ลักษณะพิเศษของ Tombaugh Regio หรือหัวใจของดาวพลูโตเป็นสาเหตุที่ทำให้มีลมพัดบนดาวดวงนี้ หัวใจซีกซ้ายเป็นแอ่งของชั้นของน้ำแข็งไนโตรเจนขนาดกว้างราว 1,000 กม. หนาราว 3 กม. เรียกว่า Sputnik Planitia น้ำแข็งไนโตรเจนส่วนใหญ่บนดาวพลูโตอยู่ในแอ่งนี้เพราะว่ามันเป็นที่ต่ำ ส่วนซีกขวาของหัวใจประกอบด้วยที่ราบสูงและธารน้ำแข็งที่อุดมด้วยไนโตรเจนซึ่งแผ่ขยายไปสู่แอ่งด้านซ้าย
ทีมวิจัยของนาซาพบว่าในเวลากลางวันน้ำแข็งไนโตรเจนที่หัวใจของดาวพลูโตอุ่นขึ้นและกลายเป็นไอ ตอนกลางคืนไอไนโตรเจนจะควบแน่นกลับมาอยู่ในรูปของน้ำแข็งไนโตรเจนอีกครั้ง เกิดเป็นวัฏจักรที่ทำให้เกิดลมพัดหมุนเวียนในชั้นบรรยากาศ คล้ายกับหัวใจกำลังเต้นปั๊มลมไนโตรเจนให้พัดหมุนไปรอบดาวพลูโต
ทีมวิจัยยังพบว่าลมบนดาวพลูโตพัดไปทางทิศตะวันตกตรงกันข้ามกับการหมุนรอบตัวเองซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า retro-rotation เนื่องจากไนโตรเจนใน Tombaugh Regio ระเหยกลายเป็นไอทางด้านเหนือและกลับมาเป็นน้ำแข็งทางด้านใต้ สิ่งนี้ทำให้เกิดลมพัดไปทางตะวันตก และลมที่นำเอาความร้อน เม็ดน้ำแข็ง และอนุภาคหมอกควันมาด้วยเมื่อพัดผ่านพื้นผิวดาวก็จะทำให้สภาพภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงไป
“ก่อนที่ยาน New Horizons บินไปสำรวจทุกคนคิดว่าดาวพลูโตคงมีลักษณะคล้ายลูกบอลผิวราบเรียบเพียงอย่างเดียว” Tanguy Bertrand หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว “แต่มันแตกต่างโดยสิ้นเชิง มันมีภูมิประเทศที่แตกต่างมากมายและเรากำลังพยายามทำความเข้าใจมันอยู่”
Bertrand ยังบอกอีกว่าแอ่ง Sputnik Planitia อาจมีความสำคัญต่อสภาพภูมิอากาศของดาวพลูโตเหมือนกับอิทธิพลของมหาสมุทรที่มีต่อสภาพภูมิอากาศของโลก และผลงานวิจัยใหม่นี้จะทำให้ดาวพลูโตโดดเด่นขึ้นมาด้วยหัวใจที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกหลงใหลในเสน่ห์ของมัน
“ดาวพลูโตยังมีสิ่งลึกลับสำหรับทุกคน” Bertrand กล่าว
ข้อมูลและภาพจาก agu.org, earthsky.org