เด็กพิการจากโปลิโอผู้ไม่เคยยอมแพ้
ฟรีดา คาห์โล เป็นชาวเม็กซิกัน เกิดเมื่อปี 1907 ที่หมู่บ้านเก่าแก่ Coyoacán ในเมืองเม็กซิโกซิตี เมืองหลวงของประเทศเม็กซิโก พ่อเป็นช่างภาพชาวเยอรมันที่อพยพมาอยู่ที่เม็กซิโกและแต่งงานกับสาวเม็กซิกัน คาห์โลมีพี่น้องสี่คนผู้หญิงล้วนเธอเป็นคนที่สาม เธอเป็นคนอาภัพโชคไม่ดีตั้งแต่เด็กจนโต ตอนอายุ 6 ปีเป็นโปลิโอต้องนอนป่วยอยู่เกือบปี ผลพวงที่ตามมาคือเท้ากับขาข้างขวาลีบและสั้นกว่าข้างซ้ายซึ่งทำให้เธอต้องเดินกะเผลกและใส่กระโปรงยาวตลอดชีวิต แต่เธอไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาพยายามฟื้นฟูร่างกายกลับคืนมาด้วยการเล่นกีฬาหลายอย่าง เช่น ฟุตบอล ว่ายน้ำ หรือแม้กระทั่งมวยปล้ำ โดยได้รับการส่งเสริมและช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากพ่อที่เธอใกล้ชิดที่สุด
ผลจากความพยายามอย่างหนักในปี 1922 คาห์โลหลุดพ้นจากสภาพที่ถูกเพื่อนล้อประจำว่าเป็นเด็กพิการกลายเป็นเด็กผู้หญิงแถวหน้าเมื่อเธอสามารถเข้าเรียนที่โรงเรียนดังของเมืองเม็กซิโกซิตี National Preparatory School ซึ่งมีผู้หญิงเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่มีโอกาสได้เข้าเรียน อนาคตของเธอจึงกลับมาสดใสอีกครั้ง คาห์โลมีพื้นฐานด้านศิลปะจากการคลุกคลีอยู่ในสตูโอภาพของพ่อและช่างภาพพิมพ์เพื่อนของพ่อคนหนึ่งช่วยสอนพื้นฐานการเขียนภาพให้ เธอยังเคยทำงานหาเงินช่วยเหลือครอบครัวโดยไปเป็นผู้ช่วยของช่างภาพพิมพ์คนนั้นซึ่งชื่นชอบในพรสวรรค์ด้านการเขียนภาพของเธอมาก แต่ในช่วงเวลานั้นคาห์โลไม่เคยคิดที่จะเป็นศิลปินเพราะเธอชอบวิชาวิทยาศาสตร์และอยากเรียนต่อเป็นแพทย์หญิง แต่ความฝันของเธอต้องสูญสลายไปเมื่อวันแห่งหายนะมาถึง
ชีวิตเปลี่ยนเพราะอุบัติเหตุเจ็บปางตาย
บ่ายวันหนึ่งของปี 1925 คาห์โลในวัย 18 ปีนั่งรถบัสไปกับ Alejandro Gomez Arias แฟนหนุ่มของเธอ เกิดอุบัติเหตุอันน่าเศร้ารถบัสชนกับรถรางอย่างรุนแรง คาห์โลได้รับบาดเจ็บสาหัสราวเหล็กเสียบทะลุสะโพกของเธอ กระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกรานแตกหักยับเยิน แม้จะรอดชีวิตมาได้แต่อุบัติเหตุครั้งนี้ได้เปลี่ยนชีวิตของเธอไปโดยสิ้นเชิง คาห์โลต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลหลายสัปดาห์ก่อนจะกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้าน เธอต้องใส่เฝือกทั้งตัวนอนอยู่บนเตียงอีกหลายเดือน นักเรียนที่ฝันจะเป็นคุณหมอต้องกลายมาเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียงจึงเริ่มคิดถึงการเป็นนักเขียนภาพประกอบทางการแพทย์แทน เพราะเธอยังได้ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่เธอสนใจพร้อมกับได้ใช้พรสวรรค์ด้านการเขียนภาพที่เธอมีอยู่เต็มเปี่ยม ขาตั้งเขียนภาพแบบพิเศษถูกติดตั้งบนเตียง คาห์โลจึงเริ่มเขียนภาพอย่างจริงจังตั้งแต่ตอนนั้น
ในช่วงแรกส่วนใหญ่คาห์โลเขียนภาพเหมือนของตัวเองกับภาพเหมือนของคนในครอบครัวและเพื่อนนักเรียน เธอตั้งใจเขียนภาพ Self Portrait in a Velvet Dress เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับ Gomez Arias แต่หลังจากเกิดอุบัติเหตุครอบครัวของ Gomez Arias กีดกันความสัมพันธ์ของทั้งคู่ส่งลูกชายไปอยู่ที่อื่นและคาห์โลก็ไม่ได้พบกับเขาอีกเลยตลอดชีวิต การเขียนภาพนำพาเธอไปสู่โลกใหม่แห่งการค้นหา และเธอก็ไม่คิดว่ามันจะนำพาเธอไปพบกับไอดอลของเธอในวัยเด็ก Diego Rivera จิตรกรชื่อดังของเม็กซิโกที่เธอเคยพบเขาครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนตอนที่เขามาเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่โรงเรียนเก่าของเธอ เธอปลื้มผู้ชายคนนี้มากถึงขนาดเคยบอกเพื่อนว่าวันหนึ่งเธอจะมีลูกกับเขา และเป็นผู้ชายคนนี้เองที่ทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปมากมายเป็นทั้งผู้หญิงที่มีความสุขที่สุดและผู้หญิงที่เจ็บช้ำทุกข์ระทมมากที่สุด
ช้ำรักหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าโดนรถชน
ตอนสมัยเรียนมัธยมคาห์โลเป็นหนึ่งในนักเรียนที่มีความคิดทางการเมืองกลุ่มหัวก้าวหน้า พออาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุของเธอดีขึ้นสามารถใช้ชีวิตแบบปกติได้มากขึ้นเธอจึงกลับไปเข้าร่วมกับเพื่อนนักเรียนกลุ่มนี้อีก และในงานเลี้ยงของกลุ่มครั้งหนึ่งในปี 1928 เธอได้พบกับ Diego Rivera ที่เป็นเพื่อนของสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่ม Rivera ประทับใจในตัวคาห์โลและพรสวรรค์ด้านการเขียนภาพของเธออย่างมาก ส่วนคาห์โลนั้นชื่นชอบเขาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จึงเริ่มขึ้นและคืบหน้าอย่างรวดเร็วทั้งๆที่ทั้งคู่มีอายุห่างกันถึง 21 ปี ในปีถัดมาทั้งคู่แต่งงานกันโดยไม่สนใจการคัดค้านจากครอบครัวของคาห์โลที่มองว่าทั้งคู่แตกต่างกันมากทั้งอายุและขนาดตัวซึ่งทั้งคู่มักถูกเรียกว่า “ช้างกับนกเขา” (The Elephant and The Dove) รวมทั้งกิตติศัพท์ความเจ้าชู้ของ Rivera ที่เคยหย่าภรรยามาสองคนแล้ว
หลังแต่งงานคาห์โลติดตามสามีไปทุกที่ที่เขาไปทำงานเขียนภาพหรือแสดงผลงาน แต่เธอยังคงทำงานเขียนภาพของตัวเองต่อไป ปี 1930 ทั้งคู่ไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกานานถึง 3 ปีเพราะ Rivera ได้รับการจ้างงานเขียนภาพฝาผนังหลายแห่งทั้งที่เมืองซานฟรานซิสโก, ดีทรอยต์ และนิวยอร์ก ตอนอยู่ที่นี่แม้ว่าเธอจะเป็นที่รู้จักในฐานะ “ภรรยาของ Diego Rivera” ไม่ใช่ศิลปิน แต่ภาพ Frieda and Diego Rivera ที่เธอเขียนขึ้นที่นี่กลับได้รับการคัดเลือกให้จัดแสดงในนิทรรศการศิลปะประจำปี 1931 ของศิลปินผู้หญิงแห่งเมืองซานฟรานซิสโก ช่วงที่อยู่ในเมืองดีทรอยต์คาห์โลตั้งท้องอีกครั้งหลังจากเมื่อปีก่อนเธอต้องทำแท้งท้องแรกเพราะทารกอยู่ในตำแหน่งไม่ถูกต้อง คราวนี้ก็มีปัญหาอีกเธอแท้งลูกในอีกสามเดือนต่อมาและต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเกือบสองสัปดาห์
ในปี 1933 หลังเสร็จสิ้นภารกิจที่สหรัฐอเมริกาทั้งคู่จึงกลับเม็กซิโก เค้าลางปัญหาชีวิตสมรสของทั้งคู่เริ่มปรากฏเพราะอาการเจ้าชู้ของ Rivera กลับมากำเริบหนัก บ้านของพวกเขาที่เมือง San Angel ถูกออกแบบเป็นพิเศษแยกเป็นสองหลังอยู่ติดกัน แต่ละหลังมีที่พักและสตูโอเขียนภาพของแต่ละคน โดยมีสะพานเชื่อมถึงกันที่ชั้นดาดฟ้า ทั้งคู่จึงเหมือนแยกกันอยู่แม้อยู่ในที่เดียวกัน ปี 1934 คาห์โลตั้งท้องอีกแต่จบลงด้วยการทำแท้งเช่นเคย เธอยังต้องผ่าตัดไส้ติ่งและตัดนิ้วเท้าที่เนื้อตายทิ้งสามนิ้ว ช่วงหลายปีนี้เธอพบว่าสามีนอกใจเธอหลายครั้ง แต่ที่เธอเจ็บช้ำและสะเทือนใจที่สุดเป็นตอนที่พบว่าสามีเป็นชู้กับน้องสาวของเธอเอง คาห์โลบอกในภายหลังว่าในชีวิตของเธอประสบกับความเจ็บปวดมากที่สุดสองครั้ง ครั้งแรกคือตอนเกิดอุบัติเหตุรถบัสชนกับรถราง อีกครั้งหนึ่งคือตอนที่เจอกับ Rivera ซึ่งเจ็บหนักยิ่งกว่า
ความรักสะดุดแต่ผลงานกลับโดดเด่น
ชีวิตรักของคาห์โลกับ Rivera ยิ่งแย่ลงไปทุกทีเพราะความเจ้าชู้ไม่หยุดหย่อนของเขา ต่อมาเธอก็เริ่มมีความสัมพันธ์ผู้ชายและผู้หญิงอื่นบ้าง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเพื่อเป็นการตอบโต้สามีหรือไม่ จนในที่สุดเธอกับ Rivera ตัดสินใจหย่าขาดกันในปี 1939 ตรงกันข้ามกับชีวิตสมรสฝีมือการเขียนภาพของคาห์โลมีพัฒนาการที่ยอดเยี่ยมมากขึ้นเป็นลำดับ เธอได้พัฒนาสไตล์การเขียนภาพจนงดงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น โดยเฉพาะในช่วงปี 1937 – 1940 เธอสร้างผลงานชั้นยอดออกมามากมาย และยังเดินทางไปร่วมในนิทรรศการหลายแห่งทั้งที่กรุงนิวยอร์กและกรุงปารีส ได้พบปะกับศิลปินดังหลายคนรวมทั้ง Pablo Picasso ผลงานที่โดดเด่นที่สุดในช่วงนี้คือภาพ Self Portrait with Thorn Necklace and Hummingbird กับภาพ The Two Fridas ซึ่งทั้งสองภาพเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเธอ
ความรักระหว่างคาห์โลกับ Rivera มิได้สิ้นสุดไปพร้อมกับการหย่าร้าง ทั้งคู่ปรับความเข้าใจและกลับมาแต่งงานใหม่กันอีกครั้งในปี 1940 ความรักของคาห์โลต่อ Rivera สามารถเห็นได้จากภาพเขียนของเธอเอง คาห์โลแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองของเม็กซิโกที่เรียกว่า Tehuana เป็นชุดกระโปรงยาวสีสันสดใสและสวมใส่เครื่องประดับแปลกตาหลากหลายเป็นประจำทุกวันเพราะนี่เป็นสิ่งที่ Rivera ชื่นชอบมากที่สุด และมันได้กลายเป็นเอกลักษณ์และสไตล์ส่วนตัวของเธอ สิ่งนี้ถูกถ่ายทอดลงไปในภาพเหมือนตัวเองของเธออย่างงดงามพร้อมกับสัตว์เลี้ยงตัวโปรดของเธอหลากหลายชนิดเป็นองค์ประกอบในภาพที่เพิ่มความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นในภาพ Self Portrait with Thorn Necklace and Hummingbird และ Self Portrait with Monkey อีกอย่างหนึ่งคือในภาพเหมือนตัวเองของคาห์โลมักมีใบหน้าของ Rivera ปรากฏอยู่ตรงหน้าผากเหมือนจะบอกว่ามี Rivera อยู่ในความคิดคำนึงของเธอเสมอ เช่น ในภาพ Self Portrait as a Tehuana และ Diego and I เป็นต้น
แปรความเจ็บปวดเป็นภาพเขียนแนวใหม่
ปี 1941 พ่อของคาห์โลเสียชีวิตเธอและสามีจึงกลับไปอยู่ที่ “บ้านสีน้ำเงิน” (The Blue House) ที่เธออยู่มาแต่เล็กจนโต โดย Rivera ใช้บ้านในเมือง San Angel เป็นแค่สตูดิโอเขียนภาพ ขณะที่ชื่อเสียงของคาห์โลในฐานะจิตรกรค่อยๆเพิ่มพูนมากขึ้น แต่สุขภาพของเธอเริ่มทรุดลงเป็นลำดับ กระดูกที่แตกหักจากอุบัติเหตุเมื่อสิบกว่าปีก่อนกลับมาสร้างความเจ็บปวดอีกครั้ง เธอต้องเข้ารับการรักษากระดูกสันหลัง ต้องใส่เฝือกจำนวนมากและต้องทำการผ่าตัดที่หลังและขาอีกหลายครั้งซึ่งเธอบอกว่าได้รับความเสียหายมากกว่าดี เธอต้องทนอยู่กับความเจ็บปวดทรมานด้วยจิตใจที่หดหู่
ทั้งๆที่ต้องเจ็บหนักและใช้ยาแก้ปวดเป็นจำนวนมากคาห์โลยังคงสร้างผลงานภาพเขียนของเธอออกมาได้อย่างต่อเนื่อง ปี 1944 เธอเขียนภาพ The Broken Column ที่เป็นหนึ่งในภาพเขียนที่โด่งดังที่สุดเธอ ตามมาด้วยภาพ Without Hope ในปีถัดมาและภาพ The Wounded Deer ในปี 1946 ภาพเขียนชั้นยอดเหล่านี้ได้สะท้อนความรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ทรมานที่เธอได้รับออกมาในรูปแบบที่แปลกใหม่กลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอีกแบบหนึ่งในผลงานของเธอ แต่ความเจ็บปวดของคาห์โลมิได้มีแค่เพียงร่างกาย ปี 1948 Rivera ขอหย่ากับเธออีกครั้งเพื่อไปอยู่กับชู้รักคนใหม่ หัวใจที่เปราะบางของคาห์โลจึงแหลกสลายยับเยินยิ่งกว่าร่างกาย
ผู้หญิงใจแกร่งไอดอลของคนรุ่นใหม่
ปี 1950 คาห์โลใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาล เธอเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลังครั้งใหญ่ซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อและตามมาด้วยการผ่าตัดอีกหลายครั้ง เมื่อสิ้นสุดการรักษาเธอต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนเตียงและใช้เก้าอี้รถเข็นกับไม้ยันรักแร้ช่วยในการเคลื่อนที่ แต่เธอยังไม่หมดไฟในการเขียนภาพเพียงแต่หันไปเขียนภาพหุ่นนิ่ง (Still life) ที่มีผลไม้เป็นองค์ประกอบหลักอย่างเช่นภาพ Fruit of Life, Coconuts และ Viva la Vida, Watermelons ที่เป็นผลงานภาพเขียนชิ้นสุดท้ายของเธอ ปี 1953 มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานเดี่ยวของคาห์โลครั้งแรกในเม็กซิโกที่เธอรอคอยมานาน แม้ว่าจะป่วยหนักคาห์โลตัดสินใจเดินทางไปที่งานนิทรรศการด้วยรถพยาบาลและเข้าร่วมพิธีเปิดทั้งๆที่นอนอยู่บนเตียง คาห์โลเสียชีวิตที่บ้านสีน้ำเงินของเธอในปี 1954 ด้วยวัยเพียง 47 ปี
หลังจากคาห์โลจากไปราว 20 ปีในช่วงทศวรรษ 1970 ต่อเนื่องถึงทศวรรษ1980 ผลงานและเรื่องราวของเธอได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างผ่านทางหนังสือเกี่ยวกับเธอหลายเล่ม ภาพเขียนของเธอจึงเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว มีการประมูลขายภาพเขียนของเธอในราคาสูง คาห์โลเป็นศิลปินชาวละตินอเมริกันคนแรกที่ผลงานภาพเขียนมีราคาขายเกิน 1 ล้านดอลลาร์ ภาพ Two Lovers in a Forest ถูกขายไปในราคา 8 ล้านดอลลาร์ ในปี 1984 เม็กซิโกประกาศให้ผลงานของเธอเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของชาติห้ามมิให้ส่งออกนอกประเทศ ปัจจุบันนี้คาห์โลได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในศิลปินคนสำคัญที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 และได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในบุคคลที่สำคัญที่สุดของเม็กซิโกในศตวรรษที่ 20 ส่วน Diego Rivera ก็เป็นที่รู้จักในฐานะ “สามีของฟรีดา คาห์โล”
คาห์โลไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังเฉพาะในฐานะศิลปินผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น แต่เธอยังเป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ในอีกหลายวงการ บทบาทและการมีส่วนร่วมของคาห์โลในกลุ่มความคิดหัวก้าวหน้าทางการเมืองมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ประกอบกับความชัดเจนในความเป็นผู้หญิงที่ทัดเทียมกับผู้ชายมีจิตใจที่แข็งแกร่งเล่นกีฬาแบบผู้ชาย พอใจกับคิ้วเข้มต่อชนเป็นคิ้วเดียวกับเรียวหนวดบางเบาของตัวเองแต่คงสไตล์การแต่งตัวแบบผู้หญิง เธอจึงได้รับการยกย่องเป็นผู้นำและสัญลักษณ์ของกลุ่มนิยมสิทธิสตรี (Feminism) อีกทั้งคาห์โลยังเปิดกว้างกับเรื่องรักร่วมเพศเธอจึงเป็นไอดอลของกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) อีกด้วย นอกจากนี้สไตล์การแต่งตัวด้วยชุดพื้นเมืองสีสันสดใสและเครื่องประดับแปลกตาอันเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเธอยังได้สร้างแรงบันดาลใจและกลายเป็นไอดอลคนสำคัญของคนรุ่นใหม่ในด้านแฟชั่นและสไตล์การแต่งตัวอีกด้วย
ผลงานสุดมหัศจรรย์ของศิลปินผู้อาภัพ
คาห์โลเริ่มเขียนภาพตั้งแต่นอนเจ็บหนักบนเตียงตอนเป็นวัยรุ่นแล้วพัฒนาฝีมือเรื่อยมาจนมีผลงานที่ยอดเยี่ยมด้วยลายเส้นที่สวยงามและสีสันอันสดใส โดยเฉพาะภาพเหมือนตัวเองที่ทั้งงดงามและมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ต่อมาเธอยังนำความรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ทรมานที่เธอได้รับมาตลอดชีวิตถ่ายทอดออกมาเป็นภาพเขียนที่สวยงามในสไตล์แปลกใหม่ มนต์เสน่ห์ความงดงามในภาพเขียนของเธอครองใจผู้ชมทั่วโลกจนทำให้เธอกลายเป็นศิลปินชั้นนำแห่งยุคศิลปะสมัยใหม่ และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของผลงานสุดมหัศจรรย์ของศิลปินผู้อาภัพคนนี้
Early Works (1924 – 1934)
Mature Period (1934 – 1944)
Later Years (1944 – 1954)
ฟรีดา คาห์โลเป็นผู้หญิงหัวใจแกร่งที่แม้จะอาภัพต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรคมากมายในชีวิต ทั้งเป็นเด็กพิการจากโปลิโอ, ประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บสาหัสปางตาย และยังต้องพบกับความเจ็บช้ำอย่างหนักจากการนอกใจของสามี แต่เธอสามารถยืนหยัดฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหมดได้พร้อมกับสร้างผลงานภาพเขียนชั้นยอดออกมามากมายอย่างเหลือเชื่อ เธอได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของโลกและเป็นไอดอลคนสำคัญของคนรุ่นปัจจุบันจำนวนมากอีกด้วย
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, fridakahlo.org, britannica