ในปีค.ศ. 79 ภูเขาไฟวิสุเวียสที่หลับใหลมานานกว่าพันปีก็ได้เกิดปะทุขึ้น แรงระเบิดทำให้ลาวากว่า 1.5 ล้านตันทะลักออกมาจากปากปล่อง กระแสลมพัดพาเอาเถ้าถ่าน ฝุ่นควันและก๊าซพิษจำนวนมากมายังเมืองปอมเปอีที่ห่างจากภูเขาไฟเพียง 5 กิโลเมตร ชาวปอมเปอีเสียชีวิตกว่า 1 พันคน ตัวเมืองถูกทำลายและถูกฝังใต้เถ้าและหินภูเขาไฟหนา 4 ถึง 6 เมตร
เป็นเวลานับพันปีที่ปอมเปอีหลับใหลอยู่ใต้ลาวาที่แข็งตัวโดยชาวโลกไม่เคยรับรู้การมีอยู่ของเมืองนี้ จนกระทั่งปี 1534 จึงมีการขุดค้นพบซากเมืองปอมเปอี และมีการค้นพบซากเมืองเพิ่มเติมเรื่อยมาจนกระทั่งในปี 1784 จึงมีการเริ่มต้นขุดค้นหาซากเมืองอย่างจริงจัง เมื่อลอกดินที่พอกอยู่ออกไป คณะสำรวจจึงพบกับซากเมืองที่อยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ เมืองปอมเปอีได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก ในปี 1997
ตั้งแต่ปี 2011-2012 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลุนด์ ประเทศสวีเดน ได้ทำการสแกนสภาพเมืองปอมเปอีที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีภายหลังมหาภัยพิบัติ แล้วนำไปทำแบบจำลองด้วยเทคโนโลยีสามมิติเพื่อแสดงลักษณะบ้านเรือนชาวปอมเปอีก่อนภูเขาไฟระเบิด
นักวิจัยได้ทำการศึกษารายละเอียดและพัฒนาการของสิ่งก่อสร้างในสมัยนั้น เช่น การตกแต่งผิวพื้นและผนังที่สวยงาม และตรวจสอบลักษณะของโรงแรม ห้องซักรีด และร้านขนมปังที่ยังมีหลงเหลืออยู่ ได้ค้นพบงานสถาปัตยกรรมต่างๆ มีทั้งสะพานส่งน้ำ สระน้ำ รูปปั้น ช่องแสงหลังคา รวมทั้งสีสันต่างๆแบบดั้งเดิมได้ถูกนำมารวมไว้ในแบบจำลอง
นักวิจัยได้ค้นพบหลักฐานว่ามีน้ำพุที่หรูหราฟุ่มเฟือยใช้งานอยู่ในขณะที่เกิดภูเขาไฟระเบิด มันยังพ่นน้ำพรั่งพรูออกมาขณะที่เถ้าถ่านและหินลาวากำลังถล่มลงมาที่เมือง
นอกจากนี้แบบจำลองยังได้แสดงพืชและต้นไม้ของชาวโรมันที่ปลูกไว้ในบ้านอีกด้วย อย่างไรก็ตามในแบบจำลองนี้เป็นบ้านของชาวปอมเปอีผู้ร่ำรวยมั่งคั่ง ไม่ใช่ชาวเมืองส่วนใหญ่
ข้อมูลและภาพจาก lunduniversity, 3tags