ศาสตราจารย์ Barbara Maher จากศูนย์สิ่งแวดล้อมแลงแคสเตอร์ และเพื่อนร่วมงานใช้การวิเคราะห์ทางเคมีด้วยเครื่องสเปกโตรสโคปี่ในการแยกแยะอนุภาคที่เป็นแม่เหล็ก พบว่ามันแตกต่างจากอนุภาคแม่เหล็กที่เชื่อว่าเกิดขึ้นตามธรรมชาติภายในสมอง อนุภาคที่ตรวจพบส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กมากถึง 150 นาโนเมตร มีลักษณะของการก่อตัวในที่อุณหภูมิสูง เช่น จากเครื่องยนต์ของรถยนต์
อนุภาคทรงกลมมักจะมีโลหะอื่นๆอยู่ด้วย เช่น ทองคำ นิกเกิล และโคบอลต์
ศาสตราจารย์ Maher กล่าวว่า “อนุภาคที่เราพบในสมองมนุษย์คล้ายกันมากกับอนุภาคแม่เหล็กที่มีอย่างมากมายในมลพิษทางอากาศตามในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่อยู่ติดกับถนนที่มีการจราจรแออัด ที่เกิดจากการเผาไหม้ในเครื่องยนต์หรือการเสียดสีของเบรก”
“การค้นพบของเราแสดงให้เห็นว่าอนุภาคแม่เหล็กขนาดเล็กในบรรยากาศสามารถเข้าสู่สมองของมนุษย์และพวกมันอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น อาจเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้” Maher กล่าวเพิ่มเติม
“อนุภาคเหล่านี้มีขนาดเล็กมากๆ ขนาดเล็กพอๆกับไวรัส” David Allsop นักชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ กล่าว “ถ้าคุณหายใจเอาพวกมันเข้าไปผ่านทางจมูก พวกมันจะข้ามผ่านตัวกรองระหว่างเลือดและสมอง เข้าไปอยู่ในสมองได้อย่างง่ายดาย”
Allsop กล่าวเพิ่มเติมว่า “การค้นพบนี้ได้เปิดเส้นทางใหม่สำหรับการวิจัยในปัจจัยความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปได้สำหรับโรคต่างๆเกี่ยวกับสมอง”
เรารู้กันดีอยู่แล้วว่ามลพิษทางอากาศนั้นร้ายแรงมาก มันพรากชีวิตผู้คนก่อนถึงวัยอันควรไป 5.5 ล้านคนต่อปี ด้วยโรคหืดหอบ โรคหัวใจ และโรคปอด อนุภาคแม่เหล็กพิษที่ค้นพบใหม่นี้จะยิ่งเพิ่มความร้ายกาจของมลพิษทางอากาศขึ้นไปอีก
ข้อมูลและภาพจาก lancaster, independent