พลังงานความร้อนใต้พิภพเป็นพลังงานตามธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้ผลิตไฟฟฟ้าได้ แหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพจะมีอยู่ในเขตที่เปลือกโลกมีการเคลื่อนที่ เขตที่ภูเขาไฟยังคุกรุ่นอยู่ และบริเวณที่มีชั้นของเปลือกโลกบาง ได้แก่ ประเทศที่อยู่ด้านตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศต่างๆบริเวณเทือกเขาหิมาลัย ประเทศกรีซ ประเทศอิตาลี และประเทศไอซ์แลนด์ เป็นต้น
สำหรับโครงการขุดเจาะเพื่อนำพลังงานความร้อนใต้พิภพมาใช้ประโยชน์ของประเทศไอซ์แลนด์ที่เรียกว่า Iceland Deep Drilling Project (IDDP) คาดหวังว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถสร้างหลุมที่ร้อนที่สุดในโลกที่มีอุณหภูมิ 400 – 1000 องศาเซลเซียส
“เคยมีคนขุดเจาะเข้าไปในหินแข็งที่ระดับความลึกขนาดนี้ แต่ไม่เคยมีมาก่อนที่จะได้ลงลึกไปถึงหินเหลวแบบนี้” Albert Albertsson ผู้ช่วยผู้อำนวยการของบริษัท HS Orka ที่มีส่วนร่วมอยู่ในโครงการนี้ กล่าว เขาบอกว่าทีมงานอาจได้เจอกับน้ำพุร้อนใต้น้ำที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุ เช่น ทอง เงิน และลิเธียม
ที่ความลึกระดับนั้นจะมีแรงดันที่สูงมาก มากกว่า 200 เท่าของบรรยากาศ นักวิจัยที่อยู่เบื้องหลังโครงการคาดว่าน้ำจะอยู่ในรูปแบบของ “ไอน้ำยิ่งยวด” ซึ่งไม่เป็นทั้งของเหลวหรือก๊าซ และมีพลังงานความร้อนมากมหาศาล
หลุมที่เชื่อมต่อกับไอน้ำดังกล่าวได้สำเร็จจะมีกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 50 เมกะวัตต์ ขณะที่พลังงานความร้อนใต้พิภพทั่วไปจะผลิตได้ที่ 5 เมกะวัตต์ ซึ่งนั่นหมายถึงสามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับครัวเรือนได้ถึง 50,000 หลังแทนที่จะเป็น 5,000 หลังจากเพียงหลุมเดียว
นี่เป็นหลุมเจาะหลุมที่สองของ IDDP ครั้งแรกหลุมเจาะอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของไอซ์แลนด์เจาะลึกราว 2 กม. เมื่อปี 2009
ประเทศไอซ์แลนด์ได้เลิกใช้พลังงานฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดแล้ว ใช้เพียงพลังงานน้ำกับพลังงานความร้อนใต้พิภพเท่านั้น
ข้อมูลและภาพจาก newscientist, dailymail