เมื่อ Glenn Shaw นักวิจัยฟ้าผ่าเกษียณอายุ เห็นข่าวจากนอร์เวย์ เขานึกถึงเหตุการณ์ที่เคยพบเห็นมาก่อน เขาจำได้ดี ขณะอยู่ในเฮลิคอปเตอร์ที่บินอยู่เหนือเทือกเขาในอลาสก้า ย้อนกลับไปในปี 1972 ได้เกิดเหตุสยองในทำนองเดียวกัน กวางแคริบู 53 ตัวตายอยู่ที่ไหล่เขา มีรอยเผาไหม้ขนาดกว้าง 15 ฟุตแผ่ออกเป็น 9 ซี่ ในลักษณะเป็นรูปไข่ มันเป็นสัญลักษณ์ของฟ้าผ่า เขาได้ตรวจสอบและเขียนรายงานเรื่องนี้
เมื่อ Shaw เห็นภาพถ่ายจากนอร์เวย์ เขาจึงรู้ในทันทีว่ากวางล้มตายลงจำนวนมากเพราะอะไร มันเกิดจากกระแสไฟฟ้าแรงสูงที่ส่งผ่านมาตามพื้นดิน สถานที่เกิดเหตุที่อลาสก้าและนอร์เวย์มีบางอย่างเหมือนกัน คือ เป็นดินแช่แข็งเป็นเวลานานที่เรียกว่า permafrost แต่ส่วนที่อยู่ใกล้ผิวบนจะมีสภาพระหว่างหลอมเหลวและแข็งตัวขึ้นอยู่กับฤดูกาล
น้ำในสภาพที่เป็นของเหลวจะเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดีมาก แต่ถ้ากลายเป็นน้ำแข็งจะไม่นำไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าไหลผ่านก้อนน้ำแข็งไม่ได้ ในทางฟิสิกส์เราจะพูดว่าน้ำแข็งที่มีความต้านทานสูงมาก
เมื่อฟ้าผ่ากระแสไฟฟ้าจะไหลลงสู่พื้นดิน และกระจายออกไปตามเส้นทางที่มีความต้านทานน้อย ในพื้นที่ที่อากาศร้อนไฟฟ้าจะวิ่งลึกลงไปในดินและกระจายออกไปอย่างรวดเร็ว (เรียกว่าไฟลงกราวด์) แต่ในพื้นที่แบบ Hardangervidda เมื่อกระแสไฟวิ่งลงไปในดินจะเจอกับชั้น permafrost ที่มันผ่านไปไม่ได้ กระแสไฟจะกระจายเป็นวงกว้างออกไปตามพื้นผิวดินที่อิ่มตัวไปด้วยน้ำที่หลอมละลายเป็นของเหลวที่บริเวณผิวบน กรณีนี้พายุฝนเป็นตัวช่วยเร่งการหลอมละลายของน้ำแข็ง
กวางเป็นสัตว์ใหญ่มีระยะห่างระหว่างขาหน้าและขาหลังหลายฟุต ซึ่งทำให้เกิดความความต่างศักย์ไฟฟ้าภายในตัวมันเอง กระแสไฟฟ้าจะวิ่งขึ้นทางขาหน้าที่มีความต้านทานน้อยกว่า ผ่านลำตัวและอวัยวะภายใน แล้ววิ่งผ่านขาหลังกลับลงไปที่พื้น
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้มันแตกตื่นหรือตกใจกลัว กวางจะเข้ามารวมฝูงอยู่ใกล้ๆกันเสมอ ในอุทยานแห่งชาติ Hardangervidda ซึ่งมีกวางทั้งหมดราว 10,000 ตัว (มากที่สุดในทวีปยุโรป) เมื่อเกิดฝนตกฟ้าคะนองกวางก็จะรวมฝูงจับกลุ่มอยู่ด้วยกันจำนวนมาก พอฟ้าผ่าลงมากระแสไฟฟ้าแรงสูงจีงแผ่กระจายไปตามพื้นที่และไหลผ่านกวางที่ยืนเกาะกลุ่มกันแน่น นั่นคือสาเหตุที่ทำให้พวกมันตายหมู่
นอร์เวย์มีฟ้าผ่าน้อยมากเมื่อเทียบกับที่อื่นๆในโลก น้อยกว่าในรัฐฟลอริดาที่มีฟ้าผ่ามากที่สุดในสหรัฐอเมริกาถึง 100 เท่า ดังนั้นคงจะไม่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นบ่อยๆ นอกจากข้อเท็จจริงที่ว่าสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลกทำให้มีปริมาณฟ้าผ่าเพิ่มขึ้นถึง 50% ตลอดช่วงที่เหลือของศตวรรษที่ 21 นี้
ข้อมูลและภาพจาก wired, livescience