แม้ว่ารูปร่างลักษณะของไดโนเสาร์ตัวจิ๋วนี้จะคล้ายกับนกแต่ปรากฏว่าที่ขากรรไกรด้านบนของจะงอยปากกลับเรียงรายไปด้วยฟันแหลมคมซี่เล็กๆจำนวนมากถึง 23 ซี่ ซึ่งบ่งชี้ว่ามันเป็นนักล่าที่อาจจะกินพวกแมลงขนาดเล็ก ลักษณะที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของมันคือมีเบ้าตาโตมากเมื่อเทียบกับศีรษะเล็กจิ๋วของมันซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนในภาพ CT scan ด้านล่าง
ทีมวิจัยได้เรียกไดโนเสาร์พันธุ์จิ๋วที่เพิ่งค้นพบนี้ในภาษาลาตินว่า Oculudentavis khaungraae ซึ่งหมายถึงดวงตา ฟัน และนก การที่ไดโนเสาร์ Oculudentavis ซึ่งมีลักษณะรูปร่างเป็นนกแต่กลับมีฟันแบบนักล่านี้ได้สร้างความสับสนในเรื่องประวัติศาสตร์การวิวัฒนาการของไดโนเสาร์และนกพอสมควร
นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่านกนั้นเป็นพวกเทโรพอด (Theropods) ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กลุ่มที่มีไทรันโนซอรัสและสปิโรรัส แต่นกก็มีสาขาวิวัฒนาการของตัวเองจากบรรพบุรุษร่วมกันอีกด้วย นักบรรพชีวินวิทยาได้สันนิษฐานกันมานานแล้วว่าเมื่อนกวิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์การมีฟันจึงเป็นลักษณะที่จะหายไปโดยสิ้นเชิง แต่สิ่งที่พบใน Oculudentavis ได้แสดงให้เห็นว่าวิวัฒนาการสามารถเกิดขึ้นในทุกทิศทาง
วิวัฒนาการจากไดโนเสาร์มาเป็นนกขนาดเล็กเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่น่าอัศจรรย์ที่สุดในวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต การค้นพบสิ่งมีชีวิตตัวเล็กจิ๋วสายพันธุ์ใหม่ที่เคยอาศัยอยู่บนโลกเมื่อ 99 ล้านปีก่อนช่างน่าตื่นเต้นเพราะมันให้ภาพว่าสัตว์ตัวเล็กๆอาศัยอยู่ในป่าเขตร้อนในช่วงที่ไดโนเสาร์ครองโลกได้อย่างไร
รูปร่างหน้าตาและลักษณะความเป็นอยู่ของไดโนเสาร์ Oculudentavis อาจเป็นไปดังรูปด้านบน แต่เราคงไม่สามารถเห็นมันในโลกแห่งความจริงเพราะนั่นเป็นเพียงจินตนาการที่สร้างขึ้นด้วยข้อมูลที่ได้จากก้อนอำพันเก่าแก่เท่านั้น
ข้อมูลและภาพจาก nytimes, sciencealert