Tanguy Bertrand และ François Forget สองนักวิจัยจากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส ได้ใช้ข้อมูลและข้อสังเกตที่เก็บรวบรวมจากการสำรวจของยานนิวฮอไรซันส์สร้างแบบจำลองสภาพแวดล้อมของดาวพลูโตย้อนหลังไป 50,000 ปี พบว่ารังสีจากดวงอาทิตย์และสภาพชั้นบรรยากาศทำให้ไนโตรเจนควบแน่นที่บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร นำไปสู่การสะสมของน้ำแข็งไนโตรเจนที่ด้านล่างของ Sputnik Planum
ในบรรดาน้ำแข็งหลากหลายชนิดที่ปกคลุมพื้นผิวของดาวพลูโต ไนโตรเจนเป็นชนิดที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วมากที่สุด มันจะระเหิดที่อุณหภูมิ -235 °C หนึ่งในการตรวจพบจากยานนิวฮอไรซันส์ที่ไม่คาดคิดที่สุด คือ แอ่งของไนโตรเจนแข็งเป็นมวลก้อนขนาดมหึมาและส่วนใหญ่อยู่ใน Sputnik Planum น้ำแข็งมีเทนปรากฏอยู่ทั่วซีกดาวด้านเหนือยกเว้นบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร ในขณะที่น้ำแข็งคาร์บอนมอนอกไซด์ที่มีปริมาณไม่มากตรวจพบเฉพาะภายใน Sputnik Planum
ก่อนหน้านี้นักวิจัยสงสัยว่าจะมีแอ่งน้ำแข็งไนโตรเจนขนาดใหญ่อยู่ใต้พื้นผิวของดาวพลูโต แต่แบบจำลองแสดงให้เห็นว่าไม่มีแอ่งน้ำแข็งดังกล่าว สภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำแข็งของดาวพลูโตมีรูปร่างตามแอ่งบนพื้นผิวที่เย็นจัดอย่างไม่น่าเชื่อ และน้ำแข็งมีเทนมีการเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล แบบจำลองยังทำนายว่าน้ำแข็งส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลจะค่อยๆหายไปในอนาคต
“ธารน้ำแข็งรูปหัวใจครึ่งหนึ่งที่อยู่ด้านในเป็นมวลธารน้ำแข็งจริงๆ ซึ่งจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล และจะยังคงอยู่ที่นั่นต่อไป” Bertrand กล่าว “แต่มันก็อาจจะขยายออกและหดเข้ามาในระยะไม่กี่ร้อยกิโลเมตร (คล้ายกับหัวใจเต้น) ด้วยเวลา การกัดเซาะ และภูเขาที่ล้อมรอบมัน”
นักวิจัยคงต้องใช้เวลาเฝ้าดูดาวพลูโตอีกหลายทศวรรษเพื่อจะยืนยันว่าแบบจำลองถูกต้องหรือต้องปรับแก้อย่างไร มันเป็นไปได้ที่เราจะได้พบกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากกว่าที่เราคาดคิด
ข้อมูลและภาพจาก cnrs, nature