Jamie Samson และ Marta Manser จากภาควิชาชีววิทยาวิวัฒนาการและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยซูริก ได้ศึกษากลุ่มกระรอกดิน (Cape ground squirrel) ในป่าที่ศูนย์วิจัย Kalahari ประเทศแอฟริกาใต้ ที่อยู่อาศัยของกระรอกดินแห้งแล้งมาก และมีพืชเบาบางโหรงเหรง ที่หมายตาหรือจุดอ้างอิงอย่างเช่นต้นไม้หรือพุ่มไม้มีน้อยและอยู่ห่างไกล
นักวิจัยได้ค้นพบว่าเจ้าสัตว์สังคมพวกนี้หาวิธีกลับไปยังที่ซ่อนอาหารของพวกมันได้อย่างไร “กระรอกใช้ตำแหน่งของดวงอาทิตย์เป็นจุดหมายที่สำคัญที่สุดในการกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวของพวกมัน” Samson อธิบาย
นักวิจัยให้อาหารกระรอกดินเพื่อนำไปซ่อน ทิศทางที่เจ้ากระรอกนำอาหารไปซ่อนถูกบันทึกไว้ด้วยเครื่องจีเอสพี สิ่งที่เห็นโดดเด่นคือเจ้ากระรอกเคลื่อนที่เกือบเป็นเส้นตรงเข้าหาหรือออกห่างจากดวงอาทิตย์ในการหาที่ซ่อนอาหารที่เหมาะสม การเคลื่อนที่ของพวกมันทุกครั้งจะมีแนวเบี่ยงเบนจากแนวดวงอาทิตย์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น “พวกมันเคลื่อนที่ในรูปแบบนี้” Samson กล่าว “เราเข้าใจว่ากระรอกดินใช้ตำแหน่งของดวงอาทิตย์เป็นหลักในการค้นหาสถานที่เมื่อพวกมันจะซ่อนอาหาร”
จากนั้นนักวิจัยได้ติดตามดูว่ากระรอกยังจะใช้ตำแหน่งของดวงอาทิตย์เพื่อหาที่ซ่อนอาหารอีกครั้งหรือไม่อย่างไร พวกเขาบันทึกเวลาที่สัตว์ซ่อนอาหาร และบันทึกเวลาที่พวกมันกลับมาเอาอาหารที่ซ่อนไว้ โดยการตั้งกล้องไว้ใกล้ๆกับบริเวณที่ซ่อนอาหาร พวกเขาพบว่ามันมีรูปแบบที่ชัดเจนด้วย กระรอกดินมีแนวโน้มที่จะกลับมาเอาอาหารในเวลาเกือบจะครบ 24 ชั่วโมงต่อมาพอดี นั่นคือช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์แทบจะอยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับของวันก่อนหน้านี้
นอกจากนี้นักวิจัยยังตั้งข้อสังเกตว่าบางครั้งกระรอกดินก็จะกลับมาเอาอาหารก่อนที่เวลาจะผ่านไปถึง 24 ชั่วโมง ถ้าดวงอาทิตย์อยู่ในมุมเดียวกันกับตำแหน่งที่ 24 ชั่วโมง กระรอกดินจึงมีสองช่วงเวลาที่จะกลับมาเอาอาหารจากที่ซ่อน “กระรอกดูเหมือนจะมีความยืดหยุ่นบางประการเกี่ยวกับการกลับมาเอาอาหาร ซึ่งมักเกิดขึ้นก่อนที่ครบ 24 ชั่วโมง หากมีตัวอื่นอยู่ด้วยในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้อาหารถูกขโมย”
นอกเหนือจากผึ้งและนกพิราบสื่อสารที่รู้กันมานานแล้วว่าใช้ดวงอาทิตย์เป็นเครื่องมือในการนำทาง งานวิจัยนี้ได้เพิ่มกระรอกดินอีกชนิดหนึ่งที่สามารถใช้ดวงอาทิตย์ในการนำทางได้เช่นกัน
มาชมความน่ารักของเจ้ากระรอกดินผู้ชอบคลุกฝุ่นได้ในวิดีโอด้านล่าง
ข้อมูลและภาพจาก uzh, natureworldnews