กังหันลมแบบใหม่เก็บพลังงานจากพายุไต้ฝุ่นลูกเดียวจ่ายไฟฟ้าให้ญี่ปุ่นได้ถึง 50 ปี

บพายุไต้ฝุ่นเป็นภัยพิบัติร้ายแรง มันจะทำลายล้างทุกอย่างสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล แต่วิศกรชาวญี่ปุ่นได้คิดค้นพัฒนากังหันลมที่สามารถเก็บเกี่ยวเอาพลังอันยิ่งใหญ่จากพายุไต้ฝุ่น เปลี่ยนให้เป็นพลังงานที่มีประโยชน์ พายุไต้ฝุ่นเพียงลูกเดียวอาจจะให้พลังงานเพียงพอสำหรับประเทศญี่ปุ่นถึง 50 ปี

ก่อนเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิเมื่อเดือนมีนาคม 2011 ญี่ปุ่นมีเป้าหมายจะใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานพื้นฐานถึง 60% ภายในปี 2100 แต่แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิที่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 19,000 คนและเป็นเหตุให้เครื่องปฏิกรณ์ 3 เครื่องหลอมละลายและปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมา ทำให้โครงการทั้งหมดหยุดชะงักไป

ปัจจุบันนี้ประเทศญี่ปุ่นขาดแคลนพลังงานอย่างหนัก ต้องนำเข้าพลังงานมากถึง 84% ของความต้องการใช้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่วนใหญ่หยุดทำงานชั่วคราวเพราะพวกเขาต้องการหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานประเภทนี้

ความพยายามในการใช้ประโยชน์จากพลังลมส่วนใหญ่แล้วไม่ประสบความสำเร็จ

“เป็นเวลานานนับทศวรรษแล้วที่ญี่ปุ่นนำเอากังหันลมแบบยุโรปที่ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับโซนที่มีพายุไต้ฝุ่นมาใช้ และติดตั้งพวกมันโดยไม่ได้พิจารณาให้รอบคอบ พวกมันพังเสียหายเกือบทั้งหมด” Atsushi Shimizu วิศกรชาวญี่ปุ่น ผู้คิดค้นกังหันลมแบบใหม่กล่าว

typhoon-turbine-2

Shimizu ได้ประดิษฐ์กังหันลมสำหรับพายุไต้ฝุ่นเป็นตัวแรกของโลก เป็นกังหันลมที่มีความทนทานเป็นพิเศษ มีรูปร่างคล้ายเครื่องตีใข่ที่ไม่เพียงแต่จะทนต่อแรงของไต้ฝุ่น มันยังเปลี่ยนพลังทั้งหมดให้เป็นพลังงานที่มีประโยชน์อีกด้วย

พายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ลูกหนึ่งสร้างพลังงานจลน์เทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก จากการคำนวณของ Shimizu ถ้ามีกังหันลมจำนวนมากพอจะสามารถเก็บพลังงานจากไต้ฝุ่นเพียงลูกเดียวได้เพียงพอสำหรับใช้ในประเทศญี่ปุ่นได้ถึง 50 ปี

กังหันพายุไต้ฝุ่นแตกต่างกับกังหันลมทั่วไปสองอย่าง คือมันจะทำงานบนแกนที่หมุนได้รอบทิศทางทำให้ปลอดภัยจากลมที่ไม่มีรูปแบบและทิศทางแน่นอน และสามารถปรับความเร็วของใบกังหันได้เพื่อควบคุมไม่ให้หมุนเร็วเกินไปขณะที่อยู่ในพายุ

การทดสอบกังหันพายุไต้ฝุ่นต้นแบบได้ประสิทธิภาพ 30% แม้ว่ากังหันแบบใบพัดจะมีประสิทธิภาพได้ถึง 40% แต่มันไม่สามารถทนทานต่อพายุไต้ฝุ่นได้

typhoon-turbine-3

กังหันพายุไต้ฝุ่นต้นแบบได้ติดตั้งที่เมืองโอกินาว่าเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ตอนนี้ทีมงานของ Shimizu ต้องการทดสอบผลงานของพวกเขากับพายุไต้ฝุ่นจริง

“ผมต้องการติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังลมของเราที่สนามกีฬาแห่งชาติใหม่” Shimizu กล่าว เขาหมายถึงสนามกีฬาที่กำลังสร้างขึ้นสำหรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิค 2020 ที่โตเกียว “หรือไม่ก็บนหอคอยโตเกียว เพราะหอไอเฟลได้ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังลมเมื่อปีที่แล้วในช่วงการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ COP21”

 

ข้อมูลและภาพจาก  cnn, gizmodo

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *