นักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ตะกอนน้ำแข็งที่ได้มาจากแถบอาร์คติกจำนวน 300 ตัวอย่าง แล้วพบว่ามี 2 ตัวอย่างที่ได้เก็บรักษาหนอนตัวกลมเอาไว้อย่างดี ตัวอย่างหนึ่งเก็บมาจากฟอสซิลโพรงกระรอกใกล้แม่น้ำ Alazeya ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเขต Yakutia ประเทศรัสเซีย เป็นตะกอนน้ำแข็งที่มีอายุราว 32,000 ปี อีกตัวอย่างหนึ่งมาจากแม่น้ำ Kolyma ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไซบีเรียมีอายุประมาณ 42,000 ปี
พวกเขาแยกหนอนที่เป็นตัวเมียทั้งหมดออกมาจากตะกอนน้ำแข็ง พบว่าเป็นหนอนตัวกลม 2 สายพันธุ์คือ Panagrolaimus detritophagus และ Plectus parvus หลังจากละลายน้ำแข็งแล้วนักวิจัยพบว่ากลับมาพวกมันเคลื่อนไหวและกินอาหาร ทำให้นี่เป็นครั้งแรกที่พบหลักฐานการเก็บรักษาด้วยการแช่แข็งตามธรรมชาติของสัตว์หลายเซลล์
อย่างไรก็ตามหนอนตัวกลมพวกนี้ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่สิ่งมีชีวิตถูกปลุกขึ้นมาจากการหลับไหลอย่างยาวนานข้ามสหัสวรรษ ก่อนหน้านี้เคยมีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้พบไวรัสยักษ์ (Giant Viruses) ที่สามารถฟื้นคืนสภาพได้หลังจากที่ถูกแช่แข็งในชั้นน้ำแข็งแถบไซบีเรียนาน 30,000 ปี
ทีมวิจัยจะทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้รู้ถึงกลไกของหนอนตัวกลมโบราณพวกนี้ที่ช่วยให้มันอยู่รอดภายใต้การถูกแช่แข็งอย่างยาวนานเป็นหมื่นปีได้ ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น cryomedicine, cryobiology และ astroiology เป็นต้น
การค้นพบครั้งนี้ได้ทำให้ความหวังในเรื่องการแช่แข็งมนุษย์ให้มีชีวิตอยู่ได้นานหลายร้อยปี เพื่อภารกิจพิเศษอย่างเช่นการสำรวจระหว่างดาวอันไกลโพ้น หรือเพื่อรับการรักษาโรคร้ายที่ความสามารถด้านการแพทย์ในปัจจุบันยังทำไม่ได้ ให้กลายเป็นจริงไม่ได้มีอยู่แค่ในนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น
เรื่องและภาพจาก livescience, dailymail.co.uk