ภาพข้างบนนี้ถูกนำเสนอโดย Akiyoshi Kitaoka อาจารย์ด้านจิตวิทยาชาวญี่ปุ่น เป็นภาพที่แสดงเส้นตารางสีเทาแนวนอน แนวตั้ง และแนวทแยงมุม และมีจุดสีดำที่จุดตัด 12 จุด
คนส่วนใหญ่ไม่สามารถมองเห็นจุดดำทั้ง 12 จุดในเวลาเดียวกัน ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
ภาพดังกล่าวจัดเป็นภาพลวงตาประเภทที่เรียกว่า Hermann Grid ซึ่งตั้งตามชื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน Ludimar Hermann ซึ่งได้เสนอภาพลวงตาต้นแบบเมื่อปี 1870 ตามรูปด้านล่าง เมื่อคุณเพ่งมองที่ช่องว่างสีขาวระหว่างสี่เหลี่ยมสีดำ คุณจะเห็นจุดสีเทาปรากฏขึ้นที่จุดตัดอื่นๆของช่องว่างสีขาว
ในปี 2000 Jacques Ninio และ Kent Stevens ได้สร้างอีกรูปแบบหนึ่งของ Hermann Grid ตามรูปด้านล่าง ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่คือจุดสีขาวจะเลือนหายไปเมื่อคุณกวาดตามองผ่านมันไป
Jacques Ninio อธิบายว่า “เมื่อวงกลมสีขาวในตารางที่พร่างพรายมีขนาดเล็กลง และล้อมรอบด้วยเส้นสีดำ พวกมันมีแนวโน้มที่จะหายไป คนจะเห็นพวกมันเพียงบางส่วนในเวลาเดียว ตรงที่ไม่เห็นพวกมันเส้นสีเทาดูเหมือนจะต่อเนื่องเป็นจุดตัดสีเทาซึ่งไม่ได้มีอยู่จริง”
ภาพของ Kitaoka ถือว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของภาพลวงตาแบบของ Ninio จุดสีดำมีแนวโน้มจะเลือนหายไปเมื่อไม่อยู่ในโฟกัสของสายตา ทำให้คนส่วนใหญ่มองเห็นจุดดำได้เพียงบางส่วนในเวลาเดียว
มันคือความแปรผันในภาพลวงตาของตารางที่พร่างพราย โดยการใช้ประโยชน์จากการปิดกั้นด้านข้างในจอประสาทตาหรือเรตินา ในแง่คนธรรมดาทั่วไปหมายถึงว่าตัวรับแสงในดวงตาของคุณบางครั้งอาจจะสับสนกับสิ่งที่อยู่ข้างเคียง ทำให้คุณเห็นสิ่งที่ไม่มีหรือไม่เห็นสิ่งที่มีอยู่
บางคนบอกว่าเห็นจุดดำเพียง 4 จุด แล้วคุณล่ะ มองเห็นจุดดำในเวลาเดียวกันกี่จุด?
ข้อมูลและภาพจาก qz, bbc