ลูกช่างทองที่มีอนาคตไกลกว่าพ่อ
อัลเบร็ชท์ ดือเรอร์ เป็นชาวเยอรมัน เกิดเมื่อปี 1471 พ่อเป็นช่างทองมีชื่อที่อพยพจากฮังการีมาตั้งรกรากที่เมืองนูเรมเบิร์ก (Nuremberg) และแต่งงานกับสาวเมืองนี้ ดือเรอร์เรียนพื้นฐานวิชาช่างทองและการวาดภาพจากพ่อผู้หวังให้ลูกชายสืบสานงานช่างทองต่อจากเขา แต่ดือเรอร์มีพรสวรรค์ด้านการวาดภาพและมีฝีมือที่ยอดเยี่ยมเกินวัยเห็นได้จากผลงานการวาดภาพเหมือนตัวเองอันน่าทึ่งด้วยเทคนิค Silverpoint เมื่อปี 1484 ขณะมีอายุเพียง 13 ปี ดังนั้นในปี 1486 เขาจึงไปลูกศิษย์ของ Michael Wolgemut ศิลปินใหญ่แห่งเมืองนูเรมเบิร์กผู้มากฝีมือทั้งด้านการเขียนภาพ การแกะสลักไม้ และการทำภาพพิมพ์ หลังเสร็จสิ้นการเรียนและฝึกฝีมือกับอาจารย์ในปี 1890 ก็ถึงเวลาที่ศิลปินหนุ่มจะได้เดินทางไปเรียนรู้ทักษะจากศิลปินในพื้นที่อื่นๆตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวเยอรมันยุคนั้น
ดือเรอร์ใช้เวลาราว 4 ปีเดินทางไปหาประสบการณ์ตามหัวเมืองใหญ่หลายแห่งแถบยุโรปเหนือทั้งในเยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ บางครั้งก็ลงมาถึงสวิสเซอร์แลนด์ ระหว่างทางเขาก็ฝึกฝีมือสร้างผลงานไปด้วย จนถึงปี 1494 ดือเรอร์ได้หยุดการท่องยุโรปกลับมาที่บ้านเกิดตามความประสงค์ของพ่อเพื่อแต่งงานกับ Agnes Frey ลูกสาวของช่างทองเหลืองคนสำคัญในเมืองที่มีพันธะหมั้นหมายกันไว้ แต่ดือเรอร์ยังมีเป้าหมายสำคัญที่จะไปเยือนดินแดนศูนย์กลางของศิลปะโลก ดังนั้นไม่กี่เดือนหลังการแต่งงานเขาจึงเดินทางไปยังอิตาลี ที่นั่นเขาได้เรียนรู้ซึมซับศิลปะสไตล์เวนิสและฟลอเรนซ์มากมายซึ่งมีอิทธิพลต่อผลงานของเขาไม่น้อยในเวลาต่อมา หลังเสร็จสิ้นการเยือนอิตาลีดือเรอร์กลับมาอยู่ที่เมืองนูเรมเบิร์กเปิดสตูดิโอของตัวเองเริ่มต้นเป็นศิลปินมืออาชีพในปี 1495 ด้วยวัย 24 ปีสร้างผลงานภาพเขียนและภาพพิมพ์ชั้นยอดจนมีชื่อเสียงเลื่องลือ
ภาพเขียนสีน้ำที่สวยงามเหลือเชื่อ
ดือเรอร์มีพรสวรรค์และความสามารถเป็นเลิศทางด้านการเขียนภาพไม่ว่าจะเป็นภาพสเก็ตช์ ภาพสีน้ำ หรือภาพสีน้ำมัน เขาใช้สีน้ำเขีียนภาพที่พบเห็นในธรรมชาติเช่นภาพสัตว์ ภาพพืชและไม้ดอก รวมถึงภาพทิวทัศน์ได้ความสวยงามอย่างเหลือเชื่อ ภาพของสัตว์ที่ดือเรอร์เขียนด้วยสีน้ำนั้นมีรายละเอียดที่ทำให้ดูเหมือนมีชีวิตจริงชนิดแทบไม่เชื่อว่าเขียนด้วยสีน้ำ โดยเฉพาะผลงานชิ้นเอกชื่อ Young Hare ในปี 1502 ซึ่งเป็นภาพกระต่ายที่มีรูปร่าง ดวงตา เส้นขนเหมือนจริงมากเห็นครั้งแรกนึกว่าเป็นภาพถ่าย ภาพของสัตว์อื่นอย่างเช่นภาพ Wing of a European Roller และ Stag Beetle ก็สวยงามเหมือนจริงมาก
ภาพพืชและไม้ดอกที่เขียนด้วยสีน้ำของดือเรอร์ก็มีความสวยงามสะดุดตาเช่นกัน ภาพ Great Piece of Turf ที่เป็นภาพกลุ่มพืชป่าหลายชนิดถือเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของเขาด้านภาพธรรมชาติคู่กับภาพ Young Hare นอกจากนี้ยังมีภาพ Aquilegia และ The Tuft of Grass (Minor) ที่สวยไม่ด้อยกว่ากัน ส่วนภาพทิวทัศน์นั้นดือเรอร์ได้เขียนด้วยสีน้ำในระหว่างการท่องเที่ยวยุโรปไว้หลายภาพ ที่น่าสนใจได้แก่ภาพ The Wire-drawing Mill และ The Trefilería on Peignitz เป็นต้น ผลงานภาพเขียนสีน้ำทำให้ดือเรอร์ถูกจดจำในฐานะหนึ่งในศิลปินชาวยุโรปที่เขียนภาพทิวทัศน์เป็นคนแรกๆ
สุดยอดฝีมือเขียนภาพเหมือนตัวเอง
ปี 1493 ช่วงที่เขาอยู่ที่เมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศสดือเรอร์ได้สร้างผลงานชิ้นเอกชิ้นแรกเป็นภาพเหมือนตัวเองเขียนด้วยสีน้ำมันชื่อ Portrait of the Artist Holding a Thistle ซึ่งถือกันว่าเป็นหนึ่งในภาพเหมือนตัวเองภาพแรกที่เขียนโดยศิลปินทางยุโรปเหนือ ปี 1498 ขณะมีอายุ 26 ปีดือเรอร์เขียนภาพเหมือนตัวเองอีกครั้งคราวนี้เขาแต่งกายสง่างามในเสื้อผ้าหรูหราฟุ่มเฟือยแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของแฟชั่นอิตาลีที่เขาเพิ่งไปเยือนมาเมื่อสามปีก่อน ภาพนี้ไม่เพียงแสดงถึงเทคนิคการเขียนภาพของเขาที่ได้พัฒนาก้าวหน้าเข้าขั้นยอดฝีมือ แต่ยังแสดงถึงฐานะทางสังคมที่ได้ยกระดับขึ้นตามชื่อเสียงที่เพิ่มพูน
ถัดมาอีกสองปีดือเรอร์ได้เขียนภาพเหมือนตัวเองภาพที่สามซึ่งเป็นการเขียนภาพเหมือนตัวเองภาพสุดท้าย เขาเขียนภาพนี้ในปี 1500 ไม่นานก่อนถึงวันเกิดอายุครบ 29 ปี นักประวัติศาสตร์ศิลปะถือว่าภาพนี้เป็นภาพเหมือนตัวเองของเขาที่มีความโดดเด่นและซับซ้อนมากที่สุด ภาพนี้นอกจากจะมีความงดงามสมบูรณ์แบบอย่างน่าทึ่งแล้วดือเรอร์ยังซ่อนความหมายเชิงสัญลักษณ์ไว้อีกหลายอย่าง เขาเขียนภาพตัวเองให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับภาพของพระคริสต์ในยุคก่อนๆด้วยการใช้โทนสีเข้ม มีความสมมาตร ลักษณะเผชิญหน้ากับผู้ชมโดยตรง และยกมือขึ้นที่กลางอกราวกับเป็นการอวยพร รวมทั้งคำจารึกในพื้นดำที่เสมือนลอยอยู่ในอวกาศ ตลอดจนตัวเลข 1500 ที่ถูกวางเหนือลายเซ็นของศิลปินที่เป็นตัวอักษรย่อ A.D. อันอาจหมายถึงปีคริสต์ศักราชอีกนัยหนึ่งได้เช่นกัน
ภาพเหมือนตัวเองสามภาพนี้ถือเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมและเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นสร้างชื่อเสียงให้กับดือเรอร์อย่างมาก แต่นอกจากภาพเหมือนตัวเองแล้วดือเรอร์ยังเขียนภาพเหมือนบุคคลอื่นอีกจำนวนมาก เขาเขียนภาพเหมือนของพ่อและแม่ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมตั้งแต่ยังไม่เป็นมืออาชีพ พอเปิดสตูดิโอของตัวเองเขาก็เขียนภาพเหมือนให้บุคคลต่างๆมากมาย รวมทั้งจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมัน Maximilian I ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของเขานานหลายปี ผลงานภาพเหมือนบุคคลที่โดดเด่นของเขาได้แก่ภาพ Portrait of Oswolt Krel, Portrait of a Venetian Woman และ Portrait of Hieronymus Holzschuher เป็นต้น
เขย่าคริสตศิลป์ด้วยปากกาด้ามเดีียว
ในยุคของดือเรอร์ภาพเขียนส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาและตำนาน ภาพเขียนในแนวนี้มีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างมากที่อิตาลีเพราะที่นั่นมีศิลปินชั้นยอดมากมายอย่างเช่น Leonardo da Vinci, Raphael, Giovanni Bellini ดือเรอร์ได้รับอิทธิพลไม่น้อยจากศิลปินคนดังของอิตาลีตั้งแต่ตอนที่เขาไปเยือนอิตาลีโดยเฉพาะจาก Giovanni Bellini ที่เขายกย่องชื่นชมมากเป็นพิเศษ ผลงานชิ้นเอกในแนวนี้ภาพแรกเกิดขึ้นในปี 1504 คือภาพ Adoration of the Magi ภาพนี้ได้ผสมผสานสไตล์ของทางยุโรปเหนือกับสไตล์ของอิตาลีเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ปี 1505 ดือเรอร์ไปเยือนอิตาลีอีกเป็นคำรบสอง คราวนี้เขาอยู่นานกว่าสองปีพร้อมกับสร้างผลงานภาพเขียนชั้นยอดอีกหลายชิ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพ Feast of the Rosary ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพเขียนที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่ศิลปินชาวเยอรมันเคยสร้างมา
ปี 1508 ดือเรอร์ได้รับงานชิ้นใหญ่เป็นภาพประดับแท่นบูชาที่ชื่อ Heller Altarpiece เขาสเก็ตช์ภาพองค์ประกอบย่อยที่จะใช้เขียนในภาพจริงราวสิบกว่าภาพ หนึ่งในนั้นเป็นภาพมือของอัครสาวกที่กำลังสวดมนต์ เขาใช้เพียงปากกาด้ามเดียวและหมึกเขียนลงบนกระดาษสีฟ้า แต่ด้วยพรสวรรค์และฝีมือที่เลอเลิศภาพสเก็ตช์นี้กลับกลายเป็นภาพที่มีความงดงามน่าประทับใจอย่างยิ่งและกลายเป็นหนึ่งในภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา ในยุคปัจจุบันภาพ Praying Hands ได้กลายเป็นสัญลักษณ์สากลของความเคารพนับถือและเป็นหนึ่งในภาพที่ทำซ้ำมากที่สุด ภาพเขียนในแนวศาสนาอันยอดเยี่ยมของดือเรอร์ยังมีอีกมากอย่างเช่นภาพ Adoration of the Trinity, Christ among the Doctors และ Lamentation of Christ เป็นต้น
ปรมาจารย์ภาพพิมพ์แห่งยุโรปเหนือ
ดือเรอร์เริ่มสร้างชื่อด้วยผลงานการทำภาพพิมพ์ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นศิลปินอาชีพ เขาใช้ทั้งเทคนิคการแกะพิมพ์ไม้ (Woodcut) และการแกะพิมพ์โลหะ (Engraving) ภาพพิมพ์ของเขาส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา สำหรับงาน Woodcut เขานิยมทำเป็นภาพชุดแต่ละชุดประกอบด้วยภาพประมาณ 10 – 30 ภาพ ภาพพิมพ์ชุดหนึ่งใช้เวลาทำหลายปีกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ ภาพชุดเหล่านี้ได้แก่ Apocalypse (15 ภาพ), The Large Passion (12 ภาพ), Life of the Virgin (19 ภาพ), Small Passion (36 ภาพ) ส่วนภาพพิมพ์เดี่ยวก็มีไม่น้อยเหมือนกันที่โดดเด่นได้แก่ภาพ The Rhinoceros และ Saint Jerome in His Cell เป็นต้น นอกจากนี้ดือเรอร์ยังทำภาพพิมพ์ชิ้นใหญ่ที่สุดให้กับจักรพรรดิ Maximilian I ชื่อภาพ The Triumphal Arch ซึ่งต้องใช้บล็อกไม้ย่อยถึง 195 อันพิมพ์ลงบนกระดาษแผ่นใหญ่ 36 แผ่นแล้วนำมาต่อกัน
สำหรับงาน Engraving ส่วนใหญ่ดือเรอร์ทำเป็นภาพเดี่ยว การแกะพิมพ์โลหะเป็นงานที่ยากมากแม้แต่เขาเองซึ่งฝึกฝนมาตั้งแต่เด็กพอมาทำงานจริงยังต้องฝึกฝนเพิ่มเติมและพัฒนาเทคนิคอยู่อีกหลายปีกว่าจะได้ผลงานที่เขาพอใจ ภาพพิมพ์ของดือเรอร์จึงมีความสวยงามโดดเด่นกว่าศิลปินอื่น ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาอย่างมากได้แก่ภาพ Knight, Death and the Devil, St. Jerome in His Study, Melencolia I และ Adam and Eve เป็นต้น นอกจากนี้เขายังสร้างภาพพิมพ์ด้วยเทคนิคใหม่อื่นๆอันได้แก่ Etching และ Drypoint อีกด้วย ดือเรอร์ถือเป็นปรมาจารย์งานภาพพิมพ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ผลงานของเขาทำให้ศิลปะการทำภาพพิมพ์ของยุโรปเหนือโดดเด่นเหนือกว่าพื้นที่อื่นทั้งหมด
ฝีมือเก่งฉกาจทั้งศาสตร์และศิลป์
ดือเรอร์มิได้มีฝีมือเก่งฉกาจเฉพาะด้านการสร้างงานศิลปะเท่านั้นแต่เขายังเป็นนักคณิตศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญถึงขั้นเขียนตำราคณิตศาสตร์ได้ ตำราของเขาชื่อ Four Books on Measurement เป็นหนังสือเรขาคณิต 4 เล่มเขียนเกี่ยวกับทฤษฎีและการสร้างรูปทรงหลายเหลี่ยมทั้งแบบสองมิติและสามมิติ หนังสือชุดนี้ถือเป็นตำราคณิตศาสตร์สำหรับผู้ใหญ่เล่มแรกในเยอรมัน นอกจากนี้เขายังเขียนหนังสือเกี่ยวกับสัดส่วนร่างกายของมนุษย์ในชื่อ Four Books on Human Proportion เป็นหนังสือ 4 เล่มเช่นกันเขียนอธิบายแจกแจงสัดส่วนอวัยวะของร่างกายเทียบกับส่วนสูงของผู้ชายและผู้หญิงหลายประเภท รวมทั้งได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการสร้างป้อมปราการอีกเล่มหนึ่งด้วย
ดือเรอร์ได้นำความอัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์ของเขาไปใส่ไว้ในผลงานศิลปะของเขาด้วย ในภาพพิมพ์ Melencolia I ดือเรอร์ได้เขียนจัตุรัสกล (magic square) ที่เขาคิดขึ้นเองเป็นองค์ประกอบหนึ่งในภาพ จัตุรัสกลของเขาเป็นตารางขนาด 4×4 แต่ละช่องบรรจุตัวเลข 1 ถึง 16 ความพิสดารไม่ได้มีเพีียงแค่ผลรวมของตัวเลขในแนวนอน แนวตั้ง และแนวทแยงทุกแนวมีค่าเท่ากับ 34 แบบจัตุรัสกลทั่วไปเท่านั้น แต่ผลรวมของตัวเลขในจัตุรัสเล็ก 2×2 ที่มุมทั้งสี่รวมทั้งจัตุรัสเล็กตรงกลางก็มีค่าเท่ากับ 34 ไม่เพียงเท่านี้ตัวเลขที่มุมทั้งสี่ก็รวมกันเป็น 34 ตัวเลขคู่กลางแถวนอกตรงข้ามกันก็รวมได้ 34 ด้วย (3+2+15+14, 5+9+8+12) แม้กระทั่งตัวเลขที่อยู่ติดกับมุมตรงข้ามกันก็ให้ผลแบบเดียวกัน (5+3+14+12, 2+8+9+15) นอกจากนี้ตัวเลขคู่กลางแถวล่างสุด 15 14 ยังเป็นปีที่ดือเรอร์สร้างผลงานชิ้นนี้อีกด้วย จัตุรัสกลของดือเรอร์ได้รับการยอมรับว่ามีความพิสดารน่าพิศวงมากที่สุดเท่าที่เคยมีคนคิดขึ้นมา
ผลงานยอดเยี่ยมทุกแนวทุกสาขา
ดือเรอร์เป็นศิลปินที่มีผลงานยอดเยี่ยมในหลายสาขาทั้งด้านภาพเขียนสีน้ำ ภาพเขียนสีน้ำมัน และภาพพิมพ์ ภาพสัตว์และไม้ดอกของเขาสวยงามอย่างน่าทึ่ง ภาพเหมือนบุคคลโดยเฉพาะภาพเหมือนตัวเองงดงามโดดเด่นมาก ภาพเขียนแนวศาสนาก็สวยงามยิ่งใหญ่ไม่แพ้ศิลปินชาวอิตาลี ส่วนภาพพิมพ์นั้นถือว่ายอดเยี่ยมโดดเด่นเหนือกว่าใคร และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของผลงานศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุโรปเหนือผู้นี้
Watercolor Paintings
Portrait and Self-Portrait Paintings
Religious and Mythological Paintings
Woodcuts and Engravings
อัลเบร็ชท์ ดือเรอร์ เสียชีวิตที่เมืองนูเรมเบิร์กในปี 1528 ขณะมีอายุ 56 ปี เขาเป็นศิลปินชั้นนำในยุคเรอเนสซองส์ ผลงานของเขามีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาและยกระดับงานศิลปะของเยอรมันและยุโรปเหนือขึ้นมาทัดเทียมกับทางยุโรปใต้ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่อิตาลี อีกทั้งเขายังเป็นนักวิชาการผู้เขียนตำราหลายด้านรวมทั้งวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นความสามารถพิเศษที่หาได้ยากยิ่งสำหรับศิลปิน ดือเรอร์ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในศิลปินแห่งยุคเรอเนสซองซ์คนสำคัญที่สุดในทวีปยุโรปเหนือ
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, britannica, albrecht-durer.org