ดูกันชัดๆในวิดีโอว่าดาวเคราะห์ไม่ได้โคจรรอบจุดศูนย์กลางของดวงอาทิตย์

เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ ดาวเคราะห์และดาวเคราะห์น้อยทั้งหลายต่างก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ เพียงแต่ว่าจริงๆแล้วพวกมันไม่ได้โคจรรอบจุดศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ ทั้งหมดโคจรรอบจุดศูนย์กลางมวลของระบบสุริยะ แม้แต่ดวงอาทิตย์เองก็โคจรรอบจุดนี้ด้วย

จุดศูนย์กลางมวลของระบบที่เราเรียกว่าจุดแบรีเซนเตอร์ (barycenter) เป็นจุดสมดุลที่มวลของทั้งระบบกระจายอย่างเท่าเทียมกันทุกด้าน สำหรับระบบสุริยะจุดนี้ไม่ได้เป็นจุดเดียวกับจุดศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ อาจจะมีบางจังหวะที่จุดศูนย์กลางของดวงอาทิตย์เคลื่อนที่มาซ้อนทับกับจุดแบรีเซนเตอร์แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นไม่มาก

มวลของดาวเคราะห์ทั้งหลายที่โคจรอยู่รอบๆดวงอาทิตย์นี่เองที่ทำให้จุดศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ต้องขยับออกห่างจากจุดศูนย์กลางมวลของระบบหรือจุดแบรีเซนเตอร์ โดยเฉพาะมวลของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่มีมวลมากเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ถึงแม้ว่าดวงอาทิตย์มีมวลมากถึง 99.8% ของมวลทั้งระบบสุริยะ แต่ดาวพฤหัสบดีซึ่งมีมวลน้อยกว่าดวงอาทิตย์ราว 1,000 เท่า (แต่มากกว่าโลก 318 เท่า) ก็ยังส่งผลให้จุดแบรีเซนเตอร์อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของดวงอาทิตย์กว่าครึ่งล้านกิโลเมตร

James O’Donoghue นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ที่องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ได้ทำภาพเคลื่อนไหวแสดงให้เห็นชัดๆว่าดวงอาทิตย์, ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์เคลื่อนที่ชักกะเย่อไปรอบๆจุดแบรีเซนเตอร์กันอย่างไรแล้วดึงเอาดวงอาทิตย์โคจรรอบจุดแบรีเซนเตอร์ไปด้วย ดังในวิดีโอข้างล่าง


 
ดาวเคราะห์และดวงจันทร์บริวารต่างก็มีจุดแบรีเซนเตอร์ของตัวเอง อย่างเช่นโลกและดวงจันทร์ของเรามีจุดแบรีเซนเตอร์ที่อยู่ภายในรัศมีของโลกตลอดเวลา O’Donoghue ได้ทำภาพเคลื่อนไหวให้ดูด้วย ดังในวิดีโอข้างล่าง


 
ขณะที่ดาวพลูโตและบริวารของมันคือแครอนก็มีการโคจรในลักษณะเดียวกันเพียงแต่จุดแบรีเซนเตอร์ของพวกมันกลับอยู่นอกรัศมีของดาวพลูโตตลอดเวลา ดังในวิดีโอข้างล่าง


 
ดังนั้นระบบดาวฤกษ์และระบบดาวเคราะห์ทุกระบบจะมีการโคจรรอบจุดแบรีเซนเตอร์ซึ่งมองไม่เห็นนี้เสมอ บางครั้งจุดแบรีเซนเตอร์ยังช่วยนักดาราศาสตร์ค้นหาดาวเคราะห์ที่ซ่อนอยู่ในวงโคจรรอบดาวฤกษ์อื่นได้ เพราะจากจุดแบรีเซนเตอร์และการคำนวณจะสามารถทำให้รู้ว่าระบบนั้นยังมีมวลอื่นที่มองไม่เห็นอยู่อีกด้วย

 

ข้อมูลและภาพจาก  businessinsider, nasa

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *