FAST นอกจากจะมีขนาดใหญ่กว่าอดีตกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ใหญ่ที่สุดในโลก Arecibo Observatory ในประเทศเปอร์โตริโกที่มีจานขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 305 เมตรแล้ว ยังสามารถสแกนท้องฟ้าได้ 40 องศา ขณะที่ Arecibo สแกนได้ 20 องศา รวมทั้งสแกนได้เร็วกว่า 5 – 10 เท่า
“เมื่อเสร็จสมบูรณ์ FAST จะเป็นผู้นำของโลกไปอีกอย่างน้อย 10 ถึง 20 ปี” Yan Jun อำนวยการทั่วไปของหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติของจีน (NAOC) กล่าว
FAST สามารถที่จะทำอะไรได้มากมายไม่ใช่เพียงแค่การฟังสัญญาณจากมนุษย์ต่างดาวนอกโลกเท่านั้น FAST ใช้ช่วยในการศึกษาเรื่องราวของเอกภพได้มากมายหลายอย่าง เช่น พัลซาร์ กำเนิดของทางช้างเผือก และอื่นๆ
สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (CAS) บอกว่าหลังจากการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแล้วเสร็จเมื่อต้นปีนี้ ก็เป็นการทดสอบระบบและการแก้จุดบกพร่องต่างๆ ซึ่งกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
หนึ่งในการสังเกตการณ์ล่าสุดเกี่ยวข้องกับการได้รับสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากพัลซาร์ที่อยู่ห่างจากโลก 1,351 ปีแสง
แม้ว่า FAST จะถือกำเนิด สร้างขึ้น และดำเนินการโดยประเทศจีน แต่ CAS กล่าวว่า FAST จะเปิดให้บริการแก่คณะนักวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศด้วย
“ทันทีที่กล้องทำงานได้ตามปกติ คณะกรรมการจัดสรรเวลา (TAC) จะจัดเวลาสังเกตการณ์ตามข้อเสนอที่มีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ ข้อเสนอจากนักวิทยาศาสตร์ต่างประเทศจะได้รับการพิจารณาด้วย” Nan Rendong วิศวกรและหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ FAST กล่าว
FAST เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 1994 แต่สถานที่ตั้งในมณฑลกุ้ยโจวยังไม่ได้รับเลือกจนถึงปี 2007 และเริ่มก่อสร้างในปี 2011 ประชาชนกว่า 8,000 คนในท้องถิ่นถูกย้ายออกไปตั้งรกรากใหม่จากบริเวณใกล้เคียงของกล้องโทรทรรศน์ซึ่งจะต้องไม่มีการรบกวนใดๆทางวิทยุภายในรัศมี 5 กิโลเมตร
ข้อมูลและภาพจาก smithsonianmag, newatlas