นักศึกษาสร้างเครื่องจดจำวัตถุที่จะรู้ทันทีว่าเป็นอะไรเพียงแค่ได้สัมผัสเท่านั้น

Soli ที่เปิดตัวในงาน Google I/O 2015 เป็นเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อจับความเคลื่อนไหวของมือและนิ้วของคน แต่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ ประเทศสกอตแลนด์ ได้ค้นพบความสามารถอื่นของ Soli และนำไปพัฒนาต่อเป็นเครื่องจดจำวัตถุ

Soli ประกอบด้วยชิปประมวลผลขนาด 8 x 10 มม. ที่พัฒนาขึ้นโดย Google ใช้ร่วมกับเรดาร์แบบเดียวกับที่สนามบินใช้ติดตามเครื่องบินขึ้นลง สัญญาณคลื่นวิทยุที่สะท้อนจากมือมายังชิปสามารถใช้แปลความหมายได้แม้จะเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยก็ตาม

radarcat-2

แต่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ได้ค้นพบว่าวัตถุแต่ละอย่างจะสะท้อนสัญญาณเฉพาะตัวแตกต่างกันไป พวกเขาใช้พัฒนาซอฟแวร์การจดจำ ทำการสอนให้คอมพิวเตอร์รู้จัก แยกแยะประเภทวัสดุและวัตถุ จนทำให้มันสามารถรู้ได้ทันทีว่ามันสัมผัสกับอะไร

โครงการของพวกเขาเรียกว่า RadarCat ความสามารถของ RadarCat ไม่มีข้อจำกัดว่าทำจากวัสดุอะไร จะเป็นเหล็ก พลาสติก ไม้ หรือผลไม้ก็ได้ มันสามารถระบุวัตถุต่างได้ถูกต้องอย่างเหลือเชื่อ บอกได้แม้กระทั่งว่าเป็นแก้วเปล่าหรือแก้วมีน้ำ แน่นอนว่าถ้าเป็นวัตถุชนิดใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อนมันย่อมไม่รู้จัก แต่คุณสามารถสอนมันแล้วมันก็จะรู้จักสิ่งของต่างๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

RadarCat สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้หลายรูปแบบ เช่น ใช้คัดแยกขยะรีไซเคิล หรือใช้ช่วยคนตาบอดแยกแยะวัตถุต่างๆ เป็นต้น ลองนึกภาพดูถ้าหากในอนาคตหุ่นยนต์ได้รวมความสามารถของ RadarCat เข้าไปด้วยมันจะเก่งขึ้นอีกขนาดไหน


 
เทคโนโลยี RadarCat จะมีการแสดงสาธิตที่งานประชุม 2016 ACM Symposium on User Interface Software and Technology ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงโตเกียวระหว่างวันที่ 16 – 19 ตุลาคมนี้

 

ข้อมูลและภาพจาก st-andrews, gizmod

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *