ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยซินซินแนติ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตรวจสอบวิเคราะห์ตะกอนจากอ่างเก็บน้ำในเมืองโบราณแห่งนี้ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศกัวเตมาลา และพบหลักฐานของสารปนเปื้อนที่เป็นพิษซึ่งทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำไม่สามารถใช้ดื่มได้
ผลจากการศึกษาของทีมวิจัยพบว่าเกิดความแห้งแล้งครั้งใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ 9 และความแห้งแล้งครั้งใหญ่นั้นได้ทำให้อ่างเก็บน้ำใหญ่ใกล้เมืองถูกตัดขาดออกจากแม่น้ำและทะเลสาบ น้ำที่มีสารปนเปื้อนถูกกักเก็บไว้โดยไม่มีการถ่ายเทออกไปจนถึงจุดที่มีสารพิษเข้มข้นถึงขั้นไม่สามารถใช้ดื่มได้ และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ชาวมายันจำต้องละทิ้งเมือง Tikal
ทีมวิจัยเก็บตัวอย่างตะกอนที่อ่างเก็บน้ำภายในเมืองรวม 10 แห่งและนำไปวิเคราะห์ DNA ที่ตรวจพบในชั้นดิน พวกเขาพบว่าตะกอนจากอ่างเก็บน้ำที่อยู่ใกล้กับวิหาร Tikal Temple I ที่สุดมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินหรือไซยาโนแบคทีเรีย (Cyanobacteria) ซึ่งสามารถผลิตสารมีพิษอันส่งผลให้ไม่สามารถดื่มน้ำในอ่างเก็บน้ำได้แม้กระทั่งนำไปต้มก่อนก็ตาม
“เราพบสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน 2 ชนิดที่สามารถผลิตสารพิษ สิ่งที่แย่มากคือพวกมันสามารถทนต่อการต้มเดือดได้ มันจึงทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำไม่เหมาะต่อการดื่ม” David Lentz นักชีววิทยาหัวหน้าทีมวิจัยกล่าว
“น้ำจะดูสกปรก รสชาติก็น่ารังเกียจ” Kenneth Tankersley นักมานุษยวิทยาหนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “มันจะต้องมีการรวมตัวของสาหร่ายเหล่านี้ขนาดใหญ่ ไม่มีใครอยากดื่มน้ำนั่น”
แต่สาหร่ายไม่ได้เป็นที่มาของพิษในน้ำเพียงอย่างเดียว จากการตรวจวิเคราะห์พวกเขายังพบว่าในตะกอนยังมีปรอทปนเปื้อนในระดับสูงด้วย ทีมวิจัยได้ตรวจหาแหล่งที่มาของปรอทที่พบในตะกอนโดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า Energy-dispersive X-ray spectroscopy พบว่าปรอทไม่ได้ถูกชะล้างจากชั้นหินลงไปในน้ำ อีกแหล่งหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือจากเถ้าภูเขาไฟซึ่งมีอยู่ทั่วทวีปอเมริกากลางในช่วงที่มีการปะทุบ่อยครั้งซึ่งก็พบว่าไม่ใช่เช่นกัน อีกทั้งที่อ่างเก็บน้ำในบริเวณใกล้เคียงอื่นๆกลับไม่พบสารปรอทปนเปื้อนแต่อย่างใด ทีมวิจัยจึงเชื่อว่าสารปรอทมาจากฝีมือของชาวมายันเอง
“สีมีความสำคัญอย่างสูงสำหรับชาวมายันโบราณ พวกเขาใช้มันในภาพจิตรกรรมฝาผนัง พวกเขาทาสีปูนฉาบเป็นสีแดง พวกเขาใช้มันในการฝังศพและยังใช้มันไปรวมกับเหล็กออกไซด์เพื่อให้ได้เฉดสีต่าง” Tankersley กล่าว “เราสามารถเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าสารปรอทในน้ำมาจากชาดหรือตะกั่วแดง”
ชาวมายันนิยมใช้ชาด (cinnabar) ซึ่งเป็นรูปหนึ่งของปรอทซัลไฟด์ซึ่งมีพิษต่อมนุษย์ที่สัมผัสกับมัน ความเป็นพิษนี้อาจเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชนเผ่ามายาแต่พวกเขาอาจไม่เคยรู้เลยว่าเมื่อเวลาผ่านไปฝนจะชะล้างเม็ดสีที่มีพิษเหล่านี้ลงไปสะสมอยู่ในอ่างเก็บน้ำจนในที่สุดก็ย้อนกลับมาทำร้ายพวกเขาจนถึงขั้นต้องทิ้งบ้านทิ้งเมือง
ในช่วงเวลาดังกล่าวสภาพอากาศที่แปรปรวนและสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายก็อาจเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชาวมายัน แต่การขาดน้ำดื่มอาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้พวกเขาต้องตัดสินใจละทิ้งเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ของพวกเขาไป เพราะขืนดื้อด้านอยู่ต่อไปก็อาจต้องตายกันหมด
ข้อมูลและภาพจาก heritagedaily, sciencealert