอนุญาตให้เข้าไปศึกษาและคัดลอกภาพของ Michelangelo และ Raphael ในพระราชวังวาติกันด้วย ก่อนกลับเขายังได้ไปที่เมืองเนเปิลส์เพื่อเขียนภาพเหมือนของ Maria Anna ผู้เป็นน้องสาวของกษัตริย์ Philip IV ซึ่งในขณะนั้นได้พักอยู่ที่เมืองเนเปิลส์ ระหว่างอยู่ที่อิตาลีเบลัซเกซได้สร้างผลงานชิ้นเยี่ยมอีกชิ้นหนึ่งคือภาพ Apollo in the Forge of Vulcan ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่มีการจัดวางองค์ประกอบและปฏิสัมพันธ์ของตัวละครได้อย่างยอดเยี่ยม
หลังจากกลับจากอิตาลีเบลัซเกซได้เขียนภาพของกษัตริย์แห่งสเปน พระบรมวงศานุวงศ์ และบุคคลต่างๆมากมายในหลากหลายอิริยาบถ ทั้งภาพเหมือนในเครื่องแต่งกายแบบต่างๆ ภาพบนหลังม้า ภาพในชุดล่าสัตว์ รวมไปถึงภาพเหมือนของตัวเอง ผลงานส่วนใหญ่เป็นภาพบุคคลแต่ก็ยังมีภาพแนวเรื่องจากตำนานและศาสนาอยู่บ้างเล็กน้อยซึ่งมักจะมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ อย่างเช่นภาพ The Surrender of Breda, Crucifixion of Jesus และ Coronation of the Virgin เป็นต้น
เข้าพบพระสันตปาปาพร้อมฝากฝีมือ
เบลัซเกซเดินทางไปอิตาลีอีกครั้งหนึ่งในปี 1649 เพื่อหาซื้อภาพเขียนและวัตถุโบราณล้ำค่าให้กับกษัตริย์ Philip IV ใช้ตกแต่งพระราชวัง รวมทั้งเข้าพบพระสันตปาปา Innocent X ซึ่งให้การต้อนรับเขาอย่างดียิ่ง การมาเยือนอิตาลีคราวนี้เบลัซเกซได้รับแรงบันดาลใจใหม่ๆจากศิลปินชั้นครูของที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก Titian และยังได้พบปะกับศิลปินดังร่วมสมัยเดียวกันหลายคนรวมทั้ง Gian Lorenzo Bernini ประติมากรผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคซึ่งช่วยแนะนำเขาในการเลือกซื้อวัตถุโบราณ
ในการเข้าพบพระสันตปาปาเบลัซเกซได้เขียนภาพเหมือนของพระองค์ด้วยและภาพ Portrait of Innocent X มีความงดงามเป็นพิเศษด้วยฝีมือและเทคนิคที่เขาได้พัฒนามาจนได้ที่ลงตัว สร้างความพึงพอใจให้แก่พระสันตปาปาอย่างมากถึงกับนำไปแขวนไว้ที่ห้องรับรองแขกของพระองค์ ระหว่างอยู่ที่อิตาลีเบลัซเกซยังได้เขียนภาพเหมือนชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งได้แก่ภาพ Portrait of Juan de Pareja ผลงานภาพเหมือนทั้งสองภาพนี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับเบลัซเกซที่อิตาลีอย่างมากจนได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ Accademia di San Luca ซึ่งเป็นสมาคมศิลปินแห่งกรุงโรม นอกจากนี้ยังมีผลงานชั้นยอดอีกชิ้นหนึ่งที่เข้าใจว่าทำเสร็จในช่วงการเยือนอิตาลีคือภาพ Rokeby Venus อันเป็นภาพที่มีชื่อเสียงในอันดับต้นๆของเขา
ผลงานชิ้นเอกมนต์เสน่ห์แห่งปริศนา
ช่วงที่เบลัซเกซไปเยือนอิตาลีคำรบสองนั้นกษัตริย์ Philip IV ได้แต่งงานใหม่กับ Mariana of Austria ดังนั้นเมื่อเขากลับมาสเปนงานสำคัญของเขาจึงเป็นการเขียนภาพของพระราชินีองค์ใหม่และพระบุตรพระธิดาของทั้งสองพระองค์ ปี 1656 เบลัซเกซเขียนภาพของพระธิดาองค์น้อย Infanta Margarita Teresa กับสาวใช้ในชื่อภาพ Las Meninas ภาพนี้ได้กลายเป็นผลงานชิ้นเอกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในภาพเขียนสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ไม่เพียงด้วยรายละเอียดและความประณีตงดงามของภาพเท่านั้น ที่สำคัญการจัดวางองค์ประกอบและบุคคลในภาพเป็นปริศนาน่าฉงนใจกลายเป็นเสน่ห์และความโดดเด่นของภาพ
ภาพนี้เขียนในห้องสตูดิโอที่มีเพดานสูง ตรงกลางภาพด้านหน้าเป็นเจ้าหญิง Margarita Teresa ยืนอยู่ระหว่างสาวใช้สองคน คนหนึ่งกำลังถวายความเคารพ อีกคนกำลังคุกเข่าถวายเครื่องดื่มในถ้วยสีแดงที่วางบนถาดสีทอง ด้านขวามีคนแคระสองคน คนหนึ่งกำลังใช้เท้าปลุกเจ้าสุนัขขี้เซา โดยมีข้าราชบริพารชายหญิงยืนคุยกันอยู่ข้างหลัง ทางด้านหลังข้างขวามีชายคนหนึ่งยืนตรงประตูที่เปิดอ้าแสงสาดเข้ามาเพิ่มความสว่างให้มองเห็นภาพสะท้อนของกษัตริย์และพระราชินีในกระจกเงาใกล้กับประตู ทางซ้ายมือด้านหน้าของภาพเป็นจิตรกรยืนอยู่หน้าเฟรมเขียนภาพซึ่งก็คือตัวเบลัซเกซเอง
องค์ประกอบและบุคคลในภาพได้สร้างความสงสัยแก่ผู้ที่ได้ชมภาพว่าบุคคลส่วนใหญ่ในภาพที่ดูเหมือนกำลังมองมาทางผู้ชมนั้นพวกเขากำลังมองใครกันแน่เพราะว่าจากภาพสะท้อนในกระจกเงากษัตริย์และราชินีน่าจะอยู่ตำแหน่งเดียวกับผู้ชม และเบลัซเกซที่มองมาทางผู้ชมเช่นกันกำลังเขียนภาพของเจ้าหญิง Margarita Teresa หรือว่ากำลังเขียนภาพคู่ของกษัตริย์และราชินีซึ่งอาจยืนเป็นแบบให้อยู่ตรงตำแหน่งของผู้ชม ปริศนาน่าฉงนนี้ถูกวิเคราะห์ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางจนมีบางคนเรียกภาพนี้ว่าเป็น “ปรัชญาแห่งศิลปะ” (Philosophy of the Art)
ยอดจิตรกรภาพบุคคลอัศวินแห่งสเปน
หลังจากเสร็จงาน Las Meninas เบลัซเกซได้เขียนภาพในแนวเรื่องจากตำนานที่กลายเป็นผลงานชั้นยอดอีกชิ้นหนึ่งได้แก่ภาพ Las Hilanderas (The Spinners) แต่ผลงานส่วนใหญ่ยังเป็นการเขียนภาพลูกหลานของกษัตริย์ ภาพที่โดดเด่นมากเป็นพิเศษคือภาพ Infanta Margarita Teresa in a Blue Dress ที่เขียนในปี 1659 ซึ่งถือกันว่าสไตล์การเขียนภาพของเขาได้ก้าวมาถึงจุดสูงสุด ปีเดียวกันนั้นเบลัซเกซได้รับตำแหน่งอัศวินอันเป็นเกียรติยศสูงสุด เครื่องหมายอัศวินบนหน้าอกของเบลัซเกซในภาพ Las Meninas ถูกเพิ่มเข้าไปภายหลังและว่ากันว่ากษัตริย์เป็นผู้ลงมือทำเอง
ปี 1560 สนธิสัญญาสันติภาพระหว่างฝรั่งเศสและสเปนถูกทำให้สมบูรณ์โดยการแต่งงานระหว่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กับเจ้าหญิง Maria Theresa ของสเปน เบลัซเกซได้รับมอบหมายให้ทำการตกแต่งสถานที่แต่งงานซึ่งจัดขึ้นบนเกาะ Pheasant Island ที่ชายแดนของฝรั่งเศสและสเปน หลังกลับมายังกรุงมาดริดเขาล้มป่วยและเสียชีวิตในวัย 61 ปี
ผลงานโดดเด่นต้นแบบศิลปินสมัยใหม่
เบลัซเกซเริ่มต้นสร้างผลงานด้วยภาพวิถีชีวิตชาวบ้าน เริ่มมีชื่อเสียงกับภาพแนวศาสนา แต่หลังจากได้เป็นจิตรกรราชสำนักสเปนเขาก็เขียนภาพบุคคลเป็นหลักจนตลอดชีวิต เบลัซเกซได้รับการยกย่องเป็นสุดยอดจิตรกรภาพบุคคลที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง ผลงานของเขาได้สร้างแรงบันดาลใจและเป็นต้นแบบให้แก่ศิลปินดังยุคหลังมากมาย และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของผลงานอันโดดเด่นของจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่แห่งสเปนคนนี้
Seville (1616 – 1622)
Madrid (1622 – 1629)
First trip to Italy (1629 – 1630)
Madrid (1631 – 1649)
Second trip to Italy (1649 – 1651)
Madrid (1651 – 1660)
ไม่เพียงแต่ศิลปินดังชาวสเปนอย่างเช่น Pablo Picasso และ Salvador Dalí เท่านั้นที่ชื่นชอบและใช้ผลงานของเบลัซเกซเป็นต้นแบบในการเขียนภาพ แต่ผลงานของเขายังมีอิทธิพลต่อศิลปินทั่วยุโรป ทั้งในกลุ่มศิลปะสัจนิยม ศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ และศิลปะสมัยใหม่ รวมทั้ง Édouard Manet และ Paul Cezanne เบลัซเกซเป็นจิตรกรคนสำคัญที่สุดของสเปนในศตวรรษที่ 17 และเป็นหนึ่งในจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุโรป
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, britannica, diego-velazquez.org