ทีมนักโบราณคดีได้ขุดพบชิ้นส่วนของผ้าที่แหล่งโบราณคดี Huaca Prieta บนชายฝั่งทางตอนเหนือของเปรู Huaca Prieta เป็นกองดินกองหินขนาดใหญ่ที่เคยเป็นที่อยู่ของชุมชนชาวเปรูโบราณ
Jeffrey Splitstoster ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอที่มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน รายงานว่าพวกเขาได้ขุดพบสิ่งทอโบราณที่ Huaca Prieta จำนวนมาก และมีการตรวจสอบไปแล้วมากกว่า 800 ชิ้น
“มันเป็นไปได้ที่มันจะเป็นผ้าย้อมสีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ผมไม่ทราบว่าจะมีอะไรเก่าแก่กว่านี้อีก” Splitstoser กล่าว “มันถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี สภาพที่ขาดวิ่นเกิดขึ้นก่อนที่จะถูกนำมาทิ้ง”
Splitstoser กล่าวเพิ่มเติมว่าผ้าที่ขุดพบมีลักษณะเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมขนาด 1 – 3 ฟุตที่ดูเหมือนจะถูกฉีกออกมาจากผ้าผืนใหญ่ และยังดูเหมือนกับถูกบิดและจุ่มลงในของเหลว
ด้วยขนาดของพวกมัน Splitstoser จึงเชื่อว่าผ้าที่ขุดพบไม่ได้ถูกใช้เป็นเสื้อผ้า แต่ใช้สำหรับการขนของ แบบเดียวกับคนแถบเทือกเขาแอนดีสทำ โดยวางของที่กลางผ้าแล้วหิ้วผ้าไป
“ผมคิดว่าพวกเขาได้นำสิ่งของไปที่วัด หลังจากเสร็จพิธีจึงได้ทิ้งผ้าไว้ที่นั่นด้วย” เขากล่าว
Jan Wouters นักเคมีที่มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) ตรวจสอบรอยสีฟ้าในเนื้อผ้าและบอกว่าสีย้อมค่อนข้างแน่ว่ามาจากต้นคราม อย่างไรก็ตาม Wouters ตั้งข้อสังเกตว่าการแยกสีครามจากพืชต้องใช้กระบวนการหลายอย่างรวมทั้งการหมักซึ่งหมายความว่าชาวเปรูโบราณมีความรู้ดีทั้งด้านงานทอผ้าและการแยกสี
“ในโลกสมัยใหม่ เราอาจคิดว่าคนโบราณดั้งเดิมไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ แต่จริงๆแล้วพวกเขาชาญฉลาดมาก” Splitstoser สรุป
ข้อมูลและภาพจาก natureworldnews, sciencemag