เป็นศิลปินอาชีพตั้งแต่อายุไม่ถึงยี่สิบปี
แอนโทนี แวน ไดก์ หรือ อันโตน ฟัน ไดก์ (Antoon van Dijck) ในภาษาดัตช์เป็นชาวเฟลมิช เกิดเมื่อปี 1599 ที่เมืองแอนต์เวิร์ปซึ่งในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ปัจจุบันอยู่ในประเทศเบลเยียม แวน ไดก์เกิดในตระกูลพ่อค้าไหมผู้มั่งคั่งแห่งแอนต์เวิร์ป เขาไม่ได้มีพ่อรวยเพียงอย่างเดียวแต่ยังมีพรสวรรค์ด้านศิลปะเป็นเลิศมาตั้งแต่เด็ก ปี 1609 เริ่มเรียนการเขียนภาพกับ Hendrick van Balen จิตรกรฝีมือดีคนหนึ่งในเมืองแอนต์เวิร์ป อายุยังไม่เต็ม 15 ปีก็มีฝีมือเข้าขั้นมืออาชีพแล้วเห็นได้จากภาพเหมือนตัวเองภาพแรกๆที่เขียนในปี 1614 ถัดจากนั้นอีกเพียงปีเดียวเขาก็เปิดสตูดิโอเขียนภาพของตัวเองเป็นจิตรกรอิสระเต็มตัวในวัยแค่ 16 ปีเท่านั้น ด้วยพรสวรรค์อันล้ำเลิศและการเป็นดาวรุ่งวัยรุ่นพุ่งแรงของวงการจึงมีคนตั้งฉายาเขาเป็น “Mozart of painting”
ต่อมาแวน ไดก์ได้พบกับ Peter Paul Rubens จิตรกรเฟลมิชรุ่นพี่ชาวเมืองแอนต์เวิร์ปเหมือนกันที่อยู่ในช่วงกำลังดังสุดขีดได้รับงานสำคัญมากมายและมีสตูดิโอเขียนภาพขนาดใหญ่มาก Rubens ซึ่งชื่นชอบในฝีมือของเด็กหนุ่มได้ชักชวนให้แวน ไดก์มาทำงานเป็นผู้ช่วยของเขา ในขณะที่แวน ไดก์ก็ต้องการศึกษาเรียนรู้จากจิตรกรอันดับหนึ่งแห่งแอนต์เวิร์ปด้วยเช่นกัน เขาจึงเลิกทำสตูดิโอของตัวเองแล้วมาทำงานกับ Rubens และไม่นานเขาก็กลายเป็นลูกศิษย์คนโปรดที่ Rubens ยอมรับในฝีมือมากที่สุด แวน ไดก์เรียนรู้สไตล์และเทคนิคการเขียนภาพจาก Rubens มากมายหลายอย่างซึ่งมีอิทธิพลต่องานของเขาอย่างลึกซึ้ง แวน ไดก์เข้าเป็นสมาชิกในสมาคมศิลปินอาชีพของเมืองแอนต์เวิร์ปในปี 1918 และหลังจากที่ได้สร้างผลงานอันนำมาซึ่งชื่อเสียงและฐานะที่มั่นคงในเมืองบ้านเกิดแล้วจึงถึงเวลาที่เขาจะออกจากร่มเงาของ Rubens และไปหาประสบการณ์ในต่างแดนเพื่อเพิ่มความหลากหลายในชั้นเชิงของการสร้างงานศิลปะให้กับตัวเอง
หาประสบการณ์สร้างผลงานในต่างแดน
ปี 1620 แวน ไดก์เดินทางไปยังกรุงลอนดอนเพื่อทำงานเขียนภาพให้กับกษัตริย์ James I แห่งอังกฤษ เขาเริ่มให้ความสำคัญกับการเขียนภาพบุคคลมากกว่าภาพแนวศาสนาที่เขาทำเป็นหลักเมื่อก่อนหน้านี้ ระหว่างอยู่ที่นี่เขาได้เห็นภาพของ Titian ศิลปินชั้นครูในยุคเรอเนสซองส์ซึ่งมีสไตล์ที่แตกต่างออกไป แวน ไดก์ได้นำเอาสิ่งที่เรียนรู้จาก Rubens มาผสมผสานกับสไตล์ของ Titian พัฒนาให้กลายเป็นสไตล์ของตัวเอง อย่างไรก็ตามแวน ไดก์ไม่ค่อยมีความสุขกับชีวิตการเป็นจิตรกรประจำราชสำนักอังกฤษมากนักดังนั้นในปี 1621 เขาจึงเดินทางไปหาประสบการณ์ต่อที่ประเทศอิตาลีโดยตอนแรกมีกำหนดไปอยู่แค่ 8 เดือนแต่เอาเข้าจริงเขาไปอยู่อิตาลีนานถึง 6 ปี
แวน ไดก์เดินทางไปที่หลายเมืองสำคัญในอิตาลีทั้งกรุงโรม โบโลญญา ฟลอเรนซ์ เวนิส มิลาน และปาแลร์โม แต่ส่วนใหญ่จะปักหลักอยู่ที่เจนัว ที่อิตาลีเขาได้ศึกษาผลงานของศิลปินดังในอดีตจำนวนมากโดยเฉพาะผลงานของ Titian และได้พัฒนารูปแบบภาพบุคคลแบบเต็มตัวที่สง่างามจนกลายเป็นจิตรกรภาพบุคคลที่ประสบความสำเร็จมีผลงานชั้นยอดมากมายอย่างเช่นภาพ Marchesa Elena Grimaldi Cattaneo และ Portrait of a Genoese Noblewoman ส่วนผลงานในแนวศาสนาเขามีผลงานสำคัญเป็นภาพชุดนักบุญอุปถัมภ์ของปาแลร์โมที่เขาเขียนไว้หลายภาพ หนึ่งในนั้นคือภาพ Saint Rosalie Interceding for the Plague-stricken of Palermo ขณะอยู่ในอิตาลีแวน ไดก์ยังทำตัวให้เด่นอย่างกับเป็นขุนนางสำคัญด้วยการใส่เสื้อผ้าหรูหรา สวมหมวกที่มีขนนกและเข็มกลัดทองคำ คาดโซ่ทองไว้ที่หน้าอก และมีคนรับใช้คอยติดตามอยู่ตลอดเวลาซึ่งแตกต่างจากเพื่อนศิลปินที่มาจากทางเหนือของยุโรปคนอื่นๆอย่างมาก
กลับมาสร้างชื่อลือเลื่องที่บ้านเกิดตัวเอง
แวน ไดก์กลับไปอยู่ที่เมืองแอนต์เวิร์ปอีกครั้งในปี 1627 เพื่อจัดการเรื่องปัญหามรดกของครอบครัวให้เรียบร้อย กลับมาอยู่ที่บ้านเกิดคราวนี้เขาได้พัฒนาภาพเขียนบุคคลของเขาให้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะการให้บุคคลในภาพดูดีมีสไตล์และทันสมัย มีผลงานที่โดดเด่นได้แก่ภาพ Portrait of Marie-Louise de Tassis และ Portrait of a Man เป็นต้น ขณะเดียวกันเขายังคงสร้างผลงานในแนวศาสนาอีกเป็นจำนวนมากรวมทั้งภาพประทับแท่นบูชาขนาดใหญ่ด้วย ผลงานเด่นในแนวนี้ได้แก่ภาพ Samson and Delilah และ The Vision of the Blessed Hermann Joseph ปี 1630 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นจิตรกรราชสำนักของ Archduchess Isabella ผู้ปกครองเขตฟลานเดอร์ รวมทั้งได้เริ่มต้นทำภาพพิมพ์ในช่วงเวลานี้ด้วย
แม้ว่าแวน ไดก์ได้ออกจากประเทศอังกฤษมานานนับสิบปีแล้วก็ตามแต่เขายังคงติดต่อกับทางราชสำนักของอังกฤษอยู่เสมอ กษัตริย์ Charles I ที่ขึ้นครองราชย์แทนกษัตริย์ James I นั้นเป็นผู้ที่ชื่นชอบสะสมงานศิลปะเป็นอย่างมาก แวน ไดก์ได้ช่วยจัดหาภาพเขียนให้กับทางราชสำนักของอังกฤษรวมทั้งส่งภาพเขียนของตัวเองทั้งภาพบุคคลและภาพแนวศาสนาไปให้กษัตริย์อังกฤษด้วย จนถึงในปี 1632 แวน ไดก์ได้กลับไปเขียนภาพให้กับราชสำนักอังกฤษอีกครั้ง และการไปทำงานในอังกฤษคราวนี้ได้ทำให้เขาขึ้นถึงจุดสูงสุดของชีวิตการเป็นจิตรกร
จิตรกรราชสำนักยอดฝีมือภาพเขียนบุคคล
กษัตริย์ Charles I มีรูปร่างเตี้ยส่วนสูงน้อยกว่า 150 ซม. ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของจิตรกรอย่างยิ่งในการเขียนภาพเต็มตัวของพระองค์ให้ออกมาดูดี แต่เรื่องนี้กลับไม่เป็นปัญหาสำหรับแวน ไดก์เพราะเขามีเทคนิคเฉพาะตัวในการจัดวางท่าทางและองค์ประกอบในภาพที่ทำให้ภาพของพระองค์ดูงามสง่าสมพระเกียรติซึ่งสร้างความพอใจให้กับกษัตริย์อย่างมากจนแทบจะไม่ให้จิตรกรคนอื่นเขียนภาพของพระองค์อีกเลยนอกจากแวน ไดก์ อีกทั้งผลงานการเขียนภาพราชินีและลูกหลานของพระองค์ก็งดงามอย่างไร้ที่ติ แวน ไดก์จึงประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วได้เป็นจิตรกรเอกของราชสำนักที่ได้รับค่าตอบแทนอย่างงาม เขาเขียนภาพของกษัตริย์ Charles I, ราชินี Henrietta Maria และครอบครัวรวมกันนับร้อยภาพและหลายภาพเป็นผลงานชิ้นเอกที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาอย่างมาก เช่น ภาพ Charles I at the Hunt, Charles I in Three Positions และภาพ Queen Henrietta Maria with Sir Jeffrey Hudson เป็นต้น
ที่อังกฤษแวน ไดก์ได้พัฒนาสไตล์การเขียนภาพบุคคลของเขาให้มีความสมบูรณ์แบบและโดดเด่นไปอีกขั้นหนึ่ง เขาได้ผสมผสานความสง่างามที่ดูผ่อนคลายมีความเป็นธรรมชาติและความเรียบง่ายที่ดูดีผ่านทางท่าทาง เครื่องแต่งกาย รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆในภาพซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบและมีอิทธิพลต่อการเขียนภาพบุคคลของอังกฤษอย่างยาวนานกว่า 150 ปีจนถึงศตวรรษที่ 18 อย่างเช่นในภาพ Lord John Stuart and his Brother, Lord Bernard Stuart และ Portrait of James Stuart, Duke of Lennox and Richmond นอกจากนี้เขายังเขียนภาพเหมือนของผู้หญิงที่งดงามเป็นพิเศษอีกจำนวนมากซึ่งนอกจากภาพของราชินีแล้วยังมีภาพของหญิงสาวชนชั้นสูงรวมถึงภาพของคนรักของเขาเอง เช่น ภาพ Portrait of Henrietta Maria และ Portrait of Margaret Lemon เป็นต้น ระหว่างที่อยู่ในอังกฤษแวน ไดก์ยังได้เขียนภาพเหมือนตัวเองอีกหลายภาพซึ่งล้วนสวยงามและโดดเด่นโดยเฉพาะภาพ Self-portrait with a Sunflower ที่เป็นภาพเหมือนตัวเองของเขาที่มีชื่อเสียงมากที่สุด การมาอยู่ที่อังกฤษของแวน ไดก์มีส่วนทำให้เขากลายเป็นสุดยอดฝีมือการภาพเขียนบุคคลแห่งยุค
ศิลปินสายแฟชั่นผู้เป็นอัศวินแห่งอังกฤษ
แวน ไดก์เป็นลูกเศรษฐีที่มีความสามารถเหนือผู้อื่นตั้งแต่เด็กอีกทั้งยังคลุกคลีอยู่ในแวดวงชนชั้นสูงมาตั้งแต่สมัยเป็นลูกศิษย์ของ Peter Paul Rubens บวกกับเป็นคนขี้โอ่และชอบแต่งตัวเขาจึงทำตัวให้เด่นในสายตาผู้คนอยู่เสมอโดยเฉพาะด้านเครื่องแต่งกาย ตอนอยู่ในอิตาลีเขาก็ได้แสดงออกเรื่องนี้อย่างชัดแจ้ง พอมาอยู่ในกรุงลอนดอนที่ซึ่งเขาประสบความสำเร็จในอาชีพอย่างสูงและมีความใกล้ชิดกับกษัตรย์และบรรดาขุนนางแวน ไดก์ได้กลายเป็นผู้นำแฟชั่นแห่งยุคคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าสไตล์แฟนซี, คอเสื้อกว้างพาดไหล่ขลิบด้วยลูกไม้ รวมไปถึงการแต่งเคราปลายแหลมแบบเคราแพะของเขาล้วนได้รับความนิยมมากจนมีการนำชื่อของเขาไปใช้เรียกสไตล์แฟชั่นเหล่านั้นได้แก่ Van Dyke suit, Van Dyck collar และ Van Dyck beard
ศิลปินดังผู้โดดเด่นอย่างแวน ไดก์ย่อมเป็นที่สนใจของสาวสวยจำนวนมาก เขาจึงมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงมากมายหลายคน ตอนที่เขาออกจากเมืองแอนต์เวิร์ปครั้งแรกว่ากันว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งท้อง แวน ไดก์มีสัมพันธ์กับผู้หญิงหลายคนแต่คนสำคัญที่สุดคือ Margaret Lemon ที่เป็นทั้งนางแบบในภาพเขียนของเขาจำนวนมากและเป็นชู้รักที่คบกันยาวนานนับสิบปีและยังเป็นคนที่แสดงความหึงหวงต่อเขาอย่างรุนแรง แวน ไดก์หยุดความเจ้าชู้ในปี 1638 เมื่อแต่งงานกับ Mary Ruthven ลูกสาวของขุนนางใหญ่ในราชสำนัก แวน ไดก์ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินในปี 1632 และได้รับมอบโซ่ทองพระราชทานจากกษัตริย์ Charles I เพื่อแสดงออกถึงความชื่นชมในฝีมือของเขาอันเป็นการก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิตการเป็นจิตรกรของเขา และแวน ไดก์ก็ได้แสดงความภาคภูมิใจกับสิ่งที่เขาได้รับไว้ในภาพ Self-portrait with a Sunflower แวน ไดก์ป่วยหนักและเสียชีวิตที่กรุงลอนดอนในปี 1641 ด้วยวัยแค่ 42 ปีเท่านั้น
ผลงานโดดเด่นของศิลปินไฮโซผู้โด่งดัง
แวน ไดก์เป็นศิลปินมากพรสวรรค์มีฝีมือยอดเยี่ยมตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นต่อมายังพัฒนาฝีมือและสไตล์จนมีแนวทางของตัวเอง เขาได้สร้างผลงานภาพเขียนชั้นยอดเอาไว้มากมายโดยเฉพาะภาพเขียนบุคคลที่มีความงดงามและโดดเด่นมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพเขียนของบุคคลชั้นสูงทั้งกษัตริย์ ราชินี ขุนนาง รวมถึงผู้คนในแวดวงไฮโซที่เขาคลุกคลีอยู่ด้วย และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของผลงานอันโดดเด่นของศิลปินไฮโซผู้โด่งดังคนนี้
Early Works (1613 – 1621)
Italy Period (1621 – 1627)
Antwerp Period (1627 – 1632)
London Period (1632 – 1641)
แอนโทนี แวน ไดก์เป็นศิลปินชาวเฟลมิชในยุคบาโรกที่มีผลงานยอดเยี่ยมมาก โดยเฉพาะภาพเขียนบุคคลในช่วงที่เขาไปเป็นจิตรกรราชสำนักของอังกฤษถือว่ามีความโดดเด่นมากและมีอิทธิพลต่อการเขียนภาพบุคคลของอังกฤษในเวลาต่อมาอย่างยาวนาน แวน ไดก์ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในสุดยอดฝีมือภาพเขียนบุคคลแห่งยุคบาโรก รวมทั้งเป็นต้นแบบให้กับศิลปินรุ่นหลังในการสร้างสรรค์ศิลปะสมัยใหม่เช่นเดียวกับ Diego Velázquez สุดยอดฝีมือภาพเขียนบุคคลชาวสเปนในยุคเดียวกัน
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, theartstory, anthonyvandyck.org